xs
xsm
sm
md
lg

ใส่ใจสุขภาพ : ฟังไว้ 9 วิธี ดูแลสุขอนามัยหู

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หู...ใครว่าไม่สำคัญ

หู...นอกจากเป็นอวัยวะที่ใช้ในการได้ยินแล้ว ยังเป็นอวัยวะที่ช่วยในการทรงตัวด้วย โรคของหูมีหลายชนิดตั้งแต่โรคของหูชั้นนอก หูชั้นกลาง และหูชั้นใน เมื่อใดมีความผิดปกติของหูเกิดขึ้น อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการผิดปกติดังนี้

• หูอื้อ หรือหูตึง
• มีเสียงดังในหู
• มีอาการเวียนศีรษะ หรือบ้านหมุน
• ปวดหู
• มีน้ำ หรือหนองไหลออกจากรูหู
• คันหู
• หน้าเบี้ยว หรือใบหน้าครึ่งซีกเป็นอัมพาต


การดูแลรักษาสุขอนามัยของหู เป็นการปฏิบัติเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความผิดปกติของหูเกิดขึ้น ได้แก่

1. หลีกเลี่ยงการปั่น แคะ ล้าง (ด้วยสบู่ หรือน้ำยาฆ่าเชื้อชนิดต่างๆ) ทำความสะอาดช่องหู โดยเฉพาะการใช้ไม้พันสำลี นิ้วมือ หรือวัตถุใดๆก็ตาม หลังอาบน้ำ หรือการให้ช่างตัดผม ปั่นหรือแคะหู

เนื่องจากการกระทำดังกล่าว อาจกระตุ้นทำให้มีขี้หูในช่องหูชั้นนอกเพิ่มมากขึ้น (จากการระคายเคืองที่ทำให้ต่อมสร้างขี้หูทำงานมากขึ้น) และจะยิ่งดันขี้หูในช่องหูที่มีอยู่แล้วให้อัดแน่นยิ่งขึ้น ทำให้ขี้หูอุดตันช่องหูชั้นนอกมากขึ้น เกิดอาการหูอื้อ หรือรู้สึกปวด หรือแน่นในช่องหู

นอกจากนั้นอาจเกิดอันตราย หรือรอยถลอกของช่องหูชั้นนอก (เกิดแผลทำให้มีเลือดออก หรือหูชั้นนอกอักเสบได้) หรืออาจทำให้เยื่อบุแก้วหูฉีกขาดได้

2. ควรระวังไม่ให้น้ำเข้าหู โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นหูชั้นนอกอักเสบ หรือเป็นหูชั้นนอกอักเสบบ่อย (เป็นๆหายๆ) (น้ำที่เข้าไปในช่องหูชั้นนอก อาจทำให้เกิดการอักเสบมากขึ้น หรือทำให้ผู้ป่วยรู้สึกรำคาญ ทำให้ต้องใช้ไม้พันสำลีเช็ดทำความสะอาด ซึ่งจะทำให้การอักเสบของหูชั้นนอกเพิ่มมากขึ้น) หรือผู้ป่วยที่มีเยื่อบุแก้วหูทะลุ (เพราะน้ำที่เข้าไปจะเข้าไปสู่หูชั้นกลาง ทำให้เกิดหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลันได้)

สามารถป้องกันน้ำเข้าหูได้โดย เอาสำลีชุบวาสลินอุดหู หรือใช้หมวกพลาสติก คลุมผมโดยให้ปิดถึงหู หรือใช้วัสดุอุดรูหู (ear plug ซึ่งหาซื้อได้ตามร้านกีฬาทั่วไป เป็นที่อุดหูสำหรับการว่ายน้ำหรือดำน้ำ) เวลาอาบน้ำ

