xs
xsm
sm
md
lg

เร่งดันสถาบันพระบรมราชชนก เป็นสถาบันอุดมศึกษาในกำกับ สธ.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สธ.เร่งดันสถาบันพระบรมราชชนก เป็นสถาบันอุดมศึกษาเฉพาะทางในกำกับ ด้านผู้ทรงฯ ศธ. ก.พ. ก.พ.ร. สำนักงบฯต่างเห็นด้วย พร้อมให้ข้อเสนอ

วันนี้ (17 ก.พ.) ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังประชุมผู้ทรงคุณวุฒิจากกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อชี้แจงข้อคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.สถาบันพระบรมราชชนก พ.ศ. ... เพื่อปรับสถานะสถาบันพระบรมราชชนกเป็นสถานศึกษาระดับอุดมศึกษา ว่า ผู้ทรงคุณวุฒิส่วนใหญ่เห็นความสำคัญในการปรับสถานะสถาบันพระบรมราชชนก ให้เป็นสถาบันอุดมศึกษาเฉพาะทาง และเป็นสถาบันเทียบเท่ามหาวิทยาลัยที่อยู่ในกำกับของรัฐบาล โดยเป็นองค์กรในกำกับของ สธ. เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการในการผลิตกำลังคน โดยเฉพาะวิชาชีพพยาบาล สาธารณสุข และสหวิชาชีพระดับต่ำกว่าปริญญาตรี ซึ่งสถาบันพระบรมราชชนกเป็นสถาบันหลักในการผลิตบุคลากรกลุ่มนี้ ให้แก่หน่วยงานในสังกัด สธ. ตามความต้องการและความขาดแคลนที่เป็นปัญหาเรื้อรังและมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น

ทั้งนื้ ที่ประชุมได้ให้ความคิดเห็นหลายอย่างในการปรับปรุง อาทิ ความชัดเจนในการผลิตบุคลากรเพื่อรับใช้ประชาชนในพื้นที่ สถานะขององค์กร องค์ประกอบของคณะผู้บริหารสภาสถาบัน ในระยะแรกให้มีบทเฉพาะกาลให้ปลัด สธ.เป็นนายกสภาฯ ไปก่อน เพื่อให้การดำเนินงานมีความมั่นคงระหว่างกระบวนการสรรหา เป็นต้น โดยได้มอบหมายให้สถาบันฯ หารือกับคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อปรับปรุงรายละเอียดในบางมาตราตามที่ได้รับคำแนะนำ และส่งกลับให้ผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้องพิจารณา ก่อนเสนอเข้าครม.ให้ความเห็นชอบ การผลักดันร่าง พ.รบ.ฉบับนี้ มีความจำเป็นมากเนื่องจากทำหน้าที่ผลิตบุคลากรประมาณร้อยละ 35 ของการผลิตทั้งประเทศ เพื่อให้เพียงต่อการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ ที่ปัจจุบันยังขาดแคลน

นพ.อภิชาติ รอดสม ผอ.สถาบันพระบรมราชชนก กล่าวว่า สถาบันฯ มีสถานศึกษาคือ วิทยาลัยพยาบาล วิทยาลัยการสาธารณสุข วิทยาลัยแพทย์แผนไทย รวม 39 แห่ง มีภารกิจหลักในการผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านสุขภาพมากว่า 60 ปี เพื่อออกไปปฏิบัติงานในสถานพยาบาลในสังกัด สธ.รวมกว่า 200,000 คน ปัจจุบันมีแผนการผลิตบุคลากรสาขาพยาบาล สาธารณสุข สหเวชศาสตร์ ใน 9 หลักสูตร ตามความต้องการของ สธ. เป็นระดับปริญญาตรี 5 หลักสูตร และระดับประกาศนียบัตร 4 หลักสูตร จำนวน 5,740 คนต่อปี โดยฝึกภาคปฏิบัติที่โรงพยาบาลในสังกัดฯ และกลับไปทำงานในพื้นที่

นพ.อภิชาติ กล่าวว่า เมื่อสถาบันฯเป็นสถานศึกษาเฉพาะทางระดับปริญญา โดยเป็นหน่วยงานของรัฐในกำกับ สธ. จะมีฐานะเป็นนิติบุคคล บริหารภายใต้สภาสถานศึกษา จะช่วยให้มีความคล่องตัว สามารถรักษาคณาจารย์ที่มีคุณภาพให้อยู่ในระบบ เพื่อให้ความรู้แก่นักศึกษาตามแผนการผลิตที่วางไว้ และประสาทปริญญาแก่บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาได้

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น