xs
xsm
sm
md
lg

โรคสุกใสระบาดหนัก อีสานใต้ป่วยเฉียดหมื่น ตายแล้ว 1 ที่โคราช-วัคซีนขาดตลาด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น.พ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - อีสุกอีใสระบาดหนักหน้าหนาว ทั่วประเทศพบป่วยร่วม 8 หมื่นราย ตาย 1 ราย สูงกว่าปีที่แล้วทั้งปี 37% ขณะ 4 จว.อีสานใต้พบผู้ป่วยเกือบหมื่นราย โคราชจังหวัดเดียวป่วยอื้อกว่า 4,200 ราย ตายแล้ว 1 ราย ชี้เด็กกลุ่มเสี่ยง เตือน ปชช.ป้องกันตัวเอง ห้ามกินยาแอสไพรินลดไข้เด็ดขาด ขณะวัคซีนราคาแพงและขาดตลาด

วันนี้ (15 ธ.ค.) นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยขณะเดินทางมาตรวจราชการที่จังหวัดนครราชสีมาถึงโรคระบาดในช่วงฤดูหนาวว่า โรคสุกใส หรือ อีสุกอีใส พบการระบาดทุกพื้นที่มากสุดในขณะนี้ โดยจากข้อมูลสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่เดือน ม.ค.-ธ.ค. 2557 พบผู้ป่วยโรคสุกใสแล้วจำนวน 79,000 กว่าราย เสียชีวิต 1 ราย มากกว่าปี 2556 ประมาณ 37% ซึ่งมีผู้ป่วยทั้งปี 49,398 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต โรคนี้จะมีการระบาดหนักในช่วงหน้าหนาว เนื่องจากเชื้อไวรัสชนิดนี้ฟักตัวได้ดีในช่วงหน้าหนาว

โดยในพื้นที่เครือข่ายบริการสุขภาพที่ 9 ประกอบด้วย 4 จังหวัดในภาคอีสานตอนล่าง ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-15 ธ.ค. 2557 พบผู้ป่วยทั้งสิ้นจำนวน 8,467 ราย แยกเป็นรายจังหวัดได้ดังนี้ จ.นครราชสีมาพบผู้ป่วย 4,275 ราย มีผู้เสียชีวิต 1 ราย จ.บุรีรัมย์พบผู้ป่วย 2,279 ราย จ.สุรินทร์พบผู้ป่วย 1,008 ราย และ จ.ชัยภูมิพบผู้ป่วย 905 ราย สาเหตุที่ทำให้เกิดการระบาดหนักในช่วงนี้เนื่องจากประชาชนไม่ตระหนัก และเวลาพบผู้ป่วยแล้วชะล่าใจ

ฉะนั้นจึงฝากเตือนประชาชนให้ระมัดระวัง โดยเฉพาะเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 1 ขวบ และ ผู้ที่ป่วยที่มีภูมิต้านทานไม่ดี เป็นโรคเรื้อรัง เช่น มะเร็ง ผู้ป่วย HIV หากได้รับเชื้อจะมีอาการรุนแรง ส่วนการดูแลรักษาต้องใช้เวลาสักระยะเพราะไม่มียาฆ่าเชื้อนี้โดยตรงต้องรักษาตามอาการ หากป่วยประมาณ 1 สัปดาห์จะมีผื่นขึ้นมาก และหายไปประมาณ 2-3 สัปดาห์ ซึ่งโรคนี้ติดกันง่ายมาก เช่น อยู่ใกล้กัน ใช้ผ้าเช็ดตัว หรือใช้อุปกรณ์ร่วมกัน

สำหรับโรคสุกใสเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสวาริเซลลา (Varicella) ชนิดเดียวกับที่ทำให้เกิดงูสวัด ติดต่อกันโดยการหายใจเอาละอองเสมหะ น้ำมูก และน้ำลายของผู้ป่วยเข้าไป หรือใช้ภาชนะ และของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้ป่วย หรือสัมผัสน้ำเหลืองจากตุ่มพองใสที่ผิวหนังของผู้ป่วย มักเกิดในเด็ก ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ต่ำๆ ต่อมามีผื่นขึ้นที่หนังศีรษะ ใบหน้า ตามตัว โดยเริ่มเป็นผื่นแดง นูนแล้วเปลี่ยนเป็นตุ่มพองใสในวันที่ 2-3 นับตั้งแต่เริ่มมีไข้ จากนั้นตุ่มจะเป็นหนอง แห้งตกสะเก็ด และร่วงภายใน 5-20 วัน

ส่วนการป้องกันนั้น มีวัคซีนสำหรับฉีดป้องกันแต่วัคซีนชนิดนี้ไม่ได้อยู่ในบัญชียาที่จะให้บริการฟรีแก่ประชาชน ต้องซื้อเองซึ่งมีราคาค่อนข้างแพงและช่วงนี้วัคซีนดังกล่าวขาดตลาด

สำหรับการรักษานั้น ในรายที่เป็นไม่มากอาจดูแลตัวเองที่บ้านตามอาการ เช่น มีไข้ ให้กินยาพาราเซตามอล และห้ามกินยาแอสไพรินลดไข้เด็ดขาด หากมีอาการคันให้ใช้ยาทาเพื่อลดอาการคัน และในเด็กควรตัดเล็บสั้น ส่วนเด็กนักเรียนที่ป่วยควรหยุดเรียน 1 สัปดาห์ ในรายที่มีไข้สูง มีผื่นขึ้นตามตัวมาก มีอาการเจ็บป่วยรุนแรงขึ้น เช่น หายใจหอบ ชัก ซึมลง ต้องรีบพบแพทย์

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทั่วประเทศเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เร่งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ประชาชนในการป้องกันการเจ็บป่วย และให้ทุกโรงพยาบาลเพิ่มมาตรการการดูแลผู้ป่วยเพื่อป้องกันการเสียชีวิตให้มากที่สุด โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคเรื้อรังประจำตัว เนื่องจากมีภูมิต้านทานโรคต่ำกว่า หากติดเชื้อและป่วยจะมีอาการรุนแรง นพ.โสภณกล่าวในตอนท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น