คณะกรรมาธิการศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติที่มีนายไพบูลย์ นิติตะวัน เป็นประธาน มีการประชุมวันที่ 17 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ในกรณีพระเทพญาณมหามุนี (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย) เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย เป็นปาราชิกหรือไม่ หลังจากพิจารณาหลักฐานต่างๆ รวมทั้งคำชี้แจงจากผู้แทนสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ที่ประชุมมีมติว่าธัมมชโยต้องอาบัติปาราชิก ขาดจากความเป็นภิกษุตามพระลิขิต สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลสังฆปริณายก ลงวันที่ 26 เมษายน พ..ศ.2542
ธัมมชโย ต้องอาบัติปาราชิก ด้วยสองสาเหตุ คือ ยักยอกทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้กับวัดไปเป็นสมบัติส่วนตัวและบิดเบือนพระพุทธธรรม ดังความตอนหนึ่งในพระลิขิต
“ความบิดเบือนพระพุทธรรมคำทรงสอน โดยกล่าวหาว่า พระไตรปิฎกบกพร่อง เป็นการทำให้สงฆ์ที่หลงเชื่อคำบิดเบือน แตกแยกออกไป กลายเป็นสอง มีความเข้าใจ ความเชื่อถือพระพุทธศาสนาตรงกันข้าม เป็นการทำลายพระพุทธศาสนา ทำสงฆ์ให้แตกแยก เป็นอนตริยกรรม มีโทษทั้งปัจจุบัน และอนาคตที่หนัก”
ในคดียักยอกทรัพย์ อัยการเป็นโจทก์ฟ้องธัมมชโย รวม 5 คดี คดีอยู๋ในศาลตั้งแต่ปี 2542-2549 เหลือสืบพยานจำเลยอีกเพียงสองนัด ในวันที่ 23 และ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2549 แต่แล้วในวันที่ 21 สิงหาคม นายพชร ยุติธรรมดำรง อัยการสูงสุดในขณะนั้น มีคำสั่งให้ถอนฟ้อง ทำให้ธัมมชโยลอยนวลมาจนถึงวันนี้
ส่วนคดีทางพระ ที่ต้องขาดจากความเป็นพระ ไม่มีการดำเนินการต่างอย่างใด จนคณะกรรมาธิการศาสนา สปช.หยิบประเด็นนี้ขึ้นมาปัดฝุ่นอีกครั้งหนึ่ง
คำถามคือ มหาเถรสมาคมซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง จะปฏิบัติตามพระลิขิตหรือไม่ เพราะประธานมหาเถรสมาคม คือ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ( ช่วง วรปุณโญ) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ก็เป็นที่ทราบกันดีว่า เป็นสายของใคร
ความจริง มีการสอบสวนเอาผิดกับธัมมชโยในส่วนของมหาเถรสมาคมนั้น ตั้งแต่ พ.ศ.2541 โดยสมเด็จพระมหาธีราจารย์ (นิยม ฐานนิสโร ) อดีตเจ้าอาวาสวัดชนะสงคราม ซึ่งมรณภาพไปแล้ว เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม และเป็นเจ้าคณะใหญ่หนกลาง ซึ่งปกครองดูแลวัดมหานิกายในพื้นที่ภาคกลางทั้งหมด
