xs
xsm
sm
md
lg

สภาพัฒน์ชงกราฟผลงาน 6 เดือน คสช.บริหาร ศก.สุดยอด! “หลังจ่ายหนี้ค่าข้าวให้ชาวนา” ทำเชื่อมั่น-กำลังซื้อกระฉูดทันที

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“สภาพัฒน์” ชงกราฟผลงาน 6 เดือน คสช.บริหารงานเศรษฐกิจสุดยอด! เผย 4 เรื่อง จีดีพีเศรษฐกิจ จีดีพีสังคม เขตเศรษฐกิจพิเศษ และทวายโปรเจกต์ ด้านเลขาฯ สศช.เชื่อเศรษฐกิจไทยภายใต้รัฐบาล คสช.ดีขึ้น ฟันธงจีดีพีไตรมาสแรกปีนี้โตร้อยละ 3 มองทั้งปีโตร้อยละ 3.5-4.5 ย้ำต้องบันทึกไว้หลัง คสช.จ่ายหนี้ค่าข้าวให้ชาวนาทำให้เชื่อมั่นและกำลังซื้อกลับมาโดยทันที ระบุรายได้ของคนไทยที่รวยที่สุด ต่างจากรายได้ของคนไทยที่จนที่สุดถึง 34.9 เท่า พบคนจนและคนเกือบจน ในไทย ล่าสุดปี 56 ยังมีมากถึง 14 ล้านคน หรือ 21% ของคนไทยทั้งประเทศ ส่วนทวายโปรเจกต์-เขต ศก.พิเศษ 13 แห่ง ปลายปีนี้ชัด

วันนี้ (21 เม.ย.) นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. พร้อมผู้บริหาร สศช. ร่วมแถลงผลงานในรอบ 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 12 กันยายน 2557 ถึงวันที่ 12 มีนาคม 2558 ภายใต้การบริหารงานของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกอบด้วย การติดตามและรายงานภาวะเศรษฐกิจ การดำเนินงานด้านสังคม การขับเคลื่อนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ และการขับเคลื่อนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ

มีรายงานว่า สภาพัฒน์ยังได้จัดทำแผนภาพสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในประเทศ มาเปรียบเทียบกับเศรษฐกิจในช่วงที่ คสช.เข้มาบริหาร ระบุว่า เศรษฐกิจกลับมาขยายตัวภายหลังจากหดตัวใน Q1/2557 และเร่งขึ้นต่อเนื่องติดต่อกันสามไตรมาส แสดงถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างชัดเจน

นายอาคมกล่าวว่า ในส่วนของการติดตามและรายงานภาวะเศรษฐกิจ พบว่า ภาพรวมเศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้นจากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ GDP จากเดิมที่ติดลบร้อยละ 0.5 ในไตรมาสแรกของปี 2557 เริ่มกลับมาขยายตัวได้จากการขับเคลื่อน 4 เครื่องยนต์หลัก คือ 1. ความเชื่อมั่นของการบริโภคและเกษตรกรที่ดีขึ้นจากการได้รับเงินค่าจ่ายในโครงการรับจำนำข้าว 2. ความเชื่อมั่นทางธุรกิจที่ฟื้นตัวขึ้น 3. ความเชื่อมั่นด้านต่างๆ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นด้านการท่องเที่ยวจากการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ 4. ความเชื่อมั่นการลงทุนภาครัฐจากการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ

ทั้งนี้ ทาง สศช.คาดว่า GDP ในไตรมาสแรกของปีนี้เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ที่ร้อยละ 3 ซึ่งจะมีการแถลงอย่างเป็นทางการในวันที่ 18 พฤษภาคมนี้ ทาง สศช.เชื่อว่ากลไกต่างๆ กำลังทำงานตามปกติ เศรษฐกิจจะดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

“มั่นใจว่า GDP ในปีนี้จะขยายตัวได้ร้อยละ 3.5-4.5 ตามเป้าที่วางไว้ โดยจะต้องเร่งผลักดันการส่งออกที่ยังคงมีความน่าเป็นห่วงจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว”

ขณะที่สถานการณ์เศรษฐกิจในช่วงก่อนการจัดตั้งรัฐบาล นับตั้งเริ่มมีการชุมนุมทางการเมืองในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2556 จนถึงช่วงครึ่งแรกของปี 2557 เศรษฐกิจไทยชะลอตัวอย่างต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 5.4 ในไตรมาสแรกของปี 2556 เป็นร้อยละ 2.9 ร้อยละ 2.7 และร้อยละ 0.6 ในไตรมาสที่ 2 ไตรมาสที่ 3 และไตรมาสที่ 4 ตามลำดับ ก่อนที่จะเข้าสู่ภาวะการหดตัวทางเศรษฐกิจเป็นครั้งแรกในรอบ 9 ไตรมาสนับตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2554 โดยในไตรมาสแรกของปี 2557 เศรษฐกิจหดตัวร้อยละ 0.5 ซึ่งองค์ประกอบที่สำคัญทางเศรษฐกิจอยู่ในภาวะหดตัวทั้งด้านการใช้จ่ายและการลงทุนภาคเอกชน รวมทั้งการส่งออก เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัจจัยต่างๆ ทั้งปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายในประเทศที่สำคัญ ประกอบด้วย

ปัจจัยภายนอกประเทศซึ่งส่งผลกระทบต่อการส่งออก ได้แก่ (1) การชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญโดยเฉพาะเศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรโซนและญี่ปุ่นซึ่งชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องจนสู่ภาวะความถดถอยทางเทคนิคในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2555 และไตรมาสที่ 2 ของปี 2557 ตามลำดับ เช่นเดียวกับเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลงอย่างรวดเร็วและมีอัตราการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 6 ปี ในขณะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ เป็นไปอย่างล่าช้า (2) การดำเนินมาตรการขยายปริมาณเงินซึ่งทำให้เงินสกุลสำคัญๆ ทั้งดอลลาร์สหรัฐ เยน และยูโรอ่อนค่า และส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของสินค้าส่งออก และ (3) ภาวะความตกต่ำของราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกโดยเฉพาะราคาส่งออกข้าวและยางพาราที่หดตัวร้อยละ 2.8 และร้อยละ 17.9 ในปี 2556 และยังคงลดลงต่อเนื่องในอัตราร้อยละ 25.8 และร้อยละ 26.3 ในปี 2557 ตามลำดับ ส่งผลกระทบต่อมูลค่าการส่งออกและฐานรายได้ครัวเรือนภาคการเกษตร

ปัญหาสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยใน 4 ช่องทางหลัก ประกอบด้วย (1) การลดลงของความเชื่อมั่นภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจจนเข้าสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 8 ปี และ 5 ปี ในเดือนเมษายน 2557 ตามลำดับ (2) ประเทศต่างๆ จำนวน 67 ประเทศประกาศแจ้งเตือนพลเมืองของตนเองให้ระมัดระวังในการเดินทางเข้ามายังประเทศไทย ซึ่งส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงติดต่อกัน 9 เดือน และโดยรวมทั้งปี 2557 ลดลง 1.8 ล้านคนหรือร้อยละ 6.7 เป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 6 ปีนับตั้งแต่ปี 2552 (3) การขาดความต่อเนื่องของการบริหารราชการซึ่งส่งผลให้อัตราการเบิกจ่ายงบประมาณในปีงบประมาณ 2557 อยู่ที่ร้อยละ 89.0 ต่ำสุดในรอบ 15 ปี นับตั้งแต่ปีงบประมาณ 2542 โดยเฉพาะอัตราการเบิกจ่ายงบลงทุนซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 65.8 ต่ำสุดในรอบ 15 ปี และส่วนความล่าช้าในการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนซึ่งทำให้มูลค่าโครงการรอการอนุมัตินับตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงกันยายน 2557 สูงถึง 380,000 ล้านบาท

