“ประยุทธ์” ร่วมประชุมระหว่างผู้นำกับสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน ยันไทยสนับสนุนการมีส่วนร่วมของสตรีและเยาวชนในระบบเศรษฐกิจ พร้อมหนุนจัดตั้งกลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่ของอาเซียน
วันนี้ (13 พ.ย.) เวลา 17.00 น. ณ ศูนย์การประชุมนานาชาติพม่า (MICC 1) พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมระหว่างผู้นำกับสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน สรุปดังนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณการรายงานกิจกรรมและผลการดำเนินงานของสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียนและ เห็นว่าสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียนมีบทบาทสำคัญในการเป็นเสียงสะท้อนของภาคเอกชน และให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์กับภาครัฐของอาเซียน
โดยในโอกาสนี้นายกรัฐมนตรีได้แสดงข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อการขยายความร่วมมือกับภาคเอกชนของอาเซียน ดังนี้
ประการแรก ไทยให้ความสำคัญต่อการลดอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี การปรับมาตรฐานสินค้า และการอำนวยความสะดวกทางการค้า และเห็นว่าภาครัฐและภาคเอกชนควรร่วมมือกันให้ใกล้ชิดมากขึ้น เพื่อร่วมกันหาลู่ทางที่เหมาะสม
ประการที่ 2 ไทยสนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) โดยได้กำหนดให้การพัฒนา SMEs เป็นวาระแห่งชาติ อาเซียนต้องสามารถยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของ SMEs โดยการสนับสนุนการวิจัยและการพัฒนา การช่วยเหลือให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน รวมทั้งการให้ความรู้ด้านการตลาด กฎระเบียบ และนวัตกรรมใหม่ๆ
อีกประเด็นหนึ่งที่ไทยต้องการเห็น คือ การใช้ประโยชน์จากการรวมตัวทางเศรษฐกิจของอาเซียนที่มีแนวโน้มจะขยายครอบคลุมประเทศต่างๆ มากขึ้น ภาคธุรกิจอาเซียนต้องใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอดังกล่าว เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ภาคธุรกิจและภาพลักษณ์ของอาเซียนว่าเป็นภูมิภาคที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันและน่าดึงดูดในการทำการค้าและการลงทุน ไทยขอเสนอให้สภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียนพิจารณาพัฒนาตราสินค้าอาเซียน (ASEAN Brand) ในสาขาผลิตภัณฑ์ที่อาเซียนมีความเข้มแข็ง อาทิ สินค้าเกษตรและเครื่องใช้ในบ้านและครัวเรือนเพื่อสร้างความเท่าเทียมกัน และการเจริญเติบโตที่ยั่งยืน รัฐบาลไทยให้การสนับสนุนการมีส่วนร่วมของสตรีและเยาวชนในระบบเศรษฐกิจ พร้อมทั้งสนับสนุนการจัดตั้ง “กลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่ของอาเซียน” ซึ่งจะเป็นกลุ่มนักธุรกิจที่เติบโตไปพร้อมๆ กับประชาคมอาเซียน
ขณะนี้ อาเซียนอยู่ระหว่างการจัดทำวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนภายหลังปี 2558 ถือเป็นอีกก้าวสำคัญของอาเซียนในการรวมตัวกันให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น ซึ่งจะมีการพิจารณาประเด็นความท้าทายใหม่ๆ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก ภาคธุรกิจอาเซียนมีบทบาทสำคัญในการให้ข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะเพื่อให้การดำเนินการของอาเซียนหลังปี 2558 เกิดประโยชน์สูงสุด