xs
xsm
sm
md
lg

ปลัด สธ.ค้านยุบ รพ.อำเภอเป็น OPD รพ.ใหญ่ ชี้ถ่ายงานช่วยมีเงิน ไม่ต้องปิด รพ.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ปลัด สธ.ค้านข้อเสนอ “หมอมงคล” ยุบ รพ.อำเภอเป็น OPD รพ.ใหญ่ ชี้แนวทางปฏิรูปคือ กระจายงาน และผู้ป่วยจาก รพ.ใหญ่ ไป รพช.ให้มีงาน และมีเงิน ไม่ใช่รวมงานไว้ที่ รพ.ใหญ่ ยก “รพ.บางกล่ำ-รพ.นาหม่อม” ต้นแบบลดปัญหาขาดทุนได้ ช่วยบุคลากรรู้สึกมีคุณค่าในการทำงาน ลดแออัด รพ.ใหญ่ เผยเล็งปั้นแพทย์เฉพาะทาง 6 สาขา ลง รพช.ขนาดใหญ่ 20 แห่งทั่วประเทศ

นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณี นพ.มงคล ณ สงขลา อดีต รมว.สาธารณสุข เสนอให้ สธ.ปรับโครงสร้างโดยยุบโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ที่ดูแลประชากรในพื้นที่น้อยกว่า 2 หมื่นคน ซึ่งประสบปัญหาภาวะขาดสภาพคล่อง ให้เป็นอาคารผู้ป่วยนอกสำหรับโรงพยาบาลขนาดใหญ่ใกล้เคียง ว่า แนวทางดังกล่าวจะกลายเป็นการสร้างภาระงานให้โรงพยาบาลขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นหรือไม่ เพราะการปฏิรูประบบบริการสุขภาพของ สธ.ขณะนี้คือ เขตสุขภาพที่พยายามถ่ายงานจำนวนมากในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ซึ่งทำให้มีคนไข้รอคิวจำนวนมาก ไปยังโรงพยาบาลขนาดเล็ก หรือ รพช.ใกล้เคียงที่ไม่มีงาน ไม่ใช่ยุบงานทั้งหมดมารวมไว้ที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ ซึ่งการถ่ายงานไปยัง รพช. ก็จะช่วยให้เขามีงาน และมีเงิน ที่สำคัญยังเป็นการสร้างความรู้สึกของการมีคุณค่าที่ได้ทำงานด้วย

นพ.ณรงค์ กล่าวว่า ยกตัวอย่าง รพ.บางกล่ำ จ.สงขลา ซึ่งเป็น รพช.ที่ใกล้โรงพยาบาลขนาดใหญ่นั่นก็คือ รพ.หาดใหญ่ พบว่า ที่ผ่านมา รพ.บางกล่ำ ไม่มีคนไข้ในเลย อัตราการครองเตียงไม่ถึง 40% ส่งผลให้ได้รับการจัดสรรงบประมาณบัตรทองแต่ละปีเป็นจำนวนน้อย จนประสบปัญหาภาวะขาดทุน จึงมีการหารือร่วมกันระหว่างสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด รพ.หาดใหญ่ และ รพ.บางกล่ำ ว่า ควรปรับระบบและมีการถ่ายงานที่ รพ.บางกล่ำ สามารถทำได้มา เพื่อให้เกิดการใช้เตียงอย่างคุ้มค่า จึงเลือกงานส่วนของเวชศาสตร์ฟื้นฟูมาดำเนินการ ก็ช่วยลดความแออัดใน รพ.หาดใหญ่ได้

“ข้อกังวลที่ว่า รพช.จะไม่ยอมรับการทำงานนั้น ขึ้นอยู่กับการเจรจา หากเจรจาดี กระจายผู้ป่วยให้ รพช.ดูแลในส่วนที่เขาสามารถทำได้ เขาก็จะยอมรับงาน อย่าง รพ.บางกล่ำ จากการที่พูดคุยกับบุคลากรก็พบว่า พยาบาลบอกว่า หลังจากได้รับการถ่ายงานมาเขารู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าที่ได้ทำงาน หรืออย่าง รพ.นาหม่อม จ.สงขลา ก็เช่นกัน เภสัชกรประจำโรงพยาบาลสามารถเตรียมยามะเร็งที่มีความยุ่งยากได้ เพราะเมื่อรับกระจายงาน และผู้ป่วยมา หมอโรงพยาบาลใหญ่ก็มาสอนหมอ รพช. พยาบาลมาสอนพยาบาล เภสัชกรมาสอนเภสัชกร รพช.ก็สามารถอยู่ได้ไม่จำเป็นต้องปิดตัว ซึ่งจริงๆ แล้วยังมีโรงพยาบาลรอบหาดใหญ่อีกหลายแห่งที่เตรียมจะเดินหน้าหารือว่าจะพร้อมรับบริการอะไรไปดูแลได้บ้าง” ปลัด สธ. กล่าว

นพ.ณรงค์ กล่าวว่า นอกจากนี้ สธ.ยังได้วางแผนพัฒนา รพช.ขนาดใหญ่ 120 เตียงขึ้นไป มีอยู่ 20 แห่งทั่วประเทศ ให้มีศักยภาพในการดูแลรักษาผู้ป่วย มีแพทย์เฉพาะทาง 6 สาขาหลัก ได้แก่ อายุรกรรม ศัลยกรรม สูตินรีเวช เด็ก กระดูก และวิสัญญี สาขาละ 2 คนเป็นอย่างน้อย มีห้องผ่าตัด ห้องคลอด หอผู้ป่วยหนัก ห้องปฏิบัติการ และห้องเอกซเรย์ เพื่อประกอบการวินิจฉัยรักษาของแพทย์เฉพาะทาง รองรับผู้ป่วยที่ส่งต่อมาจาก รพช.ขนาดเล็กในพื้นที่ ลดการส่งต่อไปโรงพยาบาลจังหวัด และสนับสนุนการทำงานของทีมหมอครอบครัวของแต่ละอำเภอ

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น