การปรับตัวต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นและปัญหาอุทกภัยในช่วงก่อนหน้า ซึ่งเป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวของการใช้จ่ายภาคครัวเรือนและการผลิต โดยเฉพาะ (1) การลดลงของปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ภายในประเทศจาก 1.29 ล้านคันในปี 2556 เข้าสู่ระดับปกติ 7.76 แสนคันในปี 2557 หรือลดลงร้อยละ 39.6 ซึ่งมีส่วนสำคัญที่ทำให้ปริมาณการผลิตรถยนต์รวมหดตัวร้อยละ 23.5 (2) หนี้สินครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น จากร้อยละ 70.3ของ GDP ในปี 2554 เป็นร้อยละ 82.3 ในปี 2556 และร้อยละ 85.0 ในปี 2557 ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของการใช้จ่ายภาคครัวเรือน (3) การเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะ จากร้อยละ 40.8 ของ GDP ณ สิ้นปี 2554 เป็นร้อยละ 45.7 ณ สิ้นปี 2556 ทำให้การดำเนินมาตรการทางการคลังเพื่อสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจเป็นไปอย่างระมัดระวังและมีข้อจำกัดมากขึ้น และ (4) การลดลงของราคาข้าวและรายได้เกษตรกรภายใต้มาตรการจำนำข้าวซึ่งไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ เนื่องจากส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการส่งออกและสร้างภาระทางการคลัง

การแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจของรัฐบาล ภายหลังจากการเข้ามาของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 และการจัดตั้งรัฐบาลเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2557 รัฐบาลได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ โดยให้ความสำคัญในประเด็นต่างๆ ที่สำคัญ ดังนี้

การฟื้นฟูความเชื่อมั่นของภาคครัวเรือน ธุรกิจ นักลงทุนต่างชาติ และนักท่องเที่ยว โดยการ (1) ดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ และดำเนินการให้การบริหารราชการแผ่นดินเข้าสู่ภาวะปกติ (2) จัดทำ Road Map ในการแก้ไขปัญหาประเทศที่ชัดเจนก่อนที่จะจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป รวมทั้งได้มีการดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ ตาม Road map ที่ประกาศไว้ (3) เร่งรัดฟื้นฟูความเชื่อมั่นและแก้ไขปัญหาการท่องเที่ยว โดยการชี้แจงทำความเข้าใจกับประเทศต่างๆ การแก้ไขปัญหาอาชญากรรมอย่างจริงจัง รวมทั้งการจัดระเบียบสถานที่ท่องเที่ยว (4) เร่งรัดพิจารณาอนุมัติส่งเสริมการลงทุนมูลค่าประมาณ 8 แสนล้านบาท และการประกาศใช้นโยบายส่งเสริมการลงทุน ระยะ 7 ปี (ปี 2558-2564) (5) แก้ไขปัญหาความล่าช้าในการออกใบอนุญาตโรงงาน (รง.4) โดยนับตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2557 - 31 มีนาคม 2558 มีการออกใบอนุญาตประกอบกิจการให้แก่โรงงานจำนวนทั้งสิ้น 4,911 โรงงานคิดเป็นมูลค่าเงินลงทุนรวม 578.6 พันล้านบาท และ (6) สร้างความชัดเจนในแผนการลงทุนที่สำคัญๆ ของภาครัฐทั้งในด้านการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง การพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ และแผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ

การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายของภาครัฐ โดยเฉพาะรัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะแรก ซึ่งรัฐบาลได้อนุมัติวงเงิน 364,464 ล้านบาท (ตามมติ ครม.วันที่ 1 ตุลาคม 2557) เพื่อการสร้างงานและการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อยประกอบด้วย การเร่งสัญญาที่เหลือของโครงการลงทุนภายใต้ปีงบประมาณ 2557 การเร่งสัญญาของโครงการลงทุนภายใต้ปีงบประมาณ 2558 การเร่งการใช้จ่ายของงบประมาณเหลื่อมปีตั้งแต่ปี 2548 มาตรการเร่งการใช้จ่ายจากงบประมาณกลางที่เหลือ และงบประมาณที่เหลือจากโครงการไทยเข้มแข็ง รวมทั้งโครงการเพื่อเพิ่มรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว 1,000 บาทต่อไร่ ในวงเงิน 40,000 ล้านบาท และเพิ่มรายได้เกษตรกรผู้ปลูกยางพารา1,000 บาทต่อไร่ ในวงเงินประมาณ 8,454 ล้านบาท

การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรที่สำคัญ ประกอบด้วย (1) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว เช่น การลดต้นทุนการผลิต การสนับสนุนแหล่งเงินทุนทั้งการให้สินเชื่อและการลดดอกเบี้ยเงินกู้และมาตรการพักชำระหนี้เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรรายย่อยผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) (ตามมติ ครม.วันที่ 31 มีนาคม 2558)และ (2) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง อาทิ โครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางโครงการสนับสนุนสินเชื่อเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อยเพื่อประกอบอาชีพเสริม และโครงการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อใช้รวบรวมยาง (ตามมติ ครม.วันที่ 21 ตุลาคม 2557)

การดูแลธุรกิจ SMEs ที่ได้รับความเดือดร้อนจากผลกระทบของการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ อาทิ มาตรการด้านสินเชื่อและการค้ำประกันสินเชื่อ ได้แก่ โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ SMEs สุขใจ มาตรการพักชำระค่าธรรมเนียมค้ำประกัน มาตรการเพิ่มวงเงินค้ำประกันสินเชื่อแทน SMEs มาตรการสินเชื่อผ่าน SFIs เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นต้น (ตามมติ ครม.วันที่ 17 มีนาคม 2558)

การดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นและเพิ่มศักยภาพการขยายตัวระยะยาว (ตามมติ ครม.วันที่ 17 มีนาคม 2558) รัฐบาลได้อนุมัติและเร่งรัดโครงการลงทุนเพิ่มเติมให้สามารถเริ่มดำเนินการ อาทิ โครงการพัฒนาถนนของกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท ที่ใช้วงเงินจำนวน 40,000 ล้านบาท และการบริหารจัดการระบบชลประทานและขุดลอกคูคลองในช่วงหน้าแล้ง วงเงิน 38,000 ล้านบาท

การเร่งรัดดำเนินการตามแผนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และวางรากฐานการพัฒนาประเทศในระยะยาว รวมทั้งสร้างความเชื่อมโยงให้ไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค โดยรัฐบาลได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ (ปี 2558-2565) ประกอบด้วย 5 แผนงาน ได้แก่ (1) การพัฒนาโครงข่ายรถไฟระหว่างเมือง (2) การพัฒนาโครงข่ายขนส่งสาธารณะเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (3) การเพิ่มขีดความสามารถทางหลวงเพื่อเชื่อมโยงฐานการผลิตของประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน (4) การพัฒนาโครงข่ายการขนส่งทางน้ำและ (5) การเพิ่มขีดความสามารถการให้บริการขนส่งทางอากาศ

ผลการแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจมหภาค การดำเนินการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลได้ทำให้เศรษฐกิจไทยปรับตัวดีขึ้นจากการหดตัวร้อยละ 0.5 ในไตรมาสแรก และขยายตัวเร่งขึ้นตามลำดับ ในภาพรวมเศรษฐกิจไทยเริ่มกลับมาขยายตัวร้อยละ 0.4 ในไตรมาสที่สอง และขยายตัวเร่งขึ้นอย่างช้าๆ เป็นร้อยละ 0.6 ในไตรมาสที่สาม ก่อนที่จะขยายตัวเร่งขึ้นอย่างชัดเจนเป็นร้อยละ 2.3 ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2557 และองค์ประกอบที่สำคัญๆ ที่อยู่ในภาวะหดตัวทั้งการใช้จ่ายภาคครัวเรือน การลงทุนภาคเอกชน การท่องเที่ยวและการผลิตภาคอุตสาหกรรมเริ่มกลับมาขยายตัวเป็นวงกว้างมากขึ้นตามความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยในไตรมาสที่ 2 ของปี 2557 การใช้จ่ายภาคครัวเรือนกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ไตรมาสในไตรมาสที่ 3 การลงทุนภาคเอกชนเริ่มกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ไตรมาส และในไตรมาสสุดท้ายการท่องเที่ยวเริ่มกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ไตรมาสในขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมเริ่มกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ไตรมาส

