xs
xsm
sm
md
lg

ร้อง สธ.หมอผ่าตาคุยแต่โทรศัพท์ ทำตาบอด เจาะน้ำคร่ำ เด็กแท้ง แม่เกือบตาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

“ปรียานันท์” พาผู้เสียหาย 2 ราย ร้อง รมว.สธ. ประสานจ่ายค่าชดเชยตาม ม.41 เผยรายแรกเจาะน้ำคร่ำแต่กลับติดเชื้อ แท้งลูก อาการวิกฤต อีกรายหมอผ่าตาเอาแต่คุยโทรศัพท์ ทั้งที่ความดันลูกตาสูง และเลือดไหล สุดท้ายตาบอด ด้าน รพ.ราชวิถี ยัน รักษาตามขั้นตอน แต่ผลข้างเคียงการติดเชื้ออาจเกิดขึ้นได้


วันนี้ (12 ก.พ.) นางปรียานันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ ได้เดินทางมาติดตามความคืบหน้าของการออกร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. ... พร้อมนำผู้ได้รับความเสียจากการรับบริการจำนวน 2 ราย เดินทางยื่นเรื่องต่อ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อขอความเป็นธรรม

นางปรียานันท์ กล่าวว่า ผู้เสียหาย 2 ราย มาขอความเป็นธรรม รายแรกคือ น.ส.สุธิตา พกานวน อายุ 41 ปี อาชีพรับจ้างทั่วไป ฝากครรภ์ที่ รพ.ราชวิถี โดยมีอายุครรภ์ 4 เดือน แต่หลังจากที่แพทย์เจาะน้ำคร่ำเพื่อตรวจความผิดปกติในเด็กเมื่อวันที่ 21 ม.ค. ที่ผ่านมา หลังกลับมาถึงบ้านพบว่าวันรุ่งขึ้นมีอาการหนาวสั่น จึงไปพบแพทย์โรงพยาบาลพระราม 9 อัลตราซาวนด์พบว่าเด็กเสียชีวิต จึงรีบไป รพ.ราชวิถี แต่กลับไม่ได้รับการดูแล ต้องรอแพทย์นานกว่า 2 ชั่วโมง และเมื่อแพทย์ทำการตรวจพบว่า เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด แม่มีอาการวิกฤต ไตวาย และมือชา โดยแพทย์ยอมรับแต่แรกว่าเป็นความผิดพลาดทางหัตถการ แต่เมื่อเรียกเข้าไปตกลงกันภายหลัง ซึ่งทางญาติไม่ได้อยากเรียกร้องอะไร เพียงแต่อยากให้โรงพยาบาลช่วยเหลือผู้ป่วย แต่กลับปฏิเสธว่าไม่รับผิดชอบ โดยระบุว่าไม่ได้ทำสิ่งใดผิด จึงตัดสินใจมาขอความเป็นธรรมต่อ รมว.สาธารณสุข

นางปรียานันท์ กล่าวว่า อีกราย คือ นายนนทพัฒน์ มีแก้ว เป็นต้อหินเข้ารับการผ่าตัด รพ.รามาธิบดี 2 ครั้ง ต่อมาหมอนัดผ่าตัดครั้งที่ 3 แต่นานเกินไป จึงขอประสาน รพ.สุรินทร์ ซึ่งมีสิทธิบัตรทองส่งต่อมายัง รพ.จุฬาลงกรณ์ ปรากฏว่า ตอนผ่าตัดแพทย์มีการพูดคุยโทรศัพท์ตลอดเวลา ทั้งที่ตาของผู้ป่วยมีความดันสูง และเลือดไหลตลอด สุดท้ายผ่าตัดเสร็จไม่สามารถมองเห็น ตาขวาบอดสนิท แม้ รพ.จุฬาฯ จะประสานความช่วยเหลือ แต่เป็นเรื่องไม่สมควรเกิด ที่สำคัญ ขณะนั้นไม่มีการแจ้งรับสิทธิมาตรา 41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ในเรื่องการจ่ายค่าเยียวยาผู้เสียหาย

“การมาเรียกร้องจึงอยากให้ทาง สธ. ประสานขอให้ดำเนินการจ่ายย้อนหลังมาตรา 41 ให้กับผู้ป่วยตาบอดถาวรด้วย อย่างไรก็ตาม เข้าใจว่า แพทย์ไม่ตั้งใจในเรื่องผลข้างเคียง ดังนั้น เพื่อลดปัญหาความไม่เข้าใจกัน และการฟ้องร้อง อยากขอให้รัฐมนตรีว่าการ สธ. ผลักดัน พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ ด้วย ซึ่งขณะนี้ทราบว่า สธ. อยู่ระหว่างทำประชาพิจารณ์ 4 ภาค โดย มี.ค.นี้ จะเป็นการระดมความคิดเห็นภาคประชาชน จากนั้นเมื่อแล้วเสร็จตามขั้นตอน ก็จะเสนอเรื่องเข้าสู่ ครม. มั่นใจว่า ในรัฐบาลชุดนี้จะออกกฎหมายที่มีประโยชน์เช่นนี้ได้ เพราะที่ผ่านมาหลายรัฐบาลไม่สามารถผลักดัน แต่หากออกกฎหมายได้ปัญหาการฟ้องร้องระหว่างแพทย์และคนไข้จะยุติลง เพราะไม่มีการระบุว่าใครถูกใครผิด แต่เน้นการให้ความช่วยเหลือผู้เสียหาย” นางปรียานันท์ กล่าว

นพ.เกษม เสรีพรเจริญกุล หัวหน้ากลุ่มงานสูตินรีเวชศาสตร์ รพ.ราชวิถี กล่าวว่า ยืนยันว่า แพทย์ที่ทำการเจาะน้ำคร่ำ ทำตามขั้นตอนทางการแพทย์ทุกประการ และก่อนทำมีการให้อ่านเอกสาร ดูวิดีโอถึงผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น และมีการให้เซ็นยินยอม ซึ่งต้องยอมรับว่าแม้จะทำตามมาตรฐานทุกอย่าง แต่ผลลัพธ์ไม่พึงประสงค์ก็เกิดขึ้นได้ ซึ่งหลังจากเกิดขึ้นก็ให้การดูแลดีทุกอย่างตามขั้นตอน ส่วนอาการมือชามาจากการรักษา เบื้องต้นแพทย์ด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู แจ้งว่า ได้แนะนำวิธีการรักษาเพื่อบรรเทาอาการแล้ว ส่วนอาการอื่นๆ ผู้ป่วยปลอดภัยแล้ว เตรียมตัวออกจากโรงพยาบาลในเร็วๆ นี้

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น