xs
xsm
sm
md
lg

สธ.จัดทีมหมอครอบครัวดูแลคนพิการสนองพระราชดำริ “สมเด็จพระเทพฯ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สธ. จัดทีมหมอครอบครัวดูแลคนพิการทุกบ้านทุกพื้นที่ สนองแนวพระราชดำริ “สมเด็จพระเทพฯ” เรื่องจัดระบบดูแลฟื้นฟูคนพิการ เผยแนวโน้มคนพิการเพิ่มขึ้น ทั้งหนุ่มสาวและผู้สูงอายุ สาเหตุใหญ่จากอุบัติเหตุและโรคเรื้อรัง

วันนี้ (31 มี.ค.) ที่ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการ และคอนเวนชันเซนเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดการประชุมวิชาการเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสครบรอบ 25 ปี การจัดตั้งศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ ซึ่งในปีนี้เน้น “การยกระดับบริการด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์เพื่อมุ่งมั่นสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน (Enchancing Rehabilitation Services Toward Quality of life)” และทรงบรรยายพิเศษเกี่ยวกับคนพิการ โดยมี ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร และข้าราชการ สธ.เฝ้ารับเสด็จฯ

ศ.นพ.รัชตะ กราบทูลรายงานว่า การจัดประชุมวิชาการครั้งนี้ เพื่อสำนึกในพระกรุณาธิคุณและเผยแพร่พระเกียรติคุณของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงสนับสนุนกิจกรรมด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ของคนพิการและผู้ป่วยตลอดมา โดยทรงมีพระราชดำริให้ สธ. จัดตั้งศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ เมื่อปี 2533 เพื่อเป็นต้นแบบศูนย์บริการฟื้นฟูคนพิการและผู้ป่วย เป็นสถาบันพัฒนางานวิชาการ องค์ความรู้ เทคโนโลยี และผลักดันด้านนโยบายการดูแลสุขภาพคนพิการและผู้ป่วยระดับประเทศ เพื่อให้คนพิการและผู้ป่วยสามารถช่วยเหลือตนเองได้มากที่สุด ไม่เพิ่มภาระแก่ครอบครัวและสังคม ใช้ชีวิตได้เท่าเทียมกับบุคคลอื่น ส่งผลให้มีการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนพิการเป็นอย่างมาก

สธ. ได้เร่งสนองพระราชดำริ โดยปีนี้ได้จัดทีมหมอครอบครัวออกเยี่ยมบ้าน เพื่อดูแลประชาชน 3 กลุ่มที่ต้องได้รับการช่วยเหลือ ได้แก่ ผู้ป่วยติดเตียง คนพิการ และผู้ป่วยระยะสุดท้ายของชีวิต สำหรับคนพิการทั่วประเทศมีประมาณ 1.5 ล้านคน ส่วนใหญ่พิการด้านการเคลื่อนไหว ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น พบได้ทั้งหนุ่มสาวและผู้สูงอายุ สาเหตุใหญ่มาจากอุบัติเหตุและโรคเรื้อรัง โดยเฉพาะเบาหวาน และโรคจากการสูบบุหรี่ ทำให้เส้นเลือดส่วนปลายตีบแข็ง จนต้องตัดขาทิ้ง โดยคนพิการจะมีหมอครอบครัวประจำตัว ได้รับการดูแลฟื้นฟูสมรรถภาพ รวมทั้งการขึ้นทะเบียนเป็นคนพิการ เพื่อรับสิทธิสวัสดิการด้านอื่นๆ ด้วย ขณะนี้ มีทีมหมอครอบครัวแล้ว 15,000 ทีม ตั้งแต่ระดับตำบล ทำงานเชื่อมโยงกับทีมหมอครอบครัวระดับอำเภอและจังหวัด เพื่อดูแลผู้ป่วยติดเตียง คนพิการ และผู้ป่วยระยะสุดท้ายของชีวิต ประชาชนทุกคนจะมีหมอครอบครัวประจำตัว คอยดูแลเป็นที่ปรึกษา และจัดการส่งต่อสู่โรงพยาบาลกรณีจำเป็น ตั้งเป้าขยายให้ได้ 30,000 ทีมภายในสิ้นปีนี้ ยืนยันว่า จากนี้ไปคนพิการทุกคนจะไม่ถูกทอดทิ้ง ขณะที่คนพิการที่ยังมีสมรรถนะด้านอื่นๆ สามารถทำงานประกอบอาชีพได้

“สำหรับงานบริการทำกายอุปกรณ์เทียมเพื่อช่วยคนพิการในการดำรงชีวิตประจำวันนั้น ขณะนี้ ทำได้ร้อยละ 80 ที่เหลืออีกร้อยละ 20 จะมีหน่วยบริการทำกายอุปกรณ์เคลื่อนที่ซึ่งเป็นทีมเสริม โดยเฉพาะขาเทียม ซึ่งศูนย์สิรินธรฯ มีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าสามารถทำเสร็จภายใน 3 วัน มีคุณภาพดี และราคาไม่แพง หากเป็นขาเทียมใต้เข่า ราคาประมาณ 8,000 บาท ส่วนขาเทียมเหนือเข่าราคา 25,000 บาท ซึ่งถูกกว่าต่างประเทศหลายเท่าตัว เป็นบริการฟรี” รมว.สธ. กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น