การขยายตัวเร่งขึ้นของเศรษฐกิจไทยและการฟื้นตัวเป็นวงกว้างมากขึ้นสอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจที่แสดงถึงความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาของภาครัฐประกอบด้วย (1) การฟื้นตัวของความเชื่อมั่นของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจซึ่งเริ่มฟื้นตัวอย่างชัดเจนและต่อเนื่อง (2) จำนวนนักท่องเที่ยวเริ่มกลับมาขยายตัวในเดือนตุลาคม 2557 และขยายตัวเร่งขึ้น (3) การเร่งรัดอนุมัติส่งเสริมการลงทุน โดยมูลค่าการอนุมัติเริ่มกลับมาขยายตัวเป็นบวกและเร่งขึ้นต่อเนื่อง (4) การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐซึ่งขยายตัวเป็นบวกและสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง (5) การหดตัวช้าลงของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมซึ่งทำให้ GDP ภาคอุตสาหกรรมเริ่มขยายตัวเป็นบวกในไตรมาสสุดท้ายของปี 2557 และมีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้นในปี 2558 และ (6) การเบิกจ่ายงบลงทุนเพิ่มขึ้นซึ่งส่งผลให้การลงทุนภาครัฐหดตัวช้าลงตามลำดับและมีแนวโน้มขยายตัวเป็นบวกและสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาสแรกของปี 2558

การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจดำเนินไปควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลพยายามที่จะรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ระยะสั้นในระดับที่จำเป็นและเหมาะสม รวมทั้งให้ความสำคัญกับการลงทุนเพื่อสร้างศักยภาพการขยายตัว ทางเศรษฐกิจระยะยาว ทั้งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้หนี้สินภาคครัวเรือนและภาระหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นจนเป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในอนาคต ผลจากแนวนโยบายดังกล่าวทำให้เสถียรภาพทางเศรษฐกิจอยู่ในเกณฑ์ดี โดยหนี้สาธารณะต่อ GDP และหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP เริ่มอยู่ในภาวะทรงตัวที่ประมาณ ร้อยละ 46.83 ต่อ GDPและร้อยละ 85.0 ของ GDP ตามลำดับ เทียบกับการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงก่อนหน้า ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อและอัตราการว่างงานเฉลี่ยทั้งปี 2557 อยู่ในระดับต่ำร้อยละ 1.9 และร้อยละ 0.8 ตามลำดับ และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 3.8 ของ GDP

สถานการณ์เศรษฐกิจล่าสุดเครื่องชี้เศรษฐกิจในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2558 แสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจไทยปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า และขยายตัวเร่งขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 2558 จะสามารถขยายตัวได้ดีขึ้นจากไตรมาสที่ 4 ของปี 2557 ตามการขยายตัวเร่งขึ้นของภาคการท่องเที่ยว การผลิตภาคอุตสาหกรรม การลงทุนภาครัฐซึ่งคาดว่าจะเริ่มกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ไตรมาส ในขณะที่การใช้จ่ายและการลงทุนภาคเอกชนยังขยายตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การส่งออกยังคงได้รับผลกระทบจากภาวะความซบเซาของเศรษฐกิจโลกและการลดลงของราคาสินค้าส่งออกที่สำคัญ

แนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจ สอดคล้องกับเครื่องชี้เศรษฐกิจสำคัญๆ โดยในด้านการผลิตดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหดตัวช้าลงตามลำดับ และกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 23 เดือน ในอัตราร้อยละ 3.8 ในเดือนกุมภาพันธ์จำนวนนักท่องเที่ยวขยายตัวสูงและเร่งขึ้นเป็นเดือนที่ 5 ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวในช่วง 2 เดือนแรกขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 22.5 ในขณะที่อัตราการเข้าพักเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 71.9 ซึ่งเป็นอัตราการเข้าพักเฉลี่ยสูงสุดในรอบ 23 เดือน อย่างไรก็ตาม ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรยังคงปรับตัวลดลงตามการลดพื้นที่เพาะปลูก สภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย และสถานการณ์ด้านราคาสินค้า

ในด้านการใช้จ่ายดัชนีการลงทุนภาคเอกชนเริ่มกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 20 เดือน การลงทุนภาครัฐปรับตัวดีขึ้นตามความคืบหน้าของการเร่งรัดเบิกจ่ายงบลงทุนทั้งของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 123.2 และ 104.8 ตามลำดับ ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2558 ในขณะที่การบริโภคภาคเอกชนยังมีแนวโน้มที่จะขยายตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ปริมาณการส่งออกสินค้าลดลง แต่การส่งออกบริการมีแนวโน้มขยายตัวสูงตามการขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยว เสถียรภาพทางเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดีอย่างต่อเนื่อง โดย (1) อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยในช่วง 2 เดือนของไตรมาสแรก (มกราคม-กุมภาพันธ์ 2558) อยู่ในระดับต่ำร้อยละ -0.5 และร้อยละ 1.6 ตามลำดับ (2) การว่างงานอยู่ในระดับต่ำ เฉลี่ย 2 เดือนของไตรมาสแรก อยู่ที่ร้อยละ 0.9 (3) ดุลบัญชีเดินสะพัดยังคงเกินดุล 6,015 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วง 2 เดือนแรก โดยเป็นผลจากดุลการค้าและดุลบริการที่เกินดุลตามรายรับจากการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2558 อยู่ที่ 5.72 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 46.83 ต่อ GDP

นายอาคมกล่าวถึงการดำเนินงานด้านสังคมของ สศช.ในช่วง 6 เดือนตามนโยบายรัฐบาลครอบคลุมงานสำคัญทั้งในด้านการติดตามรายงานสถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยการติดตามผลการพัฒนาประเทศตามเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ รวมทั้งการรายงานภาวะสังคมรายไตรมาส และรายปี เพื่อติดตามสถานการณ์ความเคลื่อนไหวทางสังคมและการเฝ้าระวัง การขับเคลื่อนงานของกลไกคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการศึกษา และการขับเคลื่อนการประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติในภาคธุรกิจเอกชน

การวิเคราะห์ ติดตาม และรายงานสถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย สถานการณ์ความยากจนในปี 2556 ซึ่งประเมินโดยใช้เส้นความยากจน พบว่า ความยากจนโดยรวมลดลง แต่ยังคงเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทย โดยความยากจนลดลงจากร้อยละ 12.6 ของประชากรทั้งประเทศ ในปี 2555เหลือร้อยละ 10.9 ในปี 2556 หรือมีคนจน7.3 ล้านคน หากรวม “คนจน” กับ “คนเกือบจน” แล้วจะมีประมาณ 14.0 ล้านคน หรือร้อยละ 21.0 ของประชากรทั้งหมด ซึ่งบ่งชี้ว่าความยากจนยังคงเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทย (คนเกือบจนหมายถึงประชากรที่มีระดับรายจ่าย เพื่อการอุปโภคบริโภคสูงกว่าเส้นความยากจนไม่เกิน 20% ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสจะตกเป็นคนจนได้ง่ายหากได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ร้ายแรงหรือประสบวิกฤตทางเศรษฐกิจหรือประสบปัญหาด้านสุขภาพที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพ)

ความเหลื่อมล้ำหรือการกระจายรายได้ในประเทศไทยในปี2556มีแนวโน้มดีขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปี 2554 และปัญหาการกระจายรายได้อยู่ในระดับปานกลาง โดยสะท้อนจากค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาค (Gini coefficient) ด้านรายได้ เท่ากับ 0.465ในปี 2556และ 0.484 ในปี 2554 อย่างไรก็ตาม รายได้ยังคงกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มคนรวยที่สุด 10% ซึ่งถือครองรายได้สูงถึง 36.8% ของรายได้ทั้งหมด ขณะที่กลุ่มคนจนที่สุด 10% ถือครองรายได้เพียง 1.1% ของรายได้ทั้งหมดเท่านั้น จึงทำให้ความแตกต่างของรายได้ระหว่างกลุ่มคนรวยที่สุดกับกลุ่มคนจนที่สุดต่างกันถึง 34.9 เท่า ในปี 2556

สำหรับนโยบายและโครงการสำคัญในการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำที่ดำเนินการต่อเนื่องจากอดีตจนถึงปัจจุบันได้แก่ (1) มาตรการลดภาระค่าครองชีพของประชาชน และภาระค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการศึกษา (2) การสร้างความมั่นคงด้านรายได้และการสร้างโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรและแหล่งทุนในการประกอบอาชีพเช่น การปรับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราว

ให้พนักงานราชการวุฒิการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรีการชดเชยรายได้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง (3) การสร้างโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาของผู้มีฐานะยากจน ผู้มีรายได้น้อยหรือขาดแคลนทุนทรัพย์โดยการให้ทุนการศึกษา และมีกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา และ (4) การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพโดยพัฒนาคุณภาพการให้บริการสุขภาพทั้งระบบ จัดระบบบริการในรูปแบบเครือข่าย ผลิตบุคลากรด้านสาธารณสุขให้เพียงพอ และสร้างความเป็นเอกภาพและบูรณาการสิทธิประโยชน์เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของ 3 กองทุน

ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายได้แก่ (1) ยกระดับรายได้กลุ่มเป้าหมายคนจน ผู้ด้อยโอกาส และผู้มีรายได้ต่ำสุด 40% ล่าง โดยสร้างโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในการประกอบอาชีพ เร่งยกระดับและพัฒนาสมรรถนะแรงงาน สร้างโอกาสในการเข้าถึงที่ดินทำกินของเกษตรกรรายย่อยที่ไร้ที่ดินทำกินและผู้ที่มีฐานะยากจน และเร่งดำเนินการปฏิรูปภาษีทั้งระบบ (2) สร้างโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาระดับอุดมศึกษาของผู้ที่มีฐานะยากจน ให้มีความรู้ความสามารถ มีทักษะในการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพ (3) ยกระดับคุณภาพบริการสาธารณสุขโดยพัฒนาศักยภาพระบบบริการสุขภาพในรูปแบบเครือข่ายเชื่อมโยงกันภายในพื้นที่ บูรณาการระบบประกันสุขภาพภาครัฐ 3 กองทุน และพัฒนารูปแบบบริการเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ และ (4) สร้างโอกาสในการเข้าถึงสวัสดิการของรัฐ โดยส่งเสริมแรงงานนอกระบบเข้าสู่ระบบประกันสังคมด้วยความสมัครใจตามมาตรา 40 และปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการให้เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและคนพิการ

การติดตามผลการพัฒนาประเทศตามเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals)เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (MDG) เป็นเป้าหมายที่องค์การสหประชาชาติกำหนดขึ้น เพื่อให้แต่ละประเทศยกระดับคุณภาพชีวิตพื้นฐานของประชากร มีจุดมุ่งหมายคือความมุ่งมั่นในการบรรลุข้อผูกพันของปฏิญญาสหัสวรรษ (Millennium Declaration) ปฏิญญานี้ผ่านการรับรองมติ ณ การประชุมสุดยอดแห่งสหัสวรรษในเดือนกันยายน 2553 ซึ่งร่วมลงนามโดยผู้นำโลกประกอบด้วย 8 เป้าหมาย ได้แก่ การขจัดความยากจนและหิวโหย การให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาระดับประถมศึกษา การส่งเสริมบทบาทสตรีและความเท่าเทียมกันทางเพศ การลดอัตราการตายของเด็ก การพัฒนาสุขภาพสตรีมีครรภ์การต่อสู้โรคเอดส์ มาลาเรีย และโรคสำคัญอื่นๆ การรักษาและจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน และการส่งเสริมการเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาในประชาคมโลก

เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษมีกรอบระยะเวลาการดำเนินงานถึงปี พ.ศ. 2558 ซึ่ง สศช. ในฐานะหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ติดตามผลตามเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษของประเทศไทยได้ทำการติดตามและนำเสนอผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ปรากฏเป็นรายงานผลตามเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษของประเทศไทย พ.ศ. 2547 และ พ.ศ. 2552 โดยประเทศไทยมีผลการดำเนินการที่ค่อนข้างดีในทุกเป้าหมายการพัฒนา กล่าวคือ ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายในการลดความยากจนลงกึ่งหนึ่งบรรลุเป้าหมายอัตราเข้าเรียนรวมที่เกินร้อยละ 100 และความเท่าเทียมในการเข้าถึงการศึกษา

ขณะที่เป้าหมายด้านสุขภาพ อัตราการตายของเด็กมีแนวโน้มดีขึ้น ยกเว้นในเขตพื้นที่สูงและสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สุขภาพสตรีมีครรภ์มีแนวโน้มดีขึ้น ยกเว้นในเขตพื้นที่สูงแต่ปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมและอนามัยการเจริญพันธุ์ในวัยรุ่นยังต้องได้รับการดูแล และบรรลุเป้าหมายการชะลอและลดการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ แต่กลุ่มเสี่ยงยังมีอัตราการติดเชื้อสูงในส่วนของเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม ประเทศไทยมีโอกาสบรรลุเป้าหมายเนื่องจากสามารถเพิ่มสัดส่วนพื้นที่อนุรักษ์และป่าชายเลนแต่ยังมีปัญหาด้านความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ การใช้พลังงาน การจัดการขยะ คุณภาพน้ำ และคุณภาพอากาศ

เป้าหมายสุดท้ายการเป็นหุ้นส่วนในการพัฒนา ประเทศไทยได้เสริมสร้างขีดความสามารถแก่ประเทศเพื่อนบ้านเพื่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจในภูมิภาคและอนุภูมิภาคในหลายโครงการ เช่น การมีส่วนร่วมในการพัฒนาการให้บริการสาธารณสุข การผลิตสื่อการเรียนการสอนอิเล็กทรอนิกส์ และความร่วมมือสาขาเกษตรด้านความมั่นคงของอาหาร เป็นต้น

ปี 2558 เป็นปีสิ้นสุดของเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ สศช.จึงได้วางกรอบและกำลังดำเนินการจัดทำรายงานฯ ในสามระดับ คือ ระดับประเทศระดับจังหวัด ซึ่งได้รับความร่วมมือจากจังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดนครพนม และระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งได้รับความร่วมมือจากองค์การบริหารส่วนตำบลมหาสวัสดิ์ จังหวัดนครปฐม เทศบาลตำบลอุโมงค์ จังหวัดลำพูน และเทศบาลเมืองอรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว โดยการรายงานฯจะได้แสดงให้เห็นถึงผลการดำเนินงานตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ปัญหาอุปสรรคที่พบในการบรรลุเป้าหมายฯ และประเด็นท้าทายที่มีต่อการพัฒนาภายหลังการพัฒนาแห่งสหัสวรรษซึ่งจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ภายในเดือนกันยายน ศกนี้

การรายงานภาวะสังคมรายไตรมาสและรายปี เพื่อติดตามสถานการณ์ความเคลื่อนไหวทางสังคมและเฝ้าระวัง สศช.ดำเนินการติดตามสถานการณ์ความเคลื่อนไหวทางสังคมที่สำคัญๆ ทั้งในด้านการจ้างงาน หนี้สินครัวเรือน สุขภาพ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การค้ามนุษย์ รวมทั้งติดตามประเด็นทางสังคมที่น่าสนใจเพื่อวิเคราะห์เสนอแนะแนวทางที่เหมาะสม โดยได้ดำเนินการในประเด็นการพัฒนาศักยภาพของเด็กวัยเรียน และการยกระดับสมรรถนะของแรงงาน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลด้านการลดความเหลื่อมล้ำของสังคมและการสร้างโอกาสการเข้าถึงบริการของรัฐ และนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลในเรื่องการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ที่กำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติที่บูรณาการการแก้ปัญหาจากทุกภาคส่วนโดยมีข้อค้นพบและข้อเสนอที่ได้รายงานแถลงข่าวต่อสาธารณะเป็นรายไตรมาส รายปี ที่สำคัญ ดังนี้การจ้างงาน ภาพรวมทั้งปี 2557 การจ้างงานลดลงร้อยละ 0.4 อัตราการว่างงานเฉลี่ยร้อยละ 0.84 ค่าจ้างแรงงานที่หักด้วยเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 ผลิตภาพแรงงานต่อคนเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 เมื่อพิจารณาผลิตภาพแรงงานรายสาขาเทียบกับค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น พบว่า ผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้นช้ากว่าค่าจ้างแรงงานในเกือบทุกสาขา ยกเว้นสาขาเกษตรกรรม ก่อสร้างและการศึกษา

หนี้สินครัวเรือน ไตรมาสที่ 4 ปี 2557 ยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการบริโภคอุปโภค ส่วนบุคคลของธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.4 ชะลอลงเมื่อเทียบกับไตรมาสแรกถึงไตรมาสที่สามที่ผ่านมา โดยมีมูลค่ายอดคงค้างสินเชื่อเท่ากับ 3,492,624 ล้านบาท แต่ต้องเฝ้าระวังการผิดนัดชำระหนี้อย่างต่อเนื่องโดยหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้มีมูลค่า 83,451 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.5 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.4 ต่อสินเชื่อรวม

