xs
xsm
sm
md
lg

โหมจุดประทัดตรุษจีนระวังทำหูตึงถาวร!! แนะใส่ earplugs ป้องกัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เตือนโหมจุดประทัดเทศกาลตรุษจีน ระวังหูอื้อ หูตึง เหตุระดับเสียงดังถึง 130 เดซิเบล ชี้อาจกระทบกระเทือนหูชั้นใน ทำเยื่อหูชั้นในฉีกขาด ระบุรับเสียงดังเป็นเวลานานอาจหูตึงถาวรได้ แนะหลีกเลี่ยงสถานที่เสียงดัง หรือใส่ earplugs
ภาพจาก http://traave.com/travel/สีสันเทศกาลตรุษจีน
นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ช่วงเทศกาลตรุษจีนจะมีการจุดประทัดเป็นจำนวนมาก ก่อให้เกิดเสียงดัง มีระดับเสียงกระแทกสูงกว่า 130 เดซิเบล เอ สูงกว่าเสียงที่เป็นอันตรายที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้คือ 85 เดซิเบล เอ จะทำให้เกิดอาการหูตึงชั่วคราว หูอื้อ และปวดในหูโดยทันทีที่ได้ยินเสียงดังมาก และหากเวลาผ่านไป 1 ชั่วโมง ยังไม่หาย ควรรีบไปพบแพทย์ หรือหูอาจมีเสียงดังวิ้ง หรือ วี้ และได้ยินไม่ชัด ถ้าไม่หายภาย ใน 2 - 3 ชั่วโมง หรือมีอาการเวียนศีรษะ บ้านหมุน มึนงง แสดงว่าอาจกระเทือนไปถึงหูชั้นใน อาจมีเยื่อของหูชั้นในฉีกขาด ต้องรักษาโดยด่วน และถ้าได้รับเสียงดังในช่วงเวลายาวนานจะทำให้หูตึง ถาวรได้ นอกจากนี้ เสียงดังของประทัดยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ป่วยโรคหัวใจ ความดันโลหิต หรือส่งผลต่อสุขภาพจิต ทำให้หงุดหงิด และนอนไม่หลับอีกด้วย

ด้าน นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากการวิจัยผู้สูงอายุในไทย พบความรุนแรงของการสูญเสียการได้ยินในเพศชาย ร้อยละ 8.0 ผู้สูงอายุหญิงไทย ร้อยละ 6.9 ซึ่งมีสาเหตุมาจากความเสื่อมของอวัยวะทุกส่วนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการได้ยิน เนื่องจากอายุที่มากขึ้น การได้รับเสียงดังเกินไปหรือสัมผัสเสียงดังซ้ำๆ เป็นเวลานาน และกิจกรรมสันทนาการที่เสี่ยงต่อการสูญเสียการได้ยิน เช่น การยิงเป้า การฟังเพลงในระดับเสียงดังผ่านหูฟัง เป็นต้น

เสียงที่คนเราได้ยินจากสิ่งแวดล้อมโดยทั่วไป เช่น เสียงจากโทรทัศน์ วิทยุ อุปกรณ์ต่างๆ ในบ้าน และการจราจรบนท้องถนน เป็นระดับเสียงที่ปลอดภัยต่อการได้ยิน และไม่ทำให้สูญเสียการได้ยิน แต่เสียงที่ดังมากสามารถทำอันตรายได้ ถึงแม้จะเป็นช่วงสั้นๆ ก็ตาม หรือถ้าเสียงดังเป็นเวลานานก็จะสร้างความเสียหายต่อโครงสร้างที่สำคัญของหูชั้นใน และก่อให้เกิดการสูญเสียการได้ยิน ประชาชนจึงควรป้องกันโดยการหลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีเสียงดัง หากเลี่ยงไม่ได้ควรออกจากสถานที่นั้นให้เร็วที่สุด หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันเสียงดังทุกครั้งที่ต้องอยู่ในสถานที่เสียงดัง เช่น earplugs หรือ earmuffs ซึ่งมีจำหน่ายในร้านอุปกรณ์กีฬา และไม่ฟังเพลงหรือเปิดเสียงโทรทัศน์ดังเกินไป” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น