สธ.ตรวจเยี่ยมการทำงานหมอครอบครัว 30,000 ทีมแรกใน 250 อำเภอ “หมอรัชตะ” ฟุ้ง! ผลน่าพอใจ ถือว่าเดินมาถูกทาง เข้าถึงใจ ชี้เข้าถึงปัญหาของชาวบ้านทั้งเขตเมืองและชนบทได้ทุกมิติ พร้อมเดินหน้าต่อระยะที่ 2 เดือนเมษายนนี้ ขยายครบทุกอำเภอ มั่นใจช่วยลดความเหลื่อมล้ำสังคม สร้างความมั่งคั่งประเทศชาติได้
วันนี้ (7 ก.พ.) ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รมช.สาธารณสุข และคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข เดินทางไปตรวจเยี่ยมศูนย์แพทย์วัดหนองแวง อ.เมือง จ.ขอนแก่น เครือข่ายบริการประชาชนในเขตเมืองระดับปฐมภูมิของโรงพยาบาลขอนแก่น เพื่อสร้างขวัญกำลังใจเจ้าหน้าที่และรับฟังผลการดำเนินการของทีมหมอครอบครัว ดูแลประชาชนในเขต อ.เมือง ซึ่งมีพื้นที่รับผิดชอบ 16 ตำบล 231 หมู่บ้าน ประชากรรวม 384,343 คน มีหน่วยบริการปฐมภูมิรวม 30 แห่ง ประกอบด้วยศูนย์สุขภาพชุมชนเขตเมือง 9 แห่ง และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลอีก 21 แห่ง มีทีมหมอครอบครัวทั้งหมด 252 ทีม แบ่งเป็นระดับอำเภอ 11 ทีม ระดับตำบล 241 ทีม โดย 1 ทีมดูแลประชากร 1,408 คน ครอบคลุมทุกครัวเรือน ทุกกลุ่มวัย
ศ.นพ.รัชตะกล่าวว่า การดำเนินงานของทีมหมอครอบครัวในเครือข่ายบริการสุขภาพโรงพยาบาลขอนแก่น พบว่ามีการวางแผนการดูแลผู้สูงอายุระยะยาวที่มีจำนวน 34,467 คน ที่ชัดเจนและหลายมิติ ทั้งปรับสถานที่พักอาศัยให้ปลอดภัยกับผู้สูงอายุ การดูแลสวัสดิการและรายได้ มีชมรมผู้สูงอายุต้นแบบ มีผู้ดูแลผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่อง มีผู้สูงอายุที่ติดเตียงจำนวน 69 คน ได้รับการเยี่ยมบ้านและดูแลครบทุกคน มีผู้พิการขาขาด 141 ราย จากผู้พิการทั้งหมด 6,376 ราย ทุกคนได้รับการเยี่ยมบ้านและได้รับการช่วยเหลือใส่ขาเทียมครบถ้วน 100% เช่นกัน สำหรับ นโยบายทีมหมอครอบครัว ที่นำร่องรุ่นแรกตั้งแต่ 1 มกราคม 2558 จำนวน 30,000 ทีมในพื้นที่ 250 อำเภอทุกจังหวัด มีเป้าหมายดูแลประชาชนใกล้ชิด 3 กลุ่มใหญ่รวมเกือบ 2 ล้านคน คือ1.ผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้หรือกลุ่มติดเตียง 163,860 คนคิดเป็นร้อยละ 1.8 ของผู้สูงอายุที่มี 9 ล้านกว่าคน 2.ผู้พิการ 1,580,525 คน และ3.ผู้ป่วยระยะสุดท้ายของชีวิต 41,557 คน
ทั้งนี้ จากการตรวจเยี่ยมรับฟังผลงานของทีมหมอครอบครัวที่อ.น้ำพอง อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น และหลายจังหวัด พบว่าได้ผลดีมาก ประชาชนยากจน ด้อยโอกาส ได้รับการดูแลช่วยเหลือ เข้าถึงใจ เข้าถึงปัญหาของชาวบ้าน ทั้งเขตเมืองและชนบทได้ทุกมิติดีกว่าประเทศตะวันตกที่มีระบบการแพทย์เจริญแล้วแต่ยังเข้าไม่ถึงชุมชน เป็นที่ยอมรับของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขณะที่บางพื้นที่ เช่น อ.ลำสนธิ จ.ลพบุรี พบว่าการดำเนินการทีมหมอครอบครัวในบริบทเขตเมืองกับเขตชนบทมีความแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องครอบครัวเชิงเดี่ยว ลูกหลานออกไปทำงานนอกบ้าน ทำให้ทีมหมอครอบครัวในเขตเมืองต้องบริหารจัดการที่ต่างกัน แต่หลักการยังเหมือนเดิม คือต้องมีการทำงานที่สอดประสานกันระหว่างทีมจากโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ทำให้ทำงานได้ราบรื่น สามารถดูแลประชาชนได้ทั่วถึง อย่างไรก็ตาม การทำงานของทีมหมอครอบครัว นับเป็นก้าวย่างที่ดีในการลดความเหลื่อมล้ำที่ยั่งยืน ประการสำคัญผลงานได้สร้างความสุขความภูมิใจแก่เจ้าหน้าที่ทำงานเป็นอันมาก พร้อมเดินหน้าต่อในช่วงที่ 2 คือตั้งแต่เมษายน 2558 จะขยายเต็มพื้นที่ทุกอำเภอทุกจังหวัด มั่นใจช่วยลดความเหลื่อมล้ำสังคม สร้างความมั่งคั่งประเทศชาติ
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่