xs
xsm
sm
md
lg

คนเสพยาบ้ามากสุด จัดอบรม 8 คอร์สช่วยบำบัด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พบคนยังเสพยาบ้ามากที่สุด เพื่อนชวนสาเหตุอันดับหนึ่งทำคนติดยา กรมแพทย์ร่วมศูนย์นานาชาติ ICCE และสถาบันธัญญารักษ์ จัดอบรมบุคลากร 8 คอร์ส ช่วยบำบัดผู้ติดยาเสพติด

นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า จากสถิติของผู้เข้ารับการบำบัดรักษายาเสพติดที่สถาบันธัญญารักษ์ปี 2557 พบว่า มีผู้ป่วยทั้งหมด 7,071 ราย ส่วนใหญ่พบในผู้ว่างงาน ร้อยละ 39.97 โดยยาเสพติดที่ใช้มากที่สุด คือ ยาบ้า ร้อยละ 52.93 สาเหตุคือเพื่อนชวนเสพ ร้อยละ 53.53 รองลงมาคืออยากทดลองเสพ ร้อยละ 38.76 จะเห็นได้ว่า ปัญหายาเสพติด เป็นปัญหาสำคัญต่อประชาชนไทย จึงมีการกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ ทั้งนี้ ในปี 2558 ประเทศไทยจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ย่อมมีผลกระทบต่อการแพร่ระบาดของยาเสพติด จากการย้ายถิ่นฐานของประชากร จึงมีความจำเป็นที่ต้องวางแผนเตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ทั้งด้านการป้องกัน การปราบปราม โดยเฉพาะการบำบัดรักษา

นพ.สุพรรณ กล่าวว่า กรมการแพทย์ จึงได้จัดทำโครงการความร่วมมือเพื่อจัดการอบรมหลักสูตรการบำบัดรักษายาเสพติดแบบสากลระดับพื้นฐาน ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างศูนย์นานาชาติเพื่อการรับรองและการศึกษาของผู้เชี่ยวชาญด้านการติดยาเสพติด แผนโคลัมโบ (ICCE) และสถาบันธัญญารักษ์ถือเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศที่มีประโยชน์ต่อการพัฒนาศักยภาพบุคลากรทั้งจากประเทศไทย ประเทศอาเซียนรวมถึงประเทศภูฏาน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาวิชาการ สร้างผู้เชี่ยวชาญในการบำบัดรักษายาเสพติด เทียบเท่าระดับสากล ให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ และนำความรู้และทักษะไปใช้ในการปฏิบัติงานดูแลบำบัด รักษาผู้ติดยาเสพติดอย่างมีคุณภาพและมีประสิทธิภาพและมีความเท่าเทียมให้กลับเป็นคนดีของสังคมและกำลังในการพัฒนาสังคมและประเทศชาติต่อไป

นพ.วิโรจน์ วีรชัย ผอ.สถาบันธัญญารักษ์ กล่าวว่า โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะ เพิ่มองค์ความรู้ และฝึกทักษะให้แก่บุคลากรผู้ปฏิบัติงานด้านการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดของประเทศไทยและกลุ่มประเทศอาเซียน เพื่อให้บุคลากรที่ดูแล บำบัด รักษาผู้ป่วยยาเสพติดมีความเชี่ยวชาญให้มีมาตรฐานเทียบเท่าในระดับสากล การอบรมครั้งนี้ประกอบด้วย 8 หลักสูตร คือ 1. หลักสูตรสรีรวิทยาและเภสัชวิทยา 2. การบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดและการดูแลต่อเนื่อง 3. โรคร่วมทางจิตเวชและความผิดปกติด้านการแพทย์ 4. ทักษะการให้คำปรึกษาพื้นฐานสำหรับวิชาชีพด้านยาเสพติด 5. การคัดกรอง การประเมิน การวางแผนการบำบัดรักษา และกระบวนการเอกสารทางการแพทย์ 6. การบริหารจัดการดูแลผู้ป่วยแบบรายตัว 7. การดูแลผู้ป่วยยาเสพติดภาวะวิกฤต และ 8. จริยธรรมในการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด

"ผู้เข้ารับการอบรมคือบุคลากรที่ปฏิบัติงานด้านการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจากประเทศไทย กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม และภูฏาน โดยลักษณะการฝึกอบรมเป็นการบรรยายและการฝึกปฏิบัติตลอดหลักสูตร โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากนานาชาติ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากศูนย์นานาชาติเพื่อการรับรองและการศึกษาของผู้เชี่ยวชาญด้านการติดยาเสพติด แผนโคลัมโบ (ICCE) เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ พัฒนาศักยภาพการบำบัดรักษาผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติดในกลุ่มประเทศอาเซียน และประเทศอื่นๆ รวมทั้งสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางด้านวิชาการและด้านการบำบัดรักษายาเสพติดระดับสากลอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ เพื่อส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิตของประชากรในประเทศไทยและประเทศอาเซียน” ผอ.สถาบันธัญญารักษ์ กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น