xs
xsm
sm
md
lg

สสส.จัดชุมชนท้องถิ่นปฏิรูป แก้ 7 โจทย์ปัญหาสังคม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สสส.จัดงาน “พลังชุมชนท้องถิ่นปฏิรูปสังคม” แก้ 7 โจทย์ปัญหาสังคม จุดกระแสอาสาทำดี ระบบดูแลผู้สูงอายุ

น.ส.ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ร่วมกันจัดงานเวทีฟื้นพลังชุมชนท้องถิ่นสู่การอภิวัฒน์ประเทศไทย ครั้งที่ 5 “พลังชุมชนท้องถิ่นปฏิรูปสังคม” ระหว่างวันที่ 1-5 มีนาคม 2558 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา โดยในปีนี้เป็นการตอบโจทย์เชิงนโยบาย ทั้งกระบวนการปฏิรูป ปัญหาสังคม และนวัตกรรมที่เน้นประเด็นทางสังคมที่ชัดเจน สาระและกิจกรรมการ ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ 1.สนับสนุนการปฏิรูปสังคม 2ร่วมแก้วิกฤตทางสังคมและลดปัจจัยทำลายสุขภาวะ และ 3.นวัตกรรมทางสังคม

น.ส.ดวงพร กล่าวต่อว่า การสนับสนุนการปฏิรูปสังคม ได้แก่ 1.“เมืองคุณธรรม เมืองของแผ่นดิน” เป็นการรณรงค์ให้ชุมชนท้องถิ่นเป็นผู้เฝ้าระวังการทุจริตในพื้นที่ และร่วมรับฟังปาฐกถาพิเศษจาก ศ.เกียรติคุณ น.พ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี 2.เวทีสมัชชาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อการปฏิรูป โดยได้รับเกียรติจาก รศ.วุฒิสาร ตันไชย รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ในฐานะหัวหน้าคณะผู้วิจัยการสร้างความปรองดองแห่งชาติ ศ.ดร.จรัส สุวรรณมาลา สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ และคุณธีรศักดิ์ พานิชวิทย์ สมาชิก สปช.ด้านการปกครองส่วนท้องถิ่น เรื่อง ระบบการเลือกตั้งท้องถิ่น และ 3.ปฏิรูประบบการเงินโดยใช้กลไกสถาบันการเงินชุมชน

“ร่วมแก้วิกฤตทางสังคมและลดปัจจัยทำลายสุขภาวะ ประกอบด้วย 7 สาระ ได้แก่ 1.การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น 2.อาหารปลอดภัยที่เน้นกระบวนการผลิตด้วยตนเอง 3.พลังงานทางเลือกระดับชุมชน 4.การจัดการขยะภายในชุมชน โดยใช้ Roadmap การจัดการขยะที่ คสช.ประกาศอย่างชัดเจนครั้งแรกของประเทศไทย 5. พิบัติภัย กระตุ้นคนในชุมชนเป็นผู้จัดการแก้ไขด้วยตนเอง 6.ชุมชนลดอุบัติเหตุ โดยกระตุ้นให้ชุมชนมีกลไกจัดการอุบัติเหตุด้วยตนเอง และ 7.ลด ละ เลิก การบริโภคยาสูบในชุมชน” น.ส.ดวงพร กล่าว

น.ส.ดวงพร กล่าวอีกว่า นอกจากการดำเนินงานของสำนัก 3 ในการขับเคลื่อนสุขภาวะชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง ยังสะท้อนให้เห็นยุทธศาสตร์สำคัญการพัฒนาชุมชนเข้มแข็ง เกิดนวัตกรรมทางสังคม ประกอบด้วย 1.การพัฒนาแหล่งเรียนรู้ภายในชุมชน 2.การตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุ การดูแล และการส่งเสริมอาชีพของผู้สูงอายุ ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรให้ความสำคัญ ซึ่งโรงเรียนผู้สูงอายุจะมีส่วนช่วยลดช่องว่างระหว่างวัยลงได้ เนื่องจากหลักสูตรได้นำองค์ความรู้สมัยใหม่ให้ผู้สูงอายุได้เรียนรู้ รวมทั้งส่งเสริมให้เป็นผู้ทำนุบำรุง และเผยแผ่พระศาสนา ซึ่งปัจจุบันมีโรงเรียนผู้สูงอายุอย่างน้อย 200 แห่ง และ 3.อาสาทำดี เป็นการอยู่ร่วมกันในสังคมที่เน้นแก้ปัญหาด้วยการลงมือปฏิบัติ ซึ่งจะเชื่อมโยงต่อการแก้ปัญหาเชิงระบบ ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเป็นธรรมในชุมชน

น.ส.ดวงพร กล่าวด้วยว่า ปีนี้ยังเน้นเรื่องควบคุมยาสูบ โดยมุ่งหวังให้เกิดตำบลต้นแบบในการบังคับใช้กฎหมายบุหรี่ให้ได้ผล ชูแนวคิดการดื่มเหล้าเท่ากับเพิ่มพื้นที่อุบัติเหตุ และเร่งเพิ่มพื้นที่เมืองคุณธรรม โดยภายในงานได้จัดนิทรรศการจำลองเมืองคุณธรรมเมืองของแผ่นดิน ด้วยอุโมงค์เสียงชวนคิด นอกจากนี้ ยังได้รับเกียรติจากวิทยากรอีก 5 ประเทศ ได้แก่ เวียดนาม, ฟิลิปปินส์, อินโดนีเซีย, อินเดีย และญี่ปุ่น มาร่วมบรรยายถึงแนวทางการบริหารจัดการของท้องถิ่น ซึ่งคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานประมาณ 8,000 คน จากแกนนำชุมชนเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนน่าอยู่ทั่วประเทศ

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น