โดยเขตปกครองสงฆ์ วัดธรรมกายอยู่ในสังกัดเจ้าคณะภาค 1 คือ พระพรหมโมลี ( วิลาศ ญาณวโร ) เจ้าอาวาสวัดยานนาวา เมื่อธัมมชโยทำผิดทั้งอมของหลวง และบิดเบือนพระไตรปิฎก เจ้าคณะภาค 1 ต้องทำหน้าที่ศาลพระ คือ พิจารณาโทษ หรือ ลงนิคหกรรมธัมมชโย
วันที่ 16 เดือนกันยายน พ.ศ. 2541 พระพรหมโมลี ตัดสินว่า ธัมมชโย ไม่มีความผิดตามข้อกล่าวหา และยังปฏิเสธไม่ยอมให้ฆราวาสฟ้องธัมมชโย ด้วย ทั้งๆ ที่มหาเถรสมาคมมีมติในเรื่องนี้ว่า ให้ฆราวาสฟ้องพระสงฆ์ได้
สมเด็จฯ วัดชนะสงคราม ในฐานะเจ้าคณะใหญ่หนกลาง จึงสั่งปลดพระพรหมโมลี ออกจากตำแหน่งเจ้าคณะภาค 1 เมื่อวันที 10 กุมภาพันธ์ 2543 และแต่งตั้ง พระเทพสุธี (เอิ้อน หาสนธมโม) วัดสามพระยา รองเจ้าคณะภาค 1 ขึ้นรักษาการในตำแหน่งเจ้าคณะภาค 1 เพื่อให้ดำเนินการนิคหกรรมธัมมชโย แต่พระเทพสุธีขอลาออก
สุดท้าย สมเด็จพระมหาธีราจารย์ ต้องโยกลูกศิษย์คือ พระธรรมโมลี ( สมศักดิ์ อุปสโม ) เจ้าคณะภาค 15 ซึ่งถูกส่งไปจากวัดชนะสงคราม ให้ไปเป็นเจ้าอาวาสวัดพิชยญาติการาม ให้มารักษาการเจ้าคณะภาค 1 เพื่อทำคดีธัมมชโย
วันที่ 22 กันยายน 2543 พระธรรมโมลี เปิดศาลสงฆ์ ที่วัดสามพระยา รับฟ้องพระธัมมชโยรวม 3 ข้อหาคือ 1.บิดเบือนลบล้างคำสอนของพระพุทธเจ้า 2.อวดอุตริมนุสธรรม และ 3. ลักทรัพย์ ยักยอกทรัพย์ หลอกลวงประชาชน
หลังจากวันเปิดศาลที่วัดสามพระยา คดีของงธัมมชโยก็ไม่มีการดำเนินการใด ๆ อีกเลย โดยอ้างว่า ต้องรอให้คดีอาญาในศาลจบก่อน ทั้งๆ ที่ไม่เกี่ยวกันเลย
ในปี 2544 สมเด็จฯ วัดชนะสงคราม ในฐานะเจ้าคณะหนกลางตั้งให้พระธรรมโมลี เป็นเจ้าคณะภาค 1 เต็มตัว เข้าใจว่า เพื่อให้มีอำนาจในการทำงานเต็มที่ จะได้สะสางคดีธัมมชโยที่คาราคาซังอยู่ แต่ปรากฏว่า เจ้าคณะภาค 1 คนใหม่ ทำเพียงแค่ “รับฟ้อง“ แล้วไม่ทำอะไรอีกเลย หนำซ้ำ ยังไปเป็นพยานให้ธัมมชโยในคดีอาญา รับรองการสอนของธัมมชโยว่า ถูกต้องตามพระไตรปิฎก ทุกประการ อันเป็นเหตุผลหนี่งที่อัยการใช้เป็นข้ออ้างถอนฟ้องธัมมชโย
เมื่อ พระพรหมโมลี (วิลาศ ญาณวโร) เจ้าอาวาสวัดยานนาวา มรณภาพอย่างกะทันหันในปี 2544 อีก 4 ปีต่อมา พระธรรมโมลี ก็ได้เลื่อนสมณศักดิ์ ขึ้นเป็นพระพรหมโมลี เป็นสมณศักดิ์ระดับรองสมเด็จพระราชาคณะ อันเป็นตำแหน่งเก่าของมือสอบธัมมชโยคนแรก ที่ตัดสินว่า ธัมมชโยไม่ผิด
แต่มือสอบคนใหม่ก็ใช้วิธีตัดตอน เอาคดีธัมมชโยไปดองไว้ จนอัยการถอนฟ้องคดีอาญา เลยโมเมปิดคดีทางพระไปด้วย ซึ่งมีข้อน่าสังเกตว่า สมเด็จวัดชนะฯ ปลดพระพรหมโมลี (วิลาศ ญารวโร) จากเจ้าคณะภาค 1 เพราะมีท่าทีปกป้องธัมมชโย แล้วแต่งตั้งพระธรรมโมลี ให้เป็นเจ้าคณะภาค 1 แทน เพื่อให้มาจัดการธัมมชโยตามพระลิขิต ซึ่งพระธรรมโมลีไม่แตะธัมมชโยเลย แต่กลับไม่โดนปลด แถมยังได้เลื่อนสมณศักดิ์
