xs
xsm
sm
md
lg

ชูกลไก 8 ก.สร้างสุขยั่งยืนให้ชาวอีสาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สสส. ติดตามผลดำเนินการเสริมสร้างสุขภาพในชุมชนภาคอีสาน ยึดกลไก 8 ก. สร้างความยั่งยืน เน้นสร้างแกนนำขับเคลื่อน  เผย ปชช. ยังขาดความรู้การจัดการ เล็งดึงภาคีเชี่ยวชาญเฉพาะด้านให้ความรู้ เพิ่มการต่อรองทางเศรษฐกิจ

วันนี้ (17 พ.ย.) ที่โรงแรมทองธารินทร์ จ.สุรินท์ มีการเปิดมหกรรม “ฮักแพง แบ่งปัน อีสานสร้างสุข” เพื่อติดตามประเมินผลชุดโครงการร่วมสร้างชุมชนและท้องถิ่นให้น่าอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปี 2556 - 2557 ซึ่งเป็นการส่งเสริมสุขภาพต่างๆ พร้อมการจัดแสดงนิทรรศการการดำเนินการของชุมชนที่เข้าร่วมโครงการจัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ

ทพ.ศิริเกียรติ  เหลียงกอบกิจ ผู้อำนวยการสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรมสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า  สสส. วางเป้าหมายโครงการไว้ที่ 10 ปี ปัจุจุบันเริ่มดำเนินโครงการมาแล้ว 3 ปี โดยใช้งบสนับสนุนจากการเก็บภาษีเหล้า บุหรี่ ส่งให้ชุมชนเข้าร่วมโครงการ เน้นการจัดการปัจจัยที่สงผลต่อสุขภาพ ส่งเสริมการมีสุขภาวะ เพิ่มขีดความสามารถในการคัดเลือกการมีชุมชน  สังคม  สิ่งแวดล้อมที่ดีโดยการเข้าร่วมโครงการทางชุมชนจะต้องสำรวจปัญหาและนำเสนอต่อสสส.เพื่อรับทุนสนับสนุนชุมชนละไม่เกิน 2 แสนบาท 

ทพ.ศิริเกียรติ  กล่าวต่อว่า  ปัจจุบันมีชุมชนเข้าร่วมและประสบผลสำเร็จแล้ว กว่า 1,300 ชุมชน มุ่งสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนให้พึงพาตนเองได้ทั้งด้านสังคม  การศึกษา  วัฒนธรรม  เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม ด้วยกลไก 8 ก. ได้แก่ 1. แกนนำซึ่งเป็นกลไกหลักในการรับผิดชอบและขับเคลื่อนงาน 2. กัลยาณมิตร สร้างภาคีเครือข่าย 3. กองทุน มีการระดมทรัพยากร 4. การจัดการ แย่งหน้าที่ชัดเจน 5. การเรียนรู้ของชุมชน 6. การสื่อสารเพื่อสร้างการรับรู้ ตื่นตัว  7. กระบวนการพัฒนา เสริมศักยภาพ และ 8. กติกาเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติร่วมกัน  ซึ่งในภาคอีสาน 20 จังหวัด มีชุมชนเข้าร่วม 362 โครงการ

“ในปี 2560  จะมีการสร้างเครือข่ายร่วมกับธุรกิจ ภาคเอกชนเพื่อช่วยกันขับเคลื่อน สนับสนุนเงินทุน เพราะต้องยอมรับว่า สสส. ให้งบสนันสนุนน้อย หากมีภาคีรับช่วงต่อก็จะเป็นการต่อยอดโครงการต่อไปได้เรื่อยๆ” ทพ.ศิริเกียรติ กล่าว   

นางอวยพร  พิศเพ็ง  หัวหน้าโครงการพัฒนาและสนับสนุนชุดโครงการชุมชนและท้องถิ่นน่าอยู่  กล่าวว่า  ในภาคอีสานเป็นปีแรกที่มีการรวมกลุ่มเป็นเครือข่ายขนาดใหญ่ ซึ่งปัญหาหลักๆเป็นเรื่องของสารเคมี เหล้า ขยะ  สิ่งแวดล้อม  และป่่าไม้ การจัดการตามกลไก 8 ก. เป็นสิ่งที่สำคัญ เพื่อสร้างแกนนำที่มีคุณภาพ สร้างอาสาสมัคร โดย สสส. มีทุนส่วนนึงเป็นเงินต้น เพื่อให้ชุมชนพัฒนาพื้นที่ตนเอง ตามกติกาการเข้าร่วมโครงการ เช่น ต้องตั้งศูนย์สุขภาพ  ทำโครงการพัฒนาเด็กเยาวชน เป็นต้น หลังจากมีการดำเนินโครงการที่ผ่านมาปัญหา คือ การไม่มีการสร้างความรู้ เป็นการมอบเงินทุนให้ขุมชนจัดการเอง  แต่สำหรับโครงการที่จัดขึ้นมานี้จะเป็นการรวม 2 ส่วนเข้าด้วยกันทั้งให้ความรู้การแก้ปัญหาการจัดการ พร้อมมอบทุน
  