สุขภาพ ผู้ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกลดลงถึงร้อยละ 73.5 เนื่องจากมีการดำเนินงานเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคอย่างต่อเนื่อง ผู้ป่วยเอดส์มีแนวโน้มลดลงแต่ยังต้องเฝ้าระวังพฤติกรรมในกลุ่มเยาวชนที่มีสัดส่วนของนักเรียนที่เคยมีเพศสัมพันธ์แล้วยังคงเพิ่มขึ้น ขณะที่การใช้ถุงยางอนามัยยังอยู่ในระดับต่ำโดยเฉพาะกับแฟนหรือคนรักขณะที่ค่าใช้จ่ายในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1 และ 1.8 ตามลำดับ

ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน คดีอาญาไตรมาสที่ 4 ปี 2557 ลดลงร้อยละ 11.6 จากปี 2556โดยคดียาเสพติดยังคงมีสัดส่วนมากที่สุดร้อยละ 84.5 ขณะที่การเกิดอุบัติเหตุจราจรทางบกเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.2 ผู้เสียชีวิตลดลงร้อยละ 1.6 โดยสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุยังคงมาจากการเมาสุราและขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด นอกจากนี้ รัฐบาลไทยตระหนักถึงปัญหาของการค้ามนุษย์โดยได้ดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ตามหลักมาตรฐานสากล 5P (Policy, Prosecution, Protection, Prevention, Partnership) ยึดหลักการสำคัญด้านการคุ้มครองผู้ด้อยโอกาส กลุ่มเสี่ยง และผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ การบังคับกฎหมายอย่างเข้มงวด และการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นของเจ้าหน้าที่รัฐในทุกระดับ

ประเด็นทางสังคมที่น่าสนใจ สศช.ให้ความสำคัญติดตามประเด็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไทยในทุกช่วงวัยเพื่อให้มีความพร้อมในการดำรงชีวิตอย่างเต็มศักยภาพ ซึ่งจากการติดตามประเด็นการพัฒนาศักยภาพของเด็กในวัยเรียนและการยกระดับสมรรถนะแรงงาน มีข้อค้นพบและข้อเสนอแนะ ดังนี้

การพัฒนาศักยภาพเด็กวัยเรียน พบว่าเด็กวัยเรียนไทย 6-8 แสนคน ออกจากระบบการศึกษาก่อนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน เหตุผลที่ไม่ได้เรียนในกลุ่มวัย 6-14 ปี ส่วนใหญ่มาจากปัญหาการเจ็บป่วยพิการ ไม่มีทุนทรัพย์และไม่สนใจที่จะเรียน ในกลุ่มวัย 15-17 ปี ให้เหตุผลว่าจบการศึกษาแล้วมากที่สุด รองลงมาคือไม่มีทุนทรัพย์และไม่สนใจ เด็กที่ไม่เข้าเรียนส่วนใหญ่อยู่ในครัวเรือนที่มีรายได้น้อย เด็กที่ไม่ได้เรียนส่วนใหญ่เข้าสู่ตลาดแรงงานประมาณ 5.5 แสนคนถูกดำเนินคดีในสถานพินิจและ
เข้าบำบัดรักษายาเสพติด 50,000-60,000 คน ป่วยและพิการ 24,000 คน และเด็กเร่ร่อน 30,000 คน

ขณะที่เด็กในระบบโรงเรียนยังมีปัญหาด้านคุณภาพ ขาดทักษะทำงานและการดำเนินชีวิต ทั้งนี้ พบเด็กกว่า 1 แสนคนอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ผลสัมฤทธิ์การศึกษาต่ำ ขาดทักษะที่ใช้ในการทำงานและต่อยอดการเรียนรู้ได้แก่ภาษาอังกฤษ การใช้งานเทคโนโลยีการคิดคำนวณความคิดสร้างสรรค์ ภาวะผู้นำ และการสื่อสารส่งผลต่อผลิตภาพแรงงาน การมีต้นทุนชีวิตที่อ่อนแอ ตลอดจนคุณธรรมด้านความซื่อสัตย์น้อยลง

แนวทางการพัฒนาศักยภาพเด็กวัยเรียนที่สำคัญ คือ (1) สนับสนุนให้เด็กคงอยู่ในระบบโรงเรียนทั้งการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมให้แก่เด็กยากจน สร้างแรงจูงใจให้กับสถานศึกษาเพื่อเอื้อต่อการเข้าเรียนของเด็กด้อยโอกาสกลุ่มต่างๆ การเพิ่มช่องทางและทางเลือกการศึกษาในกลุ่มเด็กที่อยู่นอกระบบการศึกษาให้สามารถกลับเข้าสู่ระบบโรงเรียน (2) ส่งเสริมการศึกษานอกระบบโรงเรียนและการพัฒนาอาชีพเชิงรุกตลอดจนการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นสื่อกลางการเรียนการสอน(3) พัฒนาคุณภาพการศึกษาโดยยกระดับคุณภาพครู พัฒนาหลักสูตรให้มีความหลากหลายและเป็นทางเลือกใหม่และ (4) ส่งเสริมทักษะการอ่านเพื่อเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตและสร้างความเป็นพลเมืองที่ดี

การยกระดับสมรรถนะแรงงาน พบว่า (1) แรงงานไทยกว่าร้อยละ 65 มีการศึกษาระดับมัธยมต้นและต่ำกว่าสัดส่วนแรงงานสูงอายุเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นข้อจำกัดต่อการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูง ขณะที่แรงงานที่มีอายุระหว่าง 15-24 ปีเข้าสู่กำลังแรงงานลดลง ส่งผลให้ขาดแคลนแรงงาน และผลิตภาพในบางสาขาลดลง (2) แรงงานนอกระบบมีแนวโน้มเคลื่อนย้ายเข้าสู่สถานประกอบการ จำเป็นต้องเร่งพัฒนาทักษะเพื่อให้แรงงานสามารถปรับตัวและทำงานในสถานประกอบการได้อย่างมีประสิทธิภาพ (3) แรงงานมีภาวะตึงตัวและการผลิตแรงงานยังไม่ตรงกับความต้องการ และ (4) คุณภาพแรงงานทั้งด้านผลิตภาพยังขาดทักษะที่จำเป็นต่อการทำงาน

ปัญหาการพัฒนาสมรรถนะแรงงาน พบว่า (1) การพัฒนาทักษะเน้นยกระดับฝีมือแรงงานแต่ยังขาดการประเมินเชิงคุณภาพซึ่งจะช่วยให้นายจ้างและลูกจ้างเห็นถึงประโยชน์และปรับปรุงให้การฝึกอบรมมีประสิทธิผล (2) การเข้าถึงข้อมูลและการพัฒนาสมรรถนะแรงงานเพื่อรองรับการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูงยังมีข้อจำกัด และ (3) ยังมีความล่าช้าของการพัฒนามาตรฐานอาชีพและมาตรฐานฝีมือแรงงาน

แนวทางการยกระดับสมรรถนะแรงงานได้แก่ (1) เร่งพัฒนามาตรฐานอาชีพให้ครอบคลุมทุกสาขาอาชีพโดยเฉพาะสาขาอาชีพที่มีศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ เร่งพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการศึกษาให้เชื่อมโยงกับระบบคุณวุฒิวิชาชีพ วางระบบเส้นทางความก้าวหน้าในอาชีพที่มีกลไกการวัดและประเมินผลเพื่อเทียบโอนความรู้และประสบการณ์ (Credit transfer) หน่วยการเรียน (Credit bank) ที่ชัดเจน (2) สร้างความรู้ด้านคุณวุฒิวิชาชีพและมาตรฐานฝีมือแรงงาน รวมถึงประชาสัมพันธ์ช่องทางและวิธีการเข้าทดสอบให้แรงงานเข้ารับการทดสอบคุณวุฒิวิชาชีพหรือมาตรฐานฝีมือแรงงาน (3) ส่งเสริมให้ภาครัฐเป็นหน่วยสนับสนุนภาคเอกชนที่มีประสิทธิภาพ เป็นแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับการพัฒนาสมรรถนะแรงงาน โครงการที่รัฐดำเนินงาน และสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายและทั่วถึง รวมทั้งเป็นหน่วยประสานให้เกิดการจัดฝึกอบรมที่ตรงกับความต้องการ และ (4) เร่งส่งเสริมการพัฒนาทักษะแรงงานในสถานประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม โดยประชาสัมพันธ์เชิงรุก ใช้มาตรการอุดหนุนทางการเงิน อาทิ การให้กู้กองทุนพัฒนาฝีมือแรงงานดอกเบี้ยต่ำโดยมีเงื่อนไขในการจัดฝึกอบรมแรงงานในสถานประกอบการ

งานคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการศึกษาเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2558 นายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 84 /2558 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการศึกษา โดยมีการประชุม ครั้งที่ 1/2558 เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2558 โดยมีนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) เป็นประธาน และ สศช.เป็นฝ่ายเลขานุการ

การแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการศึกษา เพื่อทำหน้าที่เป็นซูเปอร์บอร์ดด้านการศึกษา หารือและขับเคลื่อนงานตามนโยบายร่วมกัน มุ่งให้เกิดการทำงานที่บูรณาการ ไม่ซ้ำซ้อน และไม่ขัดแย้งกัน โดยให้ยึดแนวทางของ คสช. และนโยบายรัฐบาลเป็นหลักสำคัญรวมทั้งความสอดคล้องเชื่อมโยงกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติการดำเนินการมุ่งใน 3 ภารกิจหลัก คือ การดำเนินงานตามภารกิจประจำ การดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล และการดำเนินงานที่เป็นการวางรากฐานเพื่อส่งต่อรัฐบาลในอนาคต โดยต้องดำเนินการทั้งในด้านการจัดการศึกษาที่เชื่อมโยงกันทั้งระบบ การปรับหลักสูตร การพัฒนาคุณภาพครูและผู้เรียน การยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน งบประมาณและการกระจายอำนาจ เพื่อให้การพัฒนาคุณภาพการศึกษาของประเทศ ตอบสนองต่อความคาดหวังของประชาชนและเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม

ผลการประชุมและมติที่ประชุมที่ประชุมมีความเห็นและข้อเสนอแนะที่สำคัญ ดังนี้

1) ทิศทางและการขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาควรต้องมีกรอบที่ชัดเจน มีการกำหนดเป้าหมายการดำเนินงานด้านการศึกษาและการเรียนรู้ที่เป็นรูปธรรม เน้นการเรียนรู้ตลอดชีวิตการสร้างโอกาสทางการศึกษาและการลดความเหลื่อมล้ำ

2) โครงสร้างการศึกษา เน้นการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้โครงสร้างหน่วยงานทางการศึกษาที่มีในปัจจุบัน ต้องร่วมกันสร้างความเชื่อมมั่นและความเข้าใจในระบบการศึกษา ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการศึกษาอย่างเหมาะสม มีคุณภาพ ให้ผู้เรียนมีความสุขในการเรียน นำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ประโยชน์ในการจัดการเรียนการสอน เร่งจัดการเรียนการสอนในสาขาที่สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ และบ่มเพาะสร้างเสริมให้ผู้เรียนมีความรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมือง กฎหมายประชาธิปไตย ตลอดจนวางแผนการพัฒนาครูในรูปแบบการต่อยอดความรู้มากกว่าการเพิ่มอัตรา และพัฒนานวัตกรรมในการผลิตครูการประเมินครูที่เชื่อมโยงกับการพัฒนาผู้เรียนเป็นสำคัญ และมีมาตรการสร้างความเชื่อมั่น ขวัญกำลังใจของครูโดยเฉพาะการแก้ปัญหาเรื่องหนี้สิน

3) การวางแผนการผลิตและพัฒนากำลังคน สถาบันการศึกษาและมหาวิทยาลัย ควรพัฒนาหลักสูตรให้เชื่อมโยงสอดคล้องกับความต้องการกำลังคนในอนาคต รวมถึงการเตรียมคัดคนให้สอดคล้องกับทิศทางการลงทุนในการพัฒนาประเทศ ซึ่งจะมีความต้องการงานในพื้นที่และอุตสาหกรรมเกิดขึ้นในอนาคต เช่น การลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานและการบริหารจัดการน้ำ การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ คลัสเตอร์การพัฒนาในภาคการผลิตและบริการ งานในส่วนท้องถิ่น และงานในส่วนกลาง

นอกจากนี้ ควรผนวกเรื่องการพัฒนาการศึกษาและการพัฒนาเทคโนโลยีเข้ากับการส่งเสริมการลงทุน เนื่องจากการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคตจะเกิดจากโครงการภาครัฐขนาดใหญ่ การเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษ เป็นต้น จึงสมควรสนับสนุนให้ผู้ประกอบการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนทำข้อตกลงความร่วมมือในการจัดการศึกษาแบบทวิภาคีและสหกิจศึกษา รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีมติที่ประชุม มอบหมายให้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาเป็นแกนหลัก ดำเนินการร่วมกับองค์กรหลักและหน่วยงานในกระทรวงศึกษาธิการ นำความเห็นและข้อเสนอแนะของคณะกรรมการฯ ไปพิจารณาดำเนินการ และจัดทำวิสัยทัศน์และกรอบทิศทางการพัฒนาการศึกษา ในระยะ5 ปี ให้เป็นรูปธรรม ดังนี้ให้บูรณาการและกำหนดแนวทางที่ชัดเจน ยึดตาม 8 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ (1) นโยบายการศึกษา (2) ระบบบริหารการศึกษา (3) โครงสร้างการศึกษา (4) การมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการการศึกษา (5) ครูและบุคลากรการศึกษา (6) การกำกับติดตามและประเมินผล (7) งบประมาณและการช่วยเหลือด้านการเงิน และ (8) อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ โดยให้มีความเชื่อมโยงตาม 8 ประเด็นสำคัญ

ใน 3 ช่วงเวลา ดังนี้ ระยะแรก-อดีต (ปี 2557-ช่วง คสช.) ระยะที่สอง-ปัจจุบัน (ปี 2558 ช่วงที่รัฐบาลปัจจุบันเข้ามาบริหารวางพื้นฐานสำคัญ) ระยะที่สาม-อนาคต (ตั้งแต่ปี 2559 และต่อเนื่องในช่วง 5 ปีของแผนฯ 12) ความก้าวหน้าการดำเนินงานสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา อยู่ระหว่างการดำเนินการรวบรวมข้อมูลผลการดำเนินงานด้านการศึกษาและการเรียนรู้ของทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อนำมาวิเคราะห์ความเชื่อมโยงตาม 8 ประเด็นสำคัญในแต่ละช่วงเวลา ทั้งในระยะแรกที่ได้ดำเนินการไปแล้วมีผลสำเร็จอะไรบ้าง ในระยะปัจจุบันที่อยู่ระหว่างดำเนินการ เพื่อชี้ให้เห็นว่าทำอะไร มีปัญหาอุปสรรค ต้องปรับปรุงแก้ไขอย่างไร เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรมอะไรบ้าง รวมทั้งการเตรียมทิศทางแนวทางในอนาคต 5 ปีต่อไป นอกจากนี้ อยู่ระหว่างดำเนินการวิเคราะห์เปรียบเทียบการจัดการศึกษาของต่างประเทศที่เชื่อมโยงกับ 8 ประเด็นสำคัญ มาใช้ประโยชน์ในการวางทิศทางแนวทางในอนาคต

การขับเคลื่อนการประยุกต์นำใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในภาคเอกชน สศช. ร่วมกับพันธมิตร 7 องค์กรผู้นำภาคธุรกิจขับเคลื่อนการประยุกต์ใช้เศรษฐกิจพอเพียง สศช. และ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาประเทศตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (มพพ.) ได้ลงนามในบันทึกความร่วมมือกับผู้บริหารระดับสูงของ 7 องค์กรผู้นำภาคธุรกิจขนาดใหญ่ ได้แก่ เอสซีจี บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) บริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ จำกัด บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) บริษัทบางจาก ปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) และกลุ่มมิตรผล เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2556 เพื่อร่วมเป็นพันธมิตรขับเคลื่อนการประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงภาคธุรกิจเอกชน โดยส่งเสริมการขับเคลื่อนธุรกิจตามหลักปรัชญาฯ ดำเนินการทั้งภายในองค์กรและส่งเสริมการ

ขยายผลสู่องค์กรธุรกิจเครือข่าย หรือธุรกิจคู่ค้าตลอดห่วงโซ่ (Supply Chain) เพื่อให้ภาคธุรกิจเหล่านั้นสามารถปรับตัวเผชิญการเปลี่ยนแปลงในอนาคต นำไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน โดยร่วมกันวางกรอบการขับเคลื่อนงานเป็นระยะเวลา 3 ปี (ปี 2556-2559) มีเป้าหมายมุ่งให้เกิดการปรับการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องตามหลักปรัชญาฯ สนับสนุนให้ 7 องค์กรฯ เลือกเป้าหมายธุรกิจในเครือข่าย Supply Chain ของตน องค์กรละ 5 แห่ง พร้อมทั้งมอบผู้แทนทุกองค์กรร่วมเป็นคณะทำงานขับเคลื่อนงานร่วมกับ สศช. มพพ.

