มส.แถลงมติ 20 ก.พ. ไม่มีลงมติ ชี้ ธัมมชโย เพียงรับทราบรายงานผู้แทน พศ. พบกับคณะกรรมการปฏิรูปฯ พระพุทธศาสนาเท่านั้น ด้านโฆษก มส. ระบุ เจ้าคณะผู้ปกครองมีวินิจฉัยถึงที่สุดแล้ว หากรื้อฟื้นใหม่ผิดพระธรรมวินัย ส่วนเรื่องพุทธอิสระ ต้องเป็นหน้าที่ของเจ้าผู้ปกครองดำเนินการ
วันนี้ (27 ก.พ.) ที่อาคารสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม มีการประชุมมหาเถรสมาคม (มส.) ครั้งที่ 6/2558 โดยมีสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เป็นประธาน โดยพระพรหมเมธี กรรมการและโฆษก มส. กล่าวภายหลังการประชุม มส. ว่า การประชุม มส.ครั้งที่ 6/2558 มส. ได้รับรองมติการประชุม มส. ครั้งที่ 5/2558 เมื่อวันที่ 20 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยมติครั้งที่ 5 มีรายละเอียด ดังนี้ มส. ได้รับทราบรายงาน ที่ นายพนม ศรศิลป์ ผอ. สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ในฐานะเลขาธิการ มส. แจ้งต่อที่ประชุมว่า เมื่อวันที่ 17 ก.พ. 2558 นายไพบูลย์ นิติตะวัน ประธานกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฎิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้มีหนังสือเชิญ ผอ.พศ.หรือผู้แทน พศ. เข้าร่วมประชุมชี้แจง และแสดงความคิดเห็นในประเด็นดังต่อไปนี้ 1. กรณีพระลิขิตของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก กรณีเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ต้องอาบัติปาราชิก และความคืบหน้า ในการดำเนินการตามพระลิขิต 2. ความคืบหน้าการจัดทำและการเสนอร่างพ.ร.บ.อุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา
พระพรหมเมธี กล่าวว่า ผู้แทน พศ. ได้เข้าชี้แจงต่อคณะกรรมการชุดดังกล่าว มีสาระสำคัญตามเอกสารที่เกี่ยวข้องสรุปได้ ดังนี้ กรมการศาสนา ได้นำพระลิขิตเสนอที่ประชุม มส. ครั้งที่ 15/2542 เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2542 และในการประชุมมส. ครั้งที่ 16/2542 เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2542 ที่ประชุม มส. มีมติสนองพระดำริให้ชอบด้วยกฏหมาย พระธรรมวินัย และกฎมหาเถรสมาคม ต่อมาในการประชุมครั้งที่ 17/2542 เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2542 ที่ประชุมมส.ได้รับทราบตามรายงานของอธิบดีกรมการศาสนาที่ว่า พระราชภาวนาวิสุทธิ์ เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ได้ยืนยันตามหนังสือของวัด ลงวันที่ 9 พ.ค.2542 ซึ่งแสดงเจตนาที่จะมอบกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่วัดพระธรรมกาย และรายงานต่อที่ประชุม มส. เพิ่มเติมว่า ต่อมา นายมาณพ พลไพรินทร์ และ นายสมพร เทพสิทธา ต่างได้มีหนังสือลงวันที่ 3 ต.ค. 2543 และลงวันที่ 5 ต.ค. 2543 ตามลำดับ เป็นโจทย์ฟ้องเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายว่าลวงละเมิด พระธรรมวินัย ด้วยการบิดเบือนหลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนา อวดอุตริมนุสธรรมที่ไม่มีในตน ลักทรัพย์ ฉ้อโกง และหลอกลวงประชาชน
พระพรหมเมธี กล่าวว่า การพิจารณาดำเนินการด้านพระธรรมวินัย ในชั้นนี้อยู่ในความรับผิดชอบของเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี ในฐานะผู้พิจารณาตามกฎ มส. ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2521) ว่าด้วยการลงนิคหกรรม แต่เนื่องจากในขณะนั้น ได้มีการแจ้งความในฝ่ายอาณาจักรให้ดำเนินคดีอาญาต่อเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย การดำเนินการตามพระธรรมวินัยจึงต้องรอไว้ก่อน ตามข้อ 15(1) แห่งกฎ มส.ฉบับที่ 11อย่างไรก็ตาม คณะสงฆ์ได้มีคำสั่งพักเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายจากการปฏิบัติหน้าที่ เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2542 ต่อมา นายมาณพ ได้มีหนังสือวันที่ 15 พ.ค. 2549 ถอนฟ้องวัดพระธรรมกายในทุกกรณี เมื่อศาลอาญาได้มีคำสั่งในวันที่ 22 ส.ค. 2549 พนักงานอัยการถอนฟ้องวัดพระธรรมกาย และจำหน่ายคดีออกเสียจากระบบ โดยอ้างเหตุว่าได้มีการมอบที่ดินทั้งหมดให้วัดแล้ว เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี ในฐานะผู้พิจารณาได้ตรวจลักษณะของผู้กล่าวหาที่เหลือ คือ นายสมพร เทพสิทธา และเห็นว่า มีความบกพร่อง จึงมีคำสั่งไม่รับคำกล่าวหาของผู้กล่าวหา ทั้งนี้โดยความเห็นชอบของคณะผู้พิจารณาชั้นต้นเมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2549 จากนั้น เจ้าคณะตำบลคลองสี่ ได้มีคำสั่งให้ พระราชภาวนาวิสุทธิ์ กลับมาดำรงตำแหน่งดังเดิม ตั้งแต่วันที่ 27 ต.ค. 2549 จึงขอประทานเสนอที่ประชุม เพื่อโปรดทราบ ที่ประชุมรับทราบ ลงนามนายพนม ศรศิลป์ ผอ.พศ. เลขาธิการ มส.
