xs
xsm
sm
md
lg

ประยุทธ์หนุนบทบาทสหรัฐฯ สร้างสันติภาพความมั่นคงศก.อาเซียน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อเวลา 11.45 น. วานนี้ (13พ.ย.) ที่ศูนย์การประชุมนานาชาติเมียนมาร์ (MICC)ณ ห้อง Emerald Hallชั้น 2 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน- สหรัฐอเมริกา ครั้งที่ 2 ร่วมกับผู้นำชาติอาเซียน เลขาธิการอาเซียน และ นายบารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา โดยการประชุมครั้งนี้เป็นการทบทวนพัฒนาการความร่วมมือ และกำหนดทิศทางความร่วมมือในอนาคต รวมทั้งมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นระดับภูมิภาค และระหว่างประเทศ ซึ่งภายหลังการประชุม ผู้นำได้ให้การรับรองร่างถ้อยแถลง ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ(ASEAN–U.S.Joint Statement on Climate Change)
ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การเข้าร่วมการประชุมของประธานาธิบดี โอบามา ซึ่งครั้งนี้เป็นครั้งที่ 5 ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมาได้สะท้อนให้เห็นว่า สหรัฐฯให้ความสำคัญกับอาเซียนและภูมิภาคนี้อย่างยิ่ง โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อาเซียนและสหรัฐฯ เห็นพ้องที่จะพัฒนาความสัมพันธ์ไปสู่ความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อย่างแท้จริง ไทยเป็นพันธมิตรที่ยาวนานของสหรัฐฯ และเห็นถึงความสำคัญของบทบาทของสหรัฐฯ ในการรักษาเสถียรภาพ และเสริมสร้างความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาค ไทยสนับสนุนการเข้ามามีบทบาทอย่างสร้างสรรค์ของสหรัฐฯ ในภูมิภาค โดยเฉพาะการที่สหรัฐฯเห็นความสำคัญถึงบทบาทอันเป็นแกนกลางของอาเซียนในการเสริมสร้างสันติภาพ เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาค
ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิรัฐศาสตร์ในปัจจุบัน ไทยมองว่าบทบาทของสหรัฐฯมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อภูมิภาคนี้ รวมทั้ง ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างประเทศมหาอำนาจในภูมิภาค เพื่อเสริมสร้างบรรยากาศความมั่นคงที่ดี และเอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของภูมิภาค ดังนั้น บทบาทของสหรัฐฯ จะต้องมีความสร้างสรรค์ และยั่งยืน เพื่อส่งเสริมความมั่นคงในภูมิภาคในทุกมิติ
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้เสนอข้อคิดเห็นบางประการ โดยประการแรก ความมั่นคงของภูมิภาค จะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความมั่นคงด้านเศรษฐกิจ ซึ่งนายกรัฐมนตรีเห็นว่า สหรัฐฯ สามารถมีบทบาทในการช่วยยกระดับการพัฒนาของประเทศต่างๆ ซึ่งรวมถึงการลดช่องว่างด้านการพัฒนา โดยอาจเน้นการพัฒนาภาคเกษตร ซึ่งเป็นกระดูกสันหลังของเศรษฐกิจอาเซียน แต่ภาคเกษตรยังไม่ได้รับผลประโยชน์เท่าที่ควร จากการเปิดเสรีและการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาค
ดังนั้นจึงจำเป็นต้องร่วมมือกันเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับภาคเกษตร โดยการเปิดตลาดส่งออก การเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตร การแบ่งปันองค์ความรู้ เพื่อพัฒนาเกษตรกรรมให้มีผลผลิตเพียงพอและเกษตรกรได้รับรายได้ที่เป็นธรรม
นอกจากนี้ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม มีบทบาทสำคัญหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของอาเซียน ซึ่งยังต้องพัฒนาศักยภาพเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ โดยการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจ การแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดี การบริหารจัดการธุรกิจ การเข้าถึงแหล่งเงินทุน นวัตกรรมเชิงสร้างสรรค์ การเรียนรู้วิธีการดำเนินการ (know how)
ประการที่สอง นายกรัฐมนตรีเสนอว่า เราสามารถขยายความร่วมมือด้านความมั่นคงของมนุษย์ ที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ปัจจุบัน เราต่างเผชิญกับปัญหาความมั่นคงรูปแบบใหม่ และประเด็นท้าทายข้ามชาติ อาทิ การค้ามนุษย์ การลักลอบค้าสัตว์ป่า อาชญากรรมคอมพิวเตอร์ ความมั่นคงทางทะเล ภัยพิบัติทางธรรมชาติ รวมทั้งปัญหาความมั่นคงตามแนวชายแดน โดยไทยและอาเซียนพร้อมที่จะขยายความร่วมมือกับสหรัฐฯ ในประเด็นเหล่านี้
สำหรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่นายกรัฐมนตรีเห็นว่า มีผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจ และความเป็นอยู่ของประชาชน ไทยยินดีต่อบทบาทนำของประธานาธิบดีโอบามา ในการผลักดันความร่วมมือ เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไทยจึงสนับสนุนแถลงการณ์ร่วมอาเซียน-สหรัฐฯ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และหวังว่าอาเซียนและสหรัฐฯ จะสามารถร่วมกันจัดการความท้าทายนี้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป ซึ่งผลกระทบประการหนึ่ง คือ การเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติในภูมิภาค อาเซียนจึงต้องเตรียมความพร้อมและมีการวางระบบเตือนภัยล่วงหน้าที่มีประสิทธิภาพ เพื่อรับมือกับภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้น
ทั้งนี้ ไทยให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพด้านการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและจัดการกับภัยพิบัติ และสนับสนุนการจัดการประชุม Third UN World Conference on Disaster Risk Reduction ที่เซ็นได ในปีหน้า
นอกจากนี้ ประเด็นท้าทายจากโรคระบาด เป็นประเด็นที่อาเซียนและสหรัฐฯ ควรให้ความสำคัญด้วยไทยสนับสนุนการมีความร่วมมือแก้ไขปัญหาทั้งในเวทีระดับโลก และระดับภูมิภาค ในส่วนของการแพร่ระบาดของอีโบลา ไทยสนับสนุนแถลงการณ์ร่วมการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 9 ว่าด้วยการรับมือกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสอีโบลา ของภูมิภาค และได้เสนอเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน+3 สมัยพิเศษ ในเดือนธันวาคม 2557 เพื่อสนับสนุนความพยายามในการเตรียมความพร้อม และแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของอีโบลาในระดับภูมิภาค
ประเด็นสุดท้าย ไทยร่วมกับอาเซียน เห็นความสำคัญของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการเสริมสร้างความเชื่อมโยงระหว่างประชาชน โดยเฉพาะเยาวชน โดยไทยยินดีที่โครงการผู้นำเยาวชนแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ของประธานาธิบดีโอบามา ยังคงดำเนินต่อไป ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า สหรัฐฯ ให้ความสำคัญต่อการเสริมสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างเยาวชนของสองฝ่ายไทยสนับสนุนให้สหรัฐฯ ขยายบทบาทในการริเริ่มและดำเนินโครงการด้านการศึกษา และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการเสริมสร้างประชาคมที่แข็งแกร่งของอาเซียน ทั้งในปัจจุบันและภายหลังปี 2558