โดยคณะทำงานจะประชุมหารือร่วมกันในทุกเดือนเพื่อติดตามความก้าวหน้าและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันความก้าวหน้า ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการปรับการดำเนินธุรกิจขององค์กรที่เป็น Supply Chain รวม 36 แห่ง และประมวลสรุปผลอย่างเป็นระบบ เตรียมการจัดให้มีการศึกษาถอดบทเรียนเพื่อสามารถประมวลสังเคราะห์เสนอแนวทางการขยายผลได้ทันในปี 2559 นี้ สศช.ร่วมกับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ขับเคลื่อนการประยุกต์ใช้เศรษฐกิจพอเพียงในภาคธุรกิจ บริการ การท่องเที่ยว อุตสาหกรรมและผู้ประกอบการรายย่อยภายใต้กลไกที่รัฐบาลได้แต่งตั้ง คณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การบูรณาการการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล) เป็นประธานฯ และแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ เพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติงานรวม 8 คณะประกอบ หนึ่งในนั้นมีคณะอนุกรรมการฯ ภาคธุรกิจ บริการ การท่องเที่ยว อุตสาหกรรม และผู้ประกอบการรายย่อยมีเลขาธิการ สศช.เป็นประธาน ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ นี้มีภารกิจในการจัดทำแผนปฏิบัติการ แนวทางและขั้นตอนการปฏิบัติงานภายใต้กรอบยุทธศาสตร์การส่งเสริมการขับเคลื่อนปรัชญาฯ ในภาคธุรกิจ บริการการท่องเที่ยว อุตสาหกรรม และผู้ประกอบการรายย่อย ส่งเสริมสนับสนุนพัฒนาเครื่องมือที่สร้างความรู้ความเข้าใจ สร้างภาคีเครือข่ายและสนับสนุนผู้ประกอบการ ธุรกิจที่มีความพร้อมเข้าไปร่วมจัดกิจกรรมการพัฒนาในชุมชน และพิจารณากลั่นกรองแผนงาน/โครงการให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ส่งเสริมการขับเคลื่อนฯ ในภาคธุรกิจ เพื่อเสนอโครงการที่ผ่านการพิจารณาต่อคณะอนุกรรมการอนุมัติโครงการและงบประมาณ ความก้าวหน้าการดำเนินงาน มีการประชุมครั้งที่ 1/2558 เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2558 ทบทวนสถานการณ์การขับเคลื่อนฯ ในภาคธุรกิจ ซึ่งที่ประชุมมีมติให้เพิ่มเติมและทบทวนโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการขับเคลื่อนฯ ภาคธุรกิจและนำไปจัดทำแผนปฏิบัติการการขับเคลื่อนในปี 2558-2560 คาดว่าจะนำเสนอที่ประชุมพิจารณาได้ในเดือนพฤษภาคม ศกนี้

การขับเคลื่อนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ความสำคัญของเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่ได้รับการบรรจุในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 และเป็นนโยบายหลักของรัฐบาลปัจจุบัน โดยเป็นรูปแบบการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจของไทยภายใต้การเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน (ASEAN Connectivity) ซึ่งจะนำประเทศก้าวสู่มิติใหม่ในการสร้างความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจไทยให้เติบโตควบคู่กับเศรษฐกิจประเทศเพื่อนบ้าน ลดอุปสรรคทางการค้า การลงทุน ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสังคม และสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภายในภูมิภาค โดยอาศัยศักยภาพและความชำนาญของแต่ละประเทศมาเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันซึ่งกันและกัน โดยการวางแผนพัฒนาอย่างบูรณาการและรอบคอบทั้งด้านศักยภาพของพื้นที่ ที่ตั้ง รูปแบบ และการบริหารจัดการที่เหมาะสม

วัตถุประสงค์และหลักการดำเนินงานเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อดึงดูดการลงทุนทั้งจากต่างประเทศและในประเทศกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค ลดความเหลื่อมล้ำ ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน และแก้ไขปัญหาความมั่นคงบริเวณชายแดน ภายใต้หลักการดำเนินงาน ดังนี้ (1) ดำเนินการภายใต้กรอบกฎหมายปัจจุบัน และให้สิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุน (2) กำหนดบทบาทการมีส่วนร่วมของภาคีการพัฒนา โดยภาครัฐ : ให้สิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุน พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน จัดระบบอำนวยความสะดวก ภาคเอกชน : ลงทุน และประชาชน : มีส่วนร่วมและได้รับประโยชน์จากการพัฒนาและ (3) กำหนดพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตามเขตการปกครอง เพื่อให้สิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนรูปแบบต่างๆ โดยมิได้รอนสิทธิใดๆ ที่มีอยู่เดิมตามกฎหมายหรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง

กลไกการดำเนินงาน สศช.ในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานหลักประสานและขับเคลื่อนการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ และสำนักนายกรัฐมนตรี โดยมีการดำเนินงานที่สำคัญ ได้แก่ (1) สิทธิประโยชน์ กำหนดพื้นที่ และศูนย์บริการเบ็ดเสร็จด้านการลงทุนโดยร่วมกับกระทรวงการคลัง และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (2) ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จด้านแรงงาน สาธารณสุข และความมั่นคง โดยร่วมกับกระทรวงแรงงาน (3) โครงสร้างพื้นฐานและด่านศุลกากร โดยร่วมกับกระทรวงคมนาคม (4) การจัดหาที่ดิน และบริหารจัดการ โดยร่วมกับกระทรวงมหาดไทยและ (5) การตลาด/ประสานนักลงทุนและประสานการขับเคลื่อนระดับพื้นที่

ความก้าวหน้า สศช.ได้จัดการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) แล้ว 4 ครั้ง ได้อนุมัติการดำเนินงานเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษอย่างเป็นรูปธรรม ในเรื่องที่สำคัญรวม 5 เรื่อง ดังนี้

การกำหนดขอบเขตพื้นที่ และการจัดเตรียมที่ดินของรัฐเพื่อให้ผู้ประกอบการเช่าดำเนินงานแบ่งเป็น ระยะที่ 1 ตาก สระแก้ว มุกดาหาร สงขลา และตราด รวม 36 ตำบล ใน 10 อำเภอ และระยะที่ 2 หนองคาย นราธิวาส เชียงราย นครพนม และกาญจนบุรี รวม 54 ตำบล 13 อำเภอ

ด้านแรงงานอนุญาตให้ใช้แรงงานต่างด้าว และการจัดระบบแรงงานต่างด้าวแบบไป-กลับ โดยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2558 เห็นชอบการจัดระบบการจ้างคนต่างด้าวสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ที่เข้ามาทำงานในลักษณะไป-กลับ หรือตามฤดูกาล ตามมาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 (ให้สามารถใช้บัตรผ่านแดนหรือเอกสารที่ประเทศต้นทางออกให้แทนหนังสือเดินทาง)

มาตรการส่งเสริมการลงทุน 1) มาตรการด้านภาษีสำหรับกิจการที่ไม่ได้รับการส่งเสริมจาก BOI ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลจากร้อยละ 20 เป็นร้อยละ 10 ใน 10 รอบระยะเวลาบัญชี 2) มาตรการเงินกู้เงื่อนไขผ่อนปรนอยู่ระหว่างการพิจารณา 3) มาตรการส่งเสริมการลงทุนผ่าน BOI จำแนกเป็น 2 กรณี