นางอวยพร  กล่าวต่อส่า  ปัญหาอีกเรื่องคือ ชุมชนขาดการส่งเสริมความรู้  การจัดการ ความรู้ด้านการตลาด  อีกทั้งยังไม่มีการรวมกลุ่มขนาดใหญ่ เพื่อต่อรองด้านธุรกิจซึ่งจะต้องร่วมกับภาคีที่เชี่ยวชาญเข้ามาให้ความรู้ ทั้งนี้ แม้พื้นที่ภาคอีสานจะเริ่มโครงการช้า แต่ก็มีการพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ เมื่อดูจากผลประเมินพบว่าชุมชนที่ร่วมโครงการแล้วประสบผลอยู่ในเกณฑ์ดีกว่า 50% และขยายครอบคลุมเรื่อยๆ 
           
นายสุรพล เหลี่ยมสูงเนิน หัวหน้าโครงการขยายผลการพัฒนาทักษะด้านการบริหารงานสร้างเสริมสุขภาพให้แก่บุคลากรขององค์การบริหารส่วนตำบล กล่าวว่า กระบวนการยกระดับชุมชนเน้นพัฒนาชุมชนให้เกิดแกนนำ และการมีส่วนร่วมที่ผ่านมายังเป็นการยกระดับเพียงประเด็นใดประเด็นหนึ่ง เช่น ชุมชนน่าอยู่ปลอดเหล้า ชุมชนน่าอยู่ปลอดบุหรี่ ชุมชนน่าอยู่เกษตรอินทรีย์ แต่ในชุมชนยังมีอีกหลายประเด็นปัญหา จึงควรยกระดับให้ชุมชนมีความเข้มแข็งในเชิงกลไก เพื่อให้สามารถจัดการปัญหาได้ทุกเรื่อง โดยเฉพาะแกนนำ หรือทีมงาน ทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการทำงาน ร่วมกันคิดและวางแผน โดยกำหนดเป้าหมายร่วมที่ชัดเจน ซึ่งจะเป็นแรงจูงใจให้ทุกคนอยากทำงานร่วมกัน ไม่เช่นนั้นการยกระดับชุมชนให้เข้มแข็งจะเป็นเรื่องยาก
          
นายโชคชัย ลิ้มประดิษฐ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการพัฒนาชุมชน สสส. กล่าวว่า หลังจากลงติดตามพื้นที่ทำงานในชุมชนต่างๆ ทำให้เห็นผลลัพธ์ที่น่าพอใจในระดับหนึ่ง เพราะโครงการที่ สสส. สนับสนุน ได้ช่วยให้ชาวบ้านเกิดการรวมตัว และมองปัญหาของชุมชนเป็นเรื่องของตนเองมากขึ้น และมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา เช่น การตั้งสภาชุมชนวิเคราะห์ปัญหาและวางแผนการทำงาน  การลดต้นทุนการผลิตการเกษตรด้วยปุ๋ยน้ำหมักทำเอง การจัดการขยะด้วยการคัดแยก รีไซเคิลและกำจัดอย่างถูกต้อง ช่วยทำให้ชุมชนเข้มแข็งขึ้นและชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชนดีขึ้น โดยไม่ต้องรอให้คนภายนอกมาช่วยแก้ไข  ซึ่งหากชุมชนใดสามารถพัฒนารูปแบบการทำงานกระทั่งได้ผลลัพธ์ที่ชัดเจนก็จะผลักดันให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ เพื่อขยายผลต่อไปยังพื้นที่อื่นๆ เพื่อให้มีเครือข่ายเพิ่มมากขึ้น และเพื่อยกระดับให้ชุมชนทั้งประเทศเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง และน่าอยู่ต่อไป
 
 
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น