ภายหลังจากมีการแถลงมติ มส. เสร็จ ผู้สื่อข่าวหลายสำนักได้ซักถาม พระพรหมเมธีในหลากหลายประเด็น ผู้สื่อข่าวถามว่า สรุปแล้ว มส.วันนี้มีมติอะไรบ้าง พระพรหมเมธี กล่าวว่า ได้มีการรับรองมติการตั้งคณะทำงานรวบรวมข้อมูลและศึกษาสถานการณ์ทางพระพุทธศาสนา และรับรองรายงานการประชุมเมื่อวันที่ 20 ก.พ.58 เท่านั้น ส่วนกรณีเกี่ยวกับพระธัมมชโยไม่ได้มีการพูดถึง การประชุม มส. ครั้งนี้ เพราะ มส. จะพิจารณาเฉพาะเรื่องงานของ มส.
ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้มีความขัดแย้งเกิดขึ้นระหว่างสงฆ์อยากจะฝากประชาชนอย่างไร พระพรหมเมธี กล่าวว่า มุมมองของสังคมไทยเราคนหนึ่งอาจมองเป็นอย่างหนึ่ง อีกคนหนึ่งอาจมองเป็นอย่างหนึ่งก็ต้องใช้วิจารณญาณดูว่าอะไรที่ถูกที่ควร เนื่องจากเรื่องศรัทธาของประชาชน ที่มีความศรัทธาต่อพระสงฆ์นั้น แตกต่างกันไป เราคิดว่าใครเป็นลูกศิษย์ใครก็คิดว่าอาจารย์ของตัวเองนั้นทำดีและทำถูก อย่างไรก็ตาม เราก็ต้องเอาองค์กรใหญ่คือ มส.ได้ทำในสิ่งที่ถูกเป็นประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา ทำให้พระพุทธศาสนานี้มั่นคงแข็งแรง โดยอาศัยพื้นฐานความศรัทธาของประชาชน อย่าให้กระทบต่อศรัทธาของประชาชน
ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า จะมีการเชิญพระพุทธะอิสระมาทำความเข้าใจในเรื่องนี้หรือไม่ พระพรหมเมธี กล่าวว่า เรามีเจ้าคณะปกครองตามลำดับ เมื่อพระพุทธะอิสระขึ้นอยู่กับเจ้าคณะจังหวัดนครปฐม ก็ต้องเป็นหน้าที่ของเจ้าคณะจังหวัดนครปฐม ที่จะดำเนินการและรายงานเรื่องนี้มาเป็นลำดับ เช่น จากเจ้าคณะจังหวัด มาเจ้าคณะภาค เจ้าคณะใหญ่หนกลาง กว่าจะมาถึงที่ประชุม มส. เป็นลำดับสุดท้าย ซึ่งเรื่องนี้อยู่ที่การพิจารณาของเจ้าคณะผู้ปกครองดังที่กล่าวมานี้ ในทางตรงกันข้าม เจ้าคณะผู้ปกครองที่ดูแลวัดพระธรรมกายก็ได้ทำหน้าที่นี้เช่นกัน ส่วนกรณีพระพุทธอิสระ จะมีการแจ้งความโฆษก มส. โฆษก พศ. และพระพรหมโมลี ว่าไม่ปฏิบัติตามหน้าที่นั้น เรื่องนี้ยังไม่ได้พูดคุยกัน และยังไม่เคยพบกับพระพุทธอิสระ เพราะว่าเขาอาจจะเห็นต่างไป เราไปบังคับเขาไม่ได้ แสดงให้เห็นชัดเจนว่า เรื่องเดียวแต่มีการมองคนและแบบ
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการรื้อฟื้นมติ มส. เดิมหรือไม่ พระพรหมเมธี กล่าวว่า ในระเบียบเตือนในพระวินัยของพระสงฆ์ ถ้าเรื่องใดที่เจ้าคณะตามลำดับพิจารณาแล้วและมีมติไปแล้ว จะไปพิจารณาใหม่ทางพระวินัยกำหนดไว้เลยว่า อธิกรณ์ที่ได้พิจารณาแล้วไปรื้อฟื้น องค์คณะที่ไปรื้อฟื้นนั้นจะเป็นอาบัติ ดังนั้น เราต้องรับทราบตามรายงาน ส่วนจะไปแก้ไขอย่างไร ต้องไปแก้ที่ต้นทาง หมายถึงองค์คณะจังหวัดที่ปทุมธานี เช่น มีการตั้งเรื่องฟ้องใหม่ หากไม่มีการฟ้องใหม่ก็ต้องยึดตามมติเดิม
