xs
xsm
sm
md
lg

รอบรู้โรคภัย : เตรียมพร้อม... รับมือ โรคที่มากับฤดูหนาว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ฤดูหนาวถึงแม้จะเป็นฤดูที่หลายๆคนชอบ แต่ก็เป็นฤดูที่อาจนำความเจ็บป่วยบางอย่างมาให้กับคนเราโดยเฉพาะ ถ้าเราดูแลสุขภาพไม่ดี ถึงแม้ประเทศไทยอากาศจะไม่หนาวเท่ากับหลายๆประเทศ แต่อุณหภูมิในฤดูหนาวบางปีและในบางพื้นที่ ก็สามารถทำให้เราเจ็บป่วยได้ ตัวอย่างโรคที่มาพร้อมฤดูหนาว ได้แก่

• โรคไข้หวัด
ในโลกเรามีเชื้อไวรัสหวัดเป็นร้อยชนิด ซึ่งสามารถติดต่อได้จากการสูดอากาศที่มีเชื้อโรคนี้ปนอยู่ อาการประกอบด้วยไอ จาม คัดจมูกน้ำมูกไหล ระคายคอ มีไข้ โดยทั่วไปจะหายไปภายใน 1 สัปดาห์ โรคนี้จะหายได้เองโดยธรรมชาติ ไม่มีภาวะแทรกซ้อน

การดูแลรักษาขณะที่ไม่สบาย ได้แก่ การพักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการออกกำลังหรือทำกิจกรรมบางอย่างที่ไม่จำเป็น ดื่มน้ำมากๆ โดยเฉพาะน้ำผลไม้ รับประทานยาลดไข้พาราเซตามอล ยาลดน้ำมูก และยาแก้ไอ อย่างไรก็ตาม การรับประทานยาเหล่านี้ไม่ได้ลดจำนวนวันของอาการไม่สบายลง

• โรคไข้หวัดใหญ่
โรคไข้หวัดใหญ่จะมีการระบาดใหญ่เป็นประจำในช่วงฤดูหนาว เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Influenza virus) ซึ่งมีอยู่ 3 ชนิดด้วยกัน คือ ชนิดเอ บี และซี

เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดซีนั้น พบน้อยในวงแคบและไม่รุนแรง ส่วนชนิดบีพบเฉพาะในคน ไม่ค่อยทำให้เกิดอาการรุนแรง แต่ไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอนั้นพบได้ในคนและสัตว์นานาชนิด สามารถก่อโรคได้รุนแรง และเป็นปัญหาของโลก เกือบทุกปี เพราะแพร่ระบาดในหลายพื้นที่

เชื้อเข้าสู่ร่างกายทางทางเดินหายใจ ซึ่งเชื้อโรคจะมาจากน้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะของผู้ป่วย เมื่อมีการไอ จามทำให้เชื้อแพร่กระจายในอากาศ แล้วเราสูดเข้าไปในทางเดินหายใจและทำให้เกิดโรคภายใน 1-3 วัน

นอกจากนั้น อาจติดต่อโดยการที่เราไปจับสิ่งของที่ปนเปื้อนน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย เช่น ลูกบิดประตู ราวบันได แก้วน้ำ โทรศัพท์ เป็นต้น แล้วมาจับบริเวณใบหน้าเรา ทำให้เชื้อเข้าไปในร่างกายทางจมูกได้

โดยส่วนใหญ่โรคนี้ไม่ได้อันตรายร้ายแรงกับคนทั่วๆไป แต่ในผู้ป่วยบางกลุ่มเช่น ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น หอบหืด ถุงลมโป่งพอง โรคหัวใจวาย เบาหวาน โรคไตวาย ผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่อง เป็นต้น อาจเกิดปัญหาแทรกซ้อนได้มาก เช่น เกิดปอดอักเสบติดเชื้อ ทั้งจากไวรัส ไข้หวัดใหญ่เอง หรือจากการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนตามมา

อาการของไข้หวัดใหญ่ ได้แก่ มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ ซึ่งมักมีอาการมากในช่วง 3-4 วันแรก หลังจากนั้นอาจมีเจ็บคอ ไอแห้งๆ คัดจมูกน้ำมูกไหล โดยทั่วไปมีอาการอยู่ประมาณ 7-10 วัน ผู้สูงอายุอาจมีอาการไม่ชัดเจน (atypical presentations) ได้บ่อย บางครั้งอาจมีไข้ อ่อนเพลีย ซึม สับสน หรือการช่วยเหลือ

การรักษาเมื่อมีอาการไม่สบายแล้ว ก็เหมือนกับการรักษาไข้หวัดดังกล่าวแล้ว ในเด็กควรหลีกเลี่ยงการรับประทานยาแอสไพรินลดไข้ เนื่องจากอาจทำให้เกิดกลุ่มอาการไรย์ (Rye syndrome) ได้ สำหรับยากดการเพิ่มจำนวนของไวรัส ได้แก่ Amantadine, Rimantadine และ Neuraminidase inhibitors (oseltamivir และ zanamivir) นั้น มักไม่ต้องใช้และไม่ค่อยมีในโรงพยาบาลทั่วไป อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ และปัจจุบันไวรัสมีการดื้อยามากขึ้น ส่วนใหญ่ใช้ในรายที่มีอาการแทรกซ้อนรุนแรง

• อาการหอบหืดในผู้ป่วยโรคหอบหืด และโรคปอดเรื้อรังกำเริบ
ผู้ป่วยโรคหอบหืดและโรคปอดเรื้อรังบางราย อาจมีอาการกำเริบหอบเหนื่อยมากขึ้นในฤดูหนาว โดยเฉพาะหากติดเชื้อไข้หวัด และไข้หวัดใหญ่ร่วมด้วย ดังนั้น ในช่วงฤดูหนาวจึงต้องดูแลสุขภาพให้ดี เพื่อไม่ให้ติดไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ ควรมียาแก้หอบหืดติดตัว และติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงควรฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ด้วย