เมื่อสมเด็จพระมหาธีราจารย์มรณภาพ ในเดือนมีนาคม พ.ศ.2554 พระพรหมโมลี (สมศักดิ์ อุปสมโม) เจ้าอาวาสวัดพิชยญาติการาม และเจ้าคณะภาค 1 ก็ได้รั้งตำแหน่งเจ้าคณะหนกลาง ซึ่งเปรียบได้กับประมุขสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย และได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็น สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ ซึ่งเป็นสมณศักดิ์ชั้นสมเด็จพระราชาคณะ ที่ได้ครองตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคมโดยอัตโนมัติ
สำหรับตำแหน่งเจ้าคณะภาค 1 ซึ่งว่างลง สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สมศักดิ์ อุปสมโม) ในฐานะเจ้าคณะใหญ่หนกลาง ได้แต่งตั้งพระโสภณปริยัติเวที (สายชล ฐานวุฑโฒ) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดชนะสงคราม รองเจ้าคณะภาค 1 ขึ้นเป็นเจ้าคณะภาค 1 แทนตน ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจาณ์กระหึ่มวงการสงฆ์ เพราะ มีอายุเพียงแค่ 45 ปี อายุพรรษา 25 แต่ได้ดีเพราะหลวงลุง
ตามสายการปกครองสงฆ์ ในฐานะเจ้าคณะภาค 1 มหาสายชล คือผู้ที่จะต้องทำหน้าที่ประธานในการพิจารณาลงนิคหกรรมธัมมชโย แต่นั่นหมายความว่า ต้องเป็นคำสั่งจาก เจ้าคณะหนกลาง คือ สมเด็จพระพุทธชินวงศ์
โดยประเพณีที่ยึดถือกัน พระสายมหานิกาย กับสายธรรมยุต จะไม่ก้าวก่ายกัน เรื่องของวัดสายไหน ก็เป็นหน้าทีของกรรมการมหาเถรสมาคมสายนั้นไปจัดการกันเอง ในจำนวนกรรมการมหาเถรสมาคมสายมหานิกาย 9 รูป เป็นพระสังฆาธิการจากวัดปากน้ำ 3 รูป รวมทั้งสมเด็จพระมหามังคลาจารย์ นอกจากนี้ยัง มีพระพรหมดิลก (เอื้อน หาสนธัมโม) เจ้าอาวาสวัดสามพระยา ซึ่งครั้งที่เป็นพระเทพสุธี รองเจ้าคณะภาค 1 สมเด็จฯ วัดชนะ เคยแต่งตั้งให้รักษาการเจ้าคณะภาค 1 แทนพระพรหมโมลี (วิลาศ ญารวโร) แต่ขอลาออก เพราะคงรู้ตัว่า ต้องพิจารณาโทษธัมมชโย และเคยไปปรากฏตัว ในโครงการธุดงค์ธรรมชัยหลายครั้ง อีกองค์หนึ่งคือ พระพรหมวิชรญาณ เจ้าอาวาสวัดยานนาวา
ดังนั้น คำถามที่ว่า กรรมการมหาเถรสมาคมชุดปัจจุบัน จะดำเนินการตามพระลิขิต สมเด็จพระสังฆราช เมื่อ 16 ปีก่อน หรือไม่ จึงน่าจะมีคำตอบอยู่แล้วในตัวเอง
(ข้อมูลในบทความนี้ อ้างจากข้อมูล ในเว็บไซต์ alittlebuddha .com ซึ่งเป็นโฮมเพจของ วัดไทย ลาสเวกัส รัฐเนวาด้า สาหรัฐอเมิรกา จัดทำโดย พระมหานรินทร์ นรินโท เจ้าอาวาส เป็นเว็บไซต์ที่รายงาน วิพากษ์วิจารณ์ความเคลื่อนไหวของวงการสงฆ์ไทย โดยเฉพาะในหมู่พระสังฆาธิการ ที่เป็น “ ชนชั้นนำ” อย่างตรงไปตรงมา )