“อาตมาภาพอยากทำความเข้าใจกับผู้สื่อข่าวว่า อาตมาภาพก็มีหน้าที่แถลงเรื่อง มส. ส่วนเรื่องวัดพระธรรมกายก็ต้องไปถามเจ้าคณะผู้ปกครอง รวมถึงเรื่องพระลิขิตด้วย เมื่อองค์คณะสงฆ์ได้พิจารณายุติไปแล้วก็ต้องยึดตามนั้น ส่วนจะมีการรื้อฟื้นเรื่องใหม่ก็ต้องว่ากันไปอีกเรื่องหนึ่ง การร้องพระภิกษุก็ต้องมีโจทก์เป็นผู้ร้อง หากมีการฟ้องเรื่องใหม่มา ศาลท่านก็จะเป็นผู้พิจารณาเอง ส่วนเรื่องเก่าที่ตัดสินกันแล้วก็ต้องแล้วไป และอยู่ที่ว่าจะฟ้องในประเด็นไหน” พระพรหมเมธี กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีพระพุทธอิสระที่มีการเรียกร้อง ณ ขณะนี้ถือว่าเป็นโจทก์ได้หรือไม่ พระพรหมเมธี กล่าวว่า ยังไม่เห็นเป็นลายลักษณ์อักษร ต้องร้องไปที่เจ้าคณะผู้ปกครองตามกฎนิคหกรรม เรามีทางเข้าทางออกเป็นไปตามลำดับ ดังนั้น สถานะของพระธัมมชโย ก็ยังคงตามมติของ มส. เมื่อปี 2549 ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า แสดงว่า พระธัมมชโย ยังไม่ปาราชิก ใช่หรือไม่ พระพรหมเมธี กล่าวว่า ไม่ทราบ และที่ประชุม มส. ไม่ได้พิจารณาเกี่ยวกับเรื่องนี้เลย
ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า สำหรับแนวทางปฏิรูปซึ่งจะมีการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินของกรรมการ มส.ด้วย เห็นว่าอย่างไร โฆษก มส.กล่าวว่า แล้วจะตรวจสอบเรื่องอะไร คือถ้าตรวจสอบของ มส. และพระสงฆ์ทั่วไปก็เหมือนการตรวจสอบศรัทธาของประชาชน พระองค์นี้ก็มีลูกศิษย์มาก พระองค์นี้มีลูกศิษย์น้อย อย่างหลวงพ่อบวชตั้งแต่อายุ 12 ปีจนมาถึงปัจจุบัน 50 กว่าปี ก็มีลูกศิษย์มากมาย ลูกศิษย์เขาก็มีศรัทธา แต่ถ้าเราไปตรวจสอบทรัพย์สินของวัดสามารถตรวจสอบได้ แต่ตรวจสอบ มส. จะตรวจสอบเรื่องอะไร ส่วนจะเป็นการก้าวล่วงหรือไม่นั้น สังคมคิดว่าถ้าชาวบ้านมาก้าวล่วงกับพระสงฆ์อย่างหลวงพ่อที่มีลูกศิษย์ลูกหาที่เขาเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ ยกตัวอย่างอดีตนายกรัฐมนตรี เขาก็อาจจะเดือดร้อนว่ามารุกรานครูบาอาจารย์ของเขา นี่เป็นเรื่องที่ยากที่จะมีการตรวจสอบ
ส่วนเรื่องการปฏิรูปคณะสงฆ์ ในส่วนของคณะสงฆ์มีความคิดเห็นอย่างไร พระพรหมเมธี กล่าวว่า คณะสงฆ์จะพิจารณาแต่เรื่องของศาสนจักร ส่วนบ้านเมืองก็เป็นเรื่องของอาณาจักร คือ ราชการบ้านเมืองเขาต้องทำอะไรที่นำไปสู่ความสงบเรียบร้อยทำไปทุกอย่างเพราะคิดว่าดีแล้ว อาจจะมีใครหรือพระสงฆ์องค์ไหนที่มีความคิดเห็นแตกต่างออกไป แต่ขอย้ำว่า ในที่ประชุม มส.ไม่ได้มีการพูดถึงเรื่องนี้แต่อย่างใด
ผู้สื่อข่าวถามว่าบางความคิดเห็นเสนอให้ยุบกรรมการ มส. พระพรหมเมธี กล่าวว่า คณะกรรมการ มส. ตั้งโดย พ.ร.บ.คณะสงฆ์ 2505 ดังนั้น จะต้องไปรื้อฟื้น พ.ร.บ.คณะสงฆ์ 2505 เท่านั้น
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่