xs
xsm
sm
md
lg

ห่วงภัยแล้ง 4,300 หมู่บ้าน เสี่ยงท้องร่วง สั่งคุมเข้ม “น้ำ-น้ำแข็ง-ไอศกรีม-ห้องน้ำ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สธ.เผย 2 เดือนแรกป่วยอุจจาระร่วงแล้ว 1.5 แสนราย สั่งคุมเข้มน้ำดื่ม น้ำแข็ง ไอศกรีม ห้องน้ำต้องสะอาด ห่วง 4,300 กว่าหมู่บ้านประสบภัยแล้ง เสี่ยงระบาดหนัก ย้ำห้ามแช่เนื้อสัตว์ปนน้ำแข็งใช้บริโภค ยันไทยป่วยกาฬหลังแอ่นน้อยมาก สั่งเฝ้าระวังคนสัมผัสหญิงเขมรตายแล้ว

ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ช่วงฤดูร้อนเชื้อแบคทีเรียจะเจริญเติบโตดี ประชาชนเสี่ยงเจ็บป่วยง่าย โดยเฉพาะโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ 6 โรค คือ อหิวาตกโรค อาหารเป็นพิษ อุจจาระร่วง ไทฟอยด์ บิด และไวรัสตับอักเสบ เอ ยิ่งพื้นที่ภัยแล้ง ขาดแคลนน้ำดื่มสะอาดจะมีความเสี่ยงสูง ขณะนี้มี 18 จังหวัด 4,300 กว่าหมู่บ้าน จึงมอบหมายให้กรมควบคุมโรค (คร.) เฝ้าระวังสถานการณ์เจ็บป่วย ให้กรมอนามัยรณรงค์เรื่องความสะอาดห้องน้ำสาธารณะ ตลาดสด ร้านอาหาร ให้ อย.ควบคุมมาตรฐานการผลิตน้ำดื่ม น้ำแข็ง และไอศกรีม ที่ประชาชนโดยเฉพาะเด็กๆ นิยมบริโภคในหน้าร้อน และให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) รณรงค์ความสะอาดร้านอาหาร โรงงานผลิตน้ำดื่ม แหล่งผลิตน้ำประปา โรงงานผลิตน้ำแข็ง ไอศกรีม ตลาดสด และส้วมสาธารณะ พร้อมทั้งเฝ้าระวังโรค หากมีรายงานผู้ป่วยให้ส่งทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วควบคุมป้องกันทันที เพื่อไม่ให้แพร่ระบาด

ด้าน นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดี คร.กล่าวว่า ในปี 2557 พบโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ 1.25 ล้านราย เสียชีวิต 9 ราย โดยพบอุจาระร่วงมากที่สุด 1.1 ล้านราย เสียชีวิต 9 ราย ส่วนปี 2558 ตั้งแต่ต้นปีถึงเดือนกุมภาพันธ์ พบ 176,804 ราย เสียชีวิต 1 ราย โดยอุจจาระร่วงยังพบมากอันดับ 1 เช่นเดิมคือ 1.5 แสนราย การป้องกันทำได้ในหลักการกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ ส่วนอาหารที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษคือ มีกะทิเป็นส่วนผสม จะบูดเสียง่าย รวมทั้งอาหารทะเล ส้มตำ ยำต่างๆ อาหารปรุงสุกๆ ดิบๆ หรือมีแมลงวันตอม ทั้งนี้ ตลอดฤดูร้อนปีนี้ตั้งแต่กุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคม กรมฯ ได้จัดเตรียมทีมสอบสวนโรคฯ กว่า 2,700 ทีมทั่วประเทศ สามารถลงพื้นที่ควบคุมโรคภายใน 24 ชั่วโมง

ขอเตือนพ่อค้าแม่ค้าที่ขายอาหารตามสั่ง อย่าแช่เย็นอาหารดิบ ทั้งเนื้อสัตว์ ผักสด หรือน้ำดื่มบรรจุขวดในถังเดียวกับน้ำแข็งที่ใช้บริโภค เพราะเชื้อโรคที่ติดมากับอาหารดิบเหล่านี้จะปนเปื้อนในน้ำแข็งทำให้เกิดโรคอุจจาระร่วงได้ และพบได้บ่อยมากเนื่องจากในช่วงที่มีอากาศร้อน ประชาชนจะมีการบริโภคน้ำแข็งสูงกว่าปกติ 3-5 เท่าตัว” อธิบดี คร.กล่าว และว่าหากป่วยสามารถดูแลได้โดยให้กินอาหารตามปกติ แต่เป็นอาหารอ่อน ย่อยง่าย เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก แกงจืดและให้ดื่มผงน้ำตาลเกลือแร่แทนน้ำ หากอาการไม่ดีขึ้น ยังถ่ายบ่อย อาเจียน กินไม่ได้ กระหายน้ำมากกว่าปกติ มีไข้สูง หรือถ่ายอุจจาระเป็นมูกปนเลือด ให้รีบไปพบแพทย์

ด้าน นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ. กล่าวถึงกรณีพบหญิงกัมพูชาเสียชีวิตจากโรคไข้กาฬหลังแอ่น ที่ จ.ฉะเชิงเทรา ว่า โรคนี้ไม่ใช่โรคใหม่ พบได้ทั่วโลกเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย “ไนซีเรีย มินิงไจติดีส” ส่วนประเทศไทยพบได้น้อยมาก เพราะระบบการควบคุมป้องกันดี พบผู้ป่วยประปรายปีละ 20-30 ราย ในช่วง 5 ปีหลังนี้ พบน้อยกว่า 20 ราย เสียชีวิตประมาณ 2 ราย จึงไม่ต้องวิตกกังวล ส่วนกรณีดังกล่าวทีมสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว สสจ.ฉะเชิงเทรา สระแก้ว ได้ลงพื้นที่แล้ว โดยประสานกับสำนักอนามัย กทม.ออกสอบสวนและติดตามเฝ้าระวังผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้เสียชีวิต เพื่อควบคุมป้องกันการแพร่เชื้อ โดยเฝ้าระวังอาการเป็นเวลา 10 วัน ตามระบบ โดยโรคนี้มียาป้องกันและมียารักษาหายขาด

นพ.โสภณกล่าวว่า โรคไข้กาฬหลังแอ่นจำนวนผู้ป่วยลดลง ไม่มีการระบาดเป็นกลุ่มก้อน ในปี 2558 พบ 2 ราย ที่ปัตตานี และ กทม. ไม่มีผู้เสียชีวิต โรคนี้ติดต่อโดยการสัมผัสใกล้ชิด ทางน้ำมูก น้ำลาย สารคัดหลั่ง อาการป่วยคือ มีไข้สูง ปวดศีรษะ อาเจียน ชัก คอแข็ง เนื่องจากเยื่อหุ้มสมองอักเสบอย่างรุนแรง ส่วนใหญ่จะมีจุดเลือดออกใต้ผิวหนังเป็นจุดแดงทั่วตัว ต่อมาเปลี่ยนเป็นจุดสีคล้ำ จนกลายเป็นสะเก็ดสีดำ เชื้อมีระยะฟักตัว 2-10 วัน นานสุด 11 วัน สามารถเป็นได้กับคนทุกกลุ่มอายุ แต่พบในเด็กมากกว่า อย่างไรก็ตาม โรคนี้ติดต่อกันยาก ยกเว้นคนใกล้ชิด แต่รักษาหายได้ มียาฆ่าเชื้อซึ่งมีใช้ในโรงพยาบาลทั่วประเทศ

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น