(1) กรณีเป็นกิจการทั่วไปในประเภทกิจการที่อยู่ในข่ายให้การส่งเสริม ให้ได้รับสิทธิประโยชน์เท่ากับการลงทุนในพื้นที่ 20 จังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวต่ำ ดังนี้ ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติม เป็นเวลา 3 ปี กรณีได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 8 ปีให้ได้รับลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 เพิ่มอีก 5 ปี หักค่าขนส่ง ค่าไฟฟ้า และค่าประปา 2 เท่าหักค่าติดตั้งสิ่งอำนวยความสะดวกได้ร้อยละ 25 ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรและวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตเพื่อการส่งออกสิทธิประโยชน์อื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับภาษีอากร

(2) กรณีเป็นกิจการเป้าหมายสำหรับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตามที่คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษกำหนด ให้ได้รับสิทธิประโยชน์ ดังนี้ ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 8 ปี และลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 เพิ่มอีก 5 ปี หักค่าขนส่ง ค่าไฟฟ้า และค่าประปา 2 เท่าหักค่าติดตั้งสิ่งอำนวยความสะดวกได้ร้อยละ 25 ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร และวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตเพื่อการส่งออกสิทธิประโยชน์อื่นๆที่ไม่เกี่ยวข้องกับภาษีอากรกิจการเป้าหมาย คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนมีมติใน

การประชุมครั้งที่ 2/2558 เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2558 เห็นชอบกิจการเป้าหมายในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตามมติ กนพ.ครั้งที่ 2/2558 ใน 13 กลุ่มกิจการ

โครงการทวายการดำเนินงานโครงการทวาย แบ่งออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่ (1) การพัฒนาโครงการทวายระยะแรก (Initial Phase Development) และ (2) การพัฒนาโครงการทวายระยะสมบูรณ์ (Full Phase Development) ระยะแรก คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างภายในปี 2558 เป็นก้าวสำคัญที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นานาประเทศ สร้างภาพลักษณ์โครงการที่เป็นสากล และวางรากฐานสู่การพัฒนาโครงการระยะสมบูรณ์ที่มีความยั่งยืนโดยโครงการระยะแรกจะเป็นการพัฒนาพื้นที่ขนาดเล็ก ได้แก่ พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมระยะแรก 27 ตารางกิโลเมตร จากพื้นที่โครงการทั้งหมด 196 ตารางกิโลเมตร และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาโครงการทวายและเกิดการจ้างงานประชาชนในท้องถิ่นโดยเร็ว

กลไกการดำเนินงาน สศช.ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการร่วมระดับสูงระหว่างไทย-เมียนมา (Joint-High level Committee : JHC) และคณะกรรมการประสานงานร่วมระหว่างไทย-เมียนมา (Joint Coordinating Committee : JCC) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงการคลัง และกระทรวงคมนาคม ฯลฯ ได้ทำงานร่วมกับฝ่ายเมียนมาเพื่อขับเคลื่อนโครงการทวายให้บังเกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง

ความก้าวหน้าของการดำเนินงานคาดว่าเอกชนไทย และภาครัฐเมียนมา จะลงนามในสัญญาสัมปทานโครงการทวายระยะแรกในเดือนพฤษภาคม 2558 หลังจากผ่านการพิจารณาของครม.เมียนมา โดยโครงการระยะแรก ประกอบด้วย นิคมอุตสาหกรรมระยะแรก ซึ่งเน้นอุตสาหกรรมแรงงานเข้มข้น เนื้อที่ 27 ตารางกิโลเมตร ภายใต้กรอบระยะเวลา 8 ปี ถนนสองช่องทางจากเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายถึงชายแดนไทยที่บ้านพุน้ำร้อน จังหวัดกาญจนบุรี ความยาว 138 กิโลเมตร (สัมปทานเฉพาะในส่วนการดำเนินงานและการบำรุงรักษาถนน)

ท่าเรือเล็กขนาด 2 ท่า รองรับเรือบรรทุกสินค้าอเนกประสงค์ความจุ400 TEU และเรือ Feeder Vessel ความจุ 1,600 TEU โรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (ได้แก่ โรงไฟฟ้าชั่วคราวขนาด 15 MW ใช้ระหว่างการก่อสร้าง/โรงไฟฟ้าแบบ Boil-off Gas/และโรงไฟฟ้าแบบ Combined Cycle Gas Turbine ขนาด 450 MW) อ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ระบบโทรคมนาคมแบบ Landline สำหรับอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์ ที่อยู่อาศัยสำหรับแรงงานในพื้นที่ รองรับประชากรประมาณ 126,000 คน

คลังเชื้อเพลิง LNG สำหรับใช้ในโรงไฟฟ้าและนิคมอุตสาหกรรม (อยู่ระหว่างปรับปรุงรายละเอียดโครงการ) ความช่วยเหลือโครงการถนนสองช่องทางเชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายสู่ชายแดนไทย-พม่า ฝ่ายพม่าได้แสดงความประสงค์ที่จะขอรับการสนับสนุนเงินกู้เงื่อนไขผ่อนปรนจากไทยเพื่อก่อสร้างโครงการถนนสองช่องทางเชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายสู่ชายแดนไทย-พม่า ซึ่งเป็นโครงการสำคัญเร่งด่วนในโครงการทวายระยะแรก โดย สศช.ร่วมกับกระทรวงการคลังจะนำข้อเสนอการให้การสนับสนุนเงินกู้เงื่อนไขผ่อนเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อขอความเห็นชอบและฝ่ายพม่าจะนำเสนอต่อรัฐสภาพม่าเพื่อขอความเห็นชอบต่อไป

การพัฒนาโครงการทวายระยะสมบูรณ์ ประกอบด้วย (1) นิคมอุตสาหกรรมสำหรับอุตสาหกรรมหนัก อุตสาหกรรมขนาดกลาง ขนาดเบารวมทั้งอุตสาหกรรมบริการรวมพื้นที่ขายทั้งหมดประมาณ 132 ตารางกิโลเมตร (2) ท่าเรือน้ำลึกสามารถรับเรือบรรทุกขนาดใหญ่และรองรับปริมาณสินค้ากว่า 170 ล้านตันและ 5 ล้าน TEU ต่อปี (3) ถนนสี่ช่องทางจากเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายถึงชายแดนไทยที่บ้านพุน้ำร้อน จังหวัดกาญจนบุรี ความยาว 132 กิโลเมตร (4) ระบบน้ำเพื่ออุตสาหกรรมและครัวเรือนขนาด 900,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน รวมทั้งระบบบำบัดน้ำเสีย และ (5) ระบบไฟฟ้าและการพัฒนาเมือง ที่พักอาศัย ศูนย์ราชการ สำนักงานที่พักผ่อนหย่อนใจ โรงแรม และศูนย์การค้า ปัจจุบันสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) ร่วมกับ สศช. อยู่ระหว่างการศึกษาจัดทำแผนแม่บทโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน 2558 โดยประสานข้อมูลผลการศึกษาและความเห็นจากประเทศญี่ปุ่นทั้งในด้านการวางแผนแม่บทโครงการ และการศึกษาความเป็นไปได้เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญบทบาทการมีส่วนร่วมของประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากโครงการทวายมีความสอดคล้องกับกลยุทธ์กระจายการลงทุนของญี่ปุ่น (Thailand - Plus-One) โดยให้ไทยเป็นฐานในการกระจายการลงทุนสู่ประเทศเพื่อนบ้าน (CLMV) อีกทั้งโครงการทวายยังสอดคล้องกับแนวทางเชื่อมโยงฐานการผลิตสำคัญของไทยและประเทศเพื่อนบ้านกับอินเดีย (Mekong-India Economic Corridor Development) ที่ญี่ปุ่น (และอินเดีย) ให้ความสำคัญบทบาทของญี่ปุ่นในขณะนี้จะมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมพัฒนาโครงการทวายระยะสมบูรณ์ร่วมกับเมียนมาและไทย ผ่านทางการให้ข้อมูลผลการศึกษาที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการจัดทำแผนแม่บทโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย นอกจากนี้ ญี่ปุ่นอยู่ระหว่างพิจารณาให้ความช่วยเหลืออย่างเป็นทางการ (ODA) ให้แก่ SPV เพื่อให้การดำเนินโครงการระยะแรกประสบผลสำเร็จ และส่งผลดีต่อการพัฒนาระยะสมบูรณ์ต่อไป




กำลังโหลดความคิดเห็น