**"ไทย-เกาหลี"หุ้นส่วนการค้า การลงทุน

วันเดียวกันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังได้หารือทวิภาคีกับน.ส.ปัก กึน-ฮเย ประธานาธิบดีสาธารณรัฐเกาหลี โดยนายกฯกล่าวชื่นชมนโยบายเศรษฐกิจ และความเป็นผู้นำในการสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงบนคาบสมุทรเกาหลี ซึ่งไทยกับเกาหลีใต้มีความสัมพันธ์ยาวนาน และยืนยันว่า รัฐบาลปัจจุบัน จะมุ่งมั่นเดินหน้ากระชับความร่วมมือตามแนวคิดนี้ต่อไป
โดยผู้นำทั้งสองเห็นพ้องที่จะเพิ่มพูนความสัมพันธ์กับเกาหลี ทั้งในเรื่องของการค้า การลงทุน และการใช้ความเป็นหุ้นส่วนนี้ไปพัฒนาภูมิภาคร่วมกัน
ทั้งนี้ ผู้นำทั้งสองจะได้มีโอกาสพบปะกันอีกครั้ง ในการประชุมสุดยอดอาเซียนเกาหลีสมัยพิเศษ ที่จะจัดขึ้นในเดือนธันวาคม ณ สาธารณรัฐเกาหลี

**"ญี่ปุ่น"สนใจร่วมพัฒนาระบบรางในไทย

ส่วนการหารือทวิภาคีร่วมกับ นายชินโซะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นนั้น ร.อ.นพ.ยงยุทธ เปิดเผยว่า นายกฯญี่ปุ่นได้สอบถามความคืบหน้าของโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของไทย รวมถึงการพัฒนาเส้นทางขนส่งระบบราง ซึ่งนายกฯไทยได้แจ้งให้ญี่ปุ่นรับทราบว่าขณะนี้ไทยอยู่ระหว่างการพิจารณาระบบรางทั้ง 3 ระบบ ได้แก่ การสร้างรถไฟรางมาตรฐานเดิม โครงการรถไฟมาตรฐานใหม่ และรถไฟความเร็วสูง ว่าระบบใดมีความจำเป็นและคุ้มค่า ในด้านการลงทุน เพื่อพัฒนาระบบโลจิกติกส์ของไทยมากที่สุด โดยนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ระบุว่า ภาคเอกชนของญี่ปุ่นมีความสนใจที่จะเข้ามาร่วมในโครงการดังกล่าว ซึ่งทางฝ่ายไทยไม่ขัดข้อง และจะแจ้งให้ภาคเอกชนญี่ปุ่น และภาคเอกชนจากประเทศอื่นที่สนใจทราบ หลังจากมีการพิจารณาโครงการดังกล่าว โดยในชั้นนี้ ผู้นำทั้งสองประเทศ เห็นตรงกันว่าระหว่างนี้ ควรให้หน่วยงานด้านคมนาคมของสองประเทศได้หารือร่วมกันในเบื้องต้นก่อน
ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้เชิญนายกฯเยือนญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ ซึ่งนายกฯ ตอบรับพร้อมกับเชิญนายกฯอาเบะ มาเยือนประเทศไทย เช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น