xs
xsm
sm
md
lg

ผลสถิติโพลล์ธุดงค์ธรรมชัย (และโพลล์อื่นๆ) เชื่อถือได้แค่ไหน?

เผยแพร่:   โดย: อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์


อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชาวิเคราะห์ธุรกิจและการวิจัย คณะสถิติประยุกต์
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


จากการที่ พระสนิทวงศ์ วุฑฒิวังโส ประชาสัมพันธ์โครงการพระธุดงค์ธรรมชัย ออกมาเผยแพร่ผลการสำรวจในรายการเจาะข่าวเด่น ทางช่อง 3 เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2558 ว่าประชาชน 99 เปอร์เซ็นต์ เห็นด้วยกับการจัดงานธุดงค์ธรรมชัยของวัดพระธรรมกาย

อันที่จริงผลการทำโพลล์ของสำนักต่างๆ ในเมืองไทยมักเหวี่ยงไปเหวี่ยงมา ไม่ค่อยน่าเชื่อถือและหลายครั้งของจริงที่ออกมาก็หักปากกาโพลล์อยู่เสมอเป็นประจำ ผมจะไม่วิจารณ์ว่าผลโพลล์ที่ทางวัดพระธรรมกายดำเนินการสำรวจนั้นน่าเชื่อได้มากน้อยแค่ไหน ขอให้ท่านผู้อ่านลองอ่านหลักการง่ายๆ ในการพิจารณาว่าผลโพลล์น่าเชื่อถือได้แค่ไหนที่ผมจะเล่าให้ฟังดังนี้ครับผม

คำถามแรกที่เราควรถามทุกครั้งเมื่อเห็นผลการสำรวจของโพลล์คือ ผู้จัดทำโพลล์ไปเก็บข้อมูลมาจากไหน อย่างไร พูดในเชิงวิชาการนั้นเรากำลังถามถึงการสุ่มตัวอย่าง (Sampling) อันที่จริงเราสนใจศึกษาประชากร (Population) แต่เราเก็บข้อมูลจากประชากรไม่ได้ เพราะจะใช้เงินมาก ใช้เวลามาก และไม่เสร็จเสียที เลยต้องสุ่มมาเพียงบางส่วน ในทางปฏิบัตินักวิชาการที่ทำโพลล์มักจะกำหนดกรอบสำหรับการสุ่มตัวอย่าง (Sampling frame) ซึ่งต้องเป็นตัวแทนที่ดีของประชากร ถ้าสรุปผลอ้างอิงว่าประชากรชาวไทยร้อยละ 99 เห็นด้วยกับธุดงค์ธรรมชัย ก็ควรกำหนดกรอบการสุ่มตัวอย่างจากประชากรในประเทศไทยทั้งประเทศ ไม่ใช่เฉพาะคนที่มาร่วมกิจกรรมธุดงค์ธรรมชัยเท่านั้น หากเก็บข้อมูลจากประชาชนที่เข้าร่วมกิจกรรมธุดงค์ธรรมชัยก็ควรสรุปว่าประชาชนที่เข้าร่วมกิจกรรมธุดงค์ธรรมชัยร้อยละ 99 เห็นด้วยกับกิจกรรมนี้ แต่ไม่อาจจะสรุปว่าประชาชน (ทั่วไป) เห็นด้วยกับกิจกรรมธุดงค์ธรรมชัยร้อยละ 99 เพราะเป็นการกล่าวที่เกินจริง เรียกว่าเป็นการโกหก (มุสา) ด้วยสถิติ ศีลขาดได้