• โรคภูมิแพ้
ช่วงฤดูหนาว คนที่มีโรคภูมิแพ้อากาศอยู่เดิม อาจมีอาการมากขึ้นได้ โดยเฉพาะช่วงอากาศเปลี่ยนใหม่ๆ หรือบางคนที่แพ้ตัวไรในฝุ่น ซึ่งอยู่ตามที่นอน แพ้ควันบุหรี่ แพ้ขนสัตว์ ในช่วงฤดูหนาวอาจมีอาการมากขึ้น เนื่องจากมีโอกาสอยู่ในบ้านมากขึ้นร่วมกับคนที่สูบบุหรี่ และสัตว์เลี้ยง ซึ่งก็มักอยู่ในบ้านในช่วงฤดูหนาว ทำให้คนที่เป็นโรคภูมิแพ้อยู่เดิมมีโอกาสได้รับการกระตุ้นจากสิ่งที่แพ้มากขึ้น โดยอาจมีอาการคันจมูก คันตา จาม มีน้ำมูกใสๆ คัดจมูกอยู่ตลอดได้

ผู้ป่วยบางรายมีผื่นนูนคันเวลาอากาศเย็น (cold-induced urticaria) โดยมักมีอาการในช่วงที่มีอากาศเปลี่ยน อาจมีตุ่มนูนคันขึ้นในบริเวณที่ถูกอากาศเย็นได้ ในช่วงนี้ควรดูแลสุขภาพให้ดี หลีกเลี่ยงอากาศที่หนาวจัด สวมใส่เครื่องนุ่งห่มที่อบอุ่น บางรายถ้ามีอาการมาก อาจต้องรับประทานยาแก้แพ้อากาศ เพื่อลดอาการลง

• อุณหภูมิในร่างกายต่ำเกินไป (Hypothermia)
ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่อาจเกิดปัญหาอุณหภูมิในร่างกายต่ำเกินไป (hypothermia) ขึ้นได้ง่าย โดยเฉพาะในบางรายที่ช่วยเหลือตนเองได้น้อย ในบางพื้นที่ของประเทศที่มีอากาศหนาวมาก โดยเฉพาะถ้าต่ำกว่า 15-18 องศาเซลเซียส อาจทำให้เกิดภาวะนี้ได้

การดูแลป้องกันคือ การพยายามรักษาความอบอุ่นของร่างกายสม่ำเสมอ รับประทานอาหารครบถ้วน และพยายามหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่อากาศหนาวจัด

• ผิวหนังแห้ง ลอก และคัน
ในช่วงอากาศหนาว ความชื้นในอากาศมักลดลง ความชื้นที่ผิวหนังก็จะลดลงไปด้วย อาจทำให้ผิวแห้ง คันและลอกได้ ซึ่งมักก่อให้เกิดปัญหากับคนที่ผิวแห้ง หรือผู้สูงอายุที่มีต่อมไขมันทำงานลดลง และความชื้นของชั้นผิวหนังน้อยอยู่แล้ว

การป้องกันและแก้ไข คือ การใช้สบู่อ่อนๆ ไม่ขัดผิวมาก ไม่ควรแช่น้ำอุ่นนานๆ อาจอาบน้ำลดลงเป็นวันละครั้ง และทาครีมหรือน้ำมันทาผิวหลังอาบน้ำขณะที่ผิวยังหมาดๆอยู่

จะเห็นได้ว่าในฤดูหนาวนั้นอาจทำให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพได้หลายอย่าง การดูแลสุขภาพให้แข็งแรงและการหลีกเลี่ยงจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเชื้อโรคหรือตัวกระตุ้นโรคภูมิแพ้ ดังกล่าวแล้ว เป็นสิ่งที่สามารถลดโอกาสความเจ็บป่วยลงได้ครับ

(ข้อมูลจากเว็บไซต์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล)


(จากนิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 168 ธันวาคม 2557 โดย รศ.นพ.วีรศักดิ์ เมืองไพศาล ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล)
เตือน! เที่ยวหน้าหนาวนอนป่า ระวัง “ตัวไรอ่อน” กัด เสี่ยงป่วย-ตาย
เตือน! เที่ยวหน้าหนาวนอนป่า ระวัง “ตัวไรอ่อน” กัด เสี่ยงป่วย-ตาย
เตือนนักท่องเที่ยวนอนพักแคมป์ในป่าช่วงฤดูหนาว ระวังตัวไรอ่อนกัด เสี่ยงป่วยเป็นโรคสครับไทฟัส ปีนี้พบป่วยแล้ว 8,000 ราย เสียชีวิต 5 ราย แนะประชาชนที่จะไปท่องเที่ยวตั้งแคมป์ไฟ กางเต็นท์นอนในป่า ควรทำบริเวณค่ายพักให้โล่งเตียน หลีกเลี่ยงการนั่งและนอนบนพื้นหญ้า บริเวณพุ่มไม้ หรือป่าละเมาะ แต่งกายให้มิดชิด หลังกลับจากเที่ยวป่าภายใน 2 สัปดาห์หากป่วยมีไข้ขึ้นสูงปวดศีรษะ และมีแผลคล้ายรอยบุหรี่จี้ ให้รีบพบแพทย์เพื่อรักษาทันที พร้อมแจ้งประวัติเที่ยวป่า อย่าปล่อยไว้นาน หากรักษาช้าอาจเสียชีวิตได้
กำลังโหลดความคิดเห็น