xs
xsm
sm
md
lg

ยันหวัดใหญ่ H3N2 ระบาดหนักฮ่องกงไม่น่าห่วง เป็นไข้หวัดฤดูกาลในไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

อธิบดี คร. เผยไข้หวัดใหญ่ H3N2 ระบาดหนักที่ฮ่องกงไม่น่าห่วง ชี้เป็นไข้หวัดตามฤดูกาลในไทย พบมากช่วงเย็น แนะประชาชนดูแลสุขภาพตัวเอง

วันนี้ (6 ก.พ.) นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวถึงกรณีข่าวการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ H3N2 ในฮ่องกง ที่ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ว่า ขณะนี้ยังไม่น่าเป็นห่วง เพราะไข้หวัดชนิดนี้พบได้ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย ที่สำคัญโรคไข้หวัดใหญ่เป็นไข้หวัดตามฤดูกาลเท่านั้น เนื่องจากโรคนี้มักพบมากในช่วงอากาศเย็น คือ ช่วงหน้าหนาวและหน้าฝน ดังนั้น ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ที่มีอากาศหนาวเย็นอาจเจ็บป่วยด้วยอาการไข้หวัดใหญ่ได้ง่าย โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในพื้นที่แออัดมีโอกาสป่วยเป็นโรคนี้ได้สูงกว่าพื้นที่อื่นๆ

นพ.โสภณ กล่าวว่า จากข้อมูลการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดใหญ่ของกรมควบคุมโรค โดยสำนักระบาดวิทยา ตั้งแต่ 1 มกราคม - 2 กุมภาพันธ์ 2558 พบผู้ป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ จำนวน 4,041 ราย เสียชีวิต 4 ราย กลุ่มที่ป่วยมากที่สุด คือ ช่วงอายุ 10 - 14 ปี (ร้อยละ 11.75) รองลงมาคือ อายุ 25 - 34 ปี และอายุ 7 - 9 ปี ตามลำดับ ส่วนจังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรก คือ เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน พระนครศรีอยุธยา และ พะเยา

ผู้ที่ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ อาการมักเริ่มด้วยการเป็นไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อมาก ในเด็กอาจพบอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง ส่วนใหญ่มักมีอาการไม่รุนแรง อาการจะทุเลาและหายป่วยภายใน 5 - 7 วัน แต่บางรายที่มีอาการปอดอักเสบรุนแรง จะมีอาการหายใจเร็ว เหนื่อย หอบ หายใจลำบาก อาจทำให้เสียชีวิตได้สำหรับการรักษาโรคไข้หวัดใหญ่ จะรักษาตามอาการ ถ้ามีไข้ให้ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัว หากไข้ไม่ลดให้รับประทานยาลดไข้ เช่น พาราเซตามอล นอนหลับพักผ่อน ให้ดื่มน้ำมากๆ และสวมหน้ากากป้องกันโรคเพื่อป้องกันการแพร่กระจายโรคไปสู่ผู้อื่นในกรณีที่ต้องไปยังที่สาธารณะ หากอาการไม่ดีขึ้นใน 48 ชั่วโมง หรือมีอาการรุนแรงให้พบแพทย์ทันที” อธิบดี คร. กล่าว

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดี คร. กล่าวว่า โรคไข้หวัดใหญ่สามารถป้องกันได้ด้วยตนเอง เช่น การล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น ไม่คลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีอาการไข้หวัด หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีผู้คนแออัดและอากาศถ่ายเทไม่ดีเป็นเวลานานโดยไม่จำเป็น และติดตามคำแนะนำจากกระทรวงสาธารณสุขอย่างใกล้ชิด ส่วนผู้ที่ดูแลและคลุกคลีกับผู้ป่วย ควรสวมหน้ากากป้องกันโรค หมั่นล้างมือด้วยน้ำและสบู่บ่อยๆ โดยเฉพาะเวลาสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย สัมผัสตัว หรือข้าวของเครื่องใช้ผู้ป่วย ดูแลสุขภาพอนามัยตนเอง หลังจากดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น