โดยหลักการ การสุ่มตัวอย่างในการทำโพลล์นั้นมีสองคำถามที่ต้องตอบได้อย่างหนักแน่นมีหลักการคือ 1.1 มีเทคนิคในการสุ่มตัวอย่าง (Sampling technique) อย่างไร และ 1.2 มีขนาดตัวอย่าง (Sample size) สักเท่าไหร่ สำหรับคำถาม 1.1 นั้นสำคัญกว่าคำถาม 1.2 มาก อุปมาเหมือนกับการไปซื้อส้มที่ตลาด ด้านหน้าเข่ง แม่ค้ามักเรียกเรียงเฉพาะลูกสวยๆ ไว้ด้านผม ต่อให้หยิบมาทั้งหมดที่อยู่ด้านบนเข่ง เราก็จะเห็นแต่ส้มที่สวย แต่ถ้าล้วงไปที่ก้นเข่งอย่างทั่วถึงและสุ่มๆ เราจะได้เห็นว่ามีทั้งส้มลูกที่สวยและส้มลูกที่ไม่สวยหรือแม้แต่ลูกที่เน่า ขนาดตัวอย่างนั้นคือการที่เราเก็บข้อมูลมามากเพียงพอ หากเก็บข้อมูลมาน้อยมากจะเกิดความคลาดเคลื่อนจากการสุ่ม (Sampling error) มากทำให้ไม่สามารถสรุปผลได้ชัดเจน แต่ก็ยังไม่สำคัญเท่ากับเทคนิคการสุ่มตัวอย่างดังตัวอย่างเรื่องเข่งส้ม

คำถามที่สองที่เราควรจะถามก่อนจะเชื่อผลโพลล์ใดๆ คือ โพลล์นั้นใช้คำถามอย่างไร มีตัวเลือกอย่างไร การใช้คำพูดนั้นมีผลต่อคำตอบที่ได้รับมาก

ขอให้ลองตัวอย่างดังนี้
1.ท่านคิดเห็นอย่างไรกับรัฐบาล?
2.ท่านคิดเห็นอย่างไรกับรัฐบาลในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว?
3.ท่านคิดเห็นอย่างไรกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง?
4.ท่านคิดเห็นอย่างไรกับรัฐบาลเผด็จการทหารที่มาจากรัฐประหาร?

สำหรับคำถามที่ 1 นั้นค่อนข้างจะเป็นกลาง ไม่ชี้นำ ส่วนคำถามที่ 2, 3, และ 4 เป็นคำถามที่ค่อนข้างชี้นำ สำหรับคำถามที่ 2 และ 3 มีแนวโน้มที่จะชี้นำทางบวก ในขณะที่คำถามที่ 4 ค่อนข้างจะชี้นำทางลบ

แม้แต่ตัวเลือกก็ควรจะมีทั้งบวกและลบพอๆ กันขอลองยกตัวอย่างคำถามของโพลล์ธุดงค์ธรรมชัยดังนี้ความรู้สึกที่ได้มาร่วมต้อนรับพระธุดงค์
______ไม่ค่อยเห็นด้วย
______เฉยๆ
______อยากให้มีทุกปี
______สุขใจ ปลื้มปีติ สบายใจ

จากตัวอย่างข้างต้นจะเห็นได้ว่า มีตัวเลือกที่ค่อนข้างลบอยู่หนึ่งตัวเลือกคือ ไม่ค่อยเห็นด้วย มีตัวเลือกที่เป็นกลางอยู่หนึ่งตัวเลือกคือ เฉยๆ แต่มีตัวเลือกที่ค่อนข้างมีทิศทางทางบวกอยู่สองตัวเลือกและใช้คำที่ค่อนข้างเร้าอารมณ์คือ อยากให้มีทุกปี และ สุขใจ ปลื้มปีติ สบายใจ

ถ้าเราหมั่นถามสองคำถามนี้ทุกครั้งที่เราเห็นผลโพลล์จะช่วยให้เราไม่ตกเป็นเหยื่อการโฆษณาชวนเชื่อของโพลล์สำนักใดๆ และเป็นการใช้สติปัญญาแท้จริงตามที่พระพุทธเจ้าได้สอนพวกเราไว้ครับผม
กำลังโหลดความคิดเห็น