เมื่อน้ำเข้าหู ควรเอียงศีรษะเอาหูข้างนั้นลงต่ำ ดึงใบหูให้กางออก และเฉียงไปทางด้านหลัง (ปกติช่องหูจะโค้งเป็นรูปตัว “S”) ซึ่งจะทำให้ช่องหูอยู่ในแนวตรง ที่น้ำจะไหลออกมาได้ง่าย ซึ่งส่วนใหญ่ปัญหาน้ำเข้าหู จะหายไปทันที ไม่ควรปั่นหรือแคะหู

3. เมื่อมีการติดเชื้อในโพรงจมูก (เช่น หวัด หรือจมูกอักเสบ) โพรงหลังจมูก โพรงไซนัส (ไซนัสอักเสบ) หรือมีอาการกำเริบของโรคภูมิแพ้ ในผู้ป่วยที่เป็นโรคภูมิแพ้ ควรรีบรักษาให้บรรเทา หรือหายโดยเร็ว เนื่องจากมีทางติดต่อระหว่างโพรงหลังจมูก และหูชั้นกลางผ่านทางท่อยูสเตเชียน

ถ้าเป็นโรคดังกล่าวเรื้อรัง อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนทางหูได้ เช่น หูชั้นกลางอักเสบ น้ำขังในหูชั้นกลาง หรือท่อยูสเตเชียนทำงานผิดปกติ หรือแม้แต่ทำให้ประสาทหูอักเสบ เกิดภาวะประสาทหูเสื่อมเฉียบพลันได้

นอกจากนั้น
• ไม่ควรสั่งน้ำมูกแรงโดยเฉพาะเอามือบีบจมูก แล้วสั่งน้ำมูก เพราะจะทำให้เชื้อโรคในช่องจมูกและไซนัส เข้าสู่หูชั้นกลางได้ง่าย

• ไม่ควรว่ายน้ำ ดำน้ำ เดินทางโดยเครื่องบิน หรือเดินทางขึ้นที่สูง หรือต่ำอย่างรวดเร็ว (เช่น ใช้ลิฟท์) เพราะท่อยูสเตเชียน ซึ่งทำหน้าที่ปรับความดันของหูชั้นกลาง กับบรรยากาศภายนอก ไม่สามารถทำงานได้เป็นปกติ อาจทำให้มีอาการปวดหู หูอื้อ เสียงดังในหู หรือเวียนศีรษะ บ้านหมุนได้ ถ้าจำเป็น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำ เพื่อให้เกิดอาการผิดปกติดังกล่าวน้อยที่สุด

4. ควรระมัดระวังอย่าให้เกิดอันตรายหรืออุบัติเหตุกับหู หลีกเลี่ยงการกระทบกระเทือนบริเวณหู และบริเวณใกล้เคียง เช่น การถูกตบหู อาจทำให้เยื่อบุแก้วหูทะลุและฉีกขาด การที่ศีรษะกระแทกกับพื้นหรือของแข็ง อาจทำให้กระดูกรอบหูแตก อาจทำให้ช่องหูชั้นนอกฉีกขาด มีเลือดออกในหูชั้นกลางหรือชั้นใน มีน้ำไขสันหลังรั่วออกมาทางช่องหู หรือทำให้กระดูกหูเคลื่อน ทำให้การนำเสียงผิดปกติไป

5. โรคบางชนิด โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงหู อาจทำให้ประสาทหูเสื่อม เกิดหูหนวก หรือหูตึงได้ ควรใส่ใจในการดูแลรักษาโรคต่างๆเหล่านี้ให้ดี เช่น โรคหวัด โรคหัด คางทูม เบาหวาน โรคไต โรคไขมันในเลือดสูงโรคความดันโลหิตสูง โรคกรดยูริกในเลือดสูง โรคโลหิตจาง โรคเลือด

และควรระวังปัจจัยบางชนิด ที่อาจทำให้ประสาทหูเสื่อมเร็วกว่าปกติ เช่น เครียด วิตกกังวล นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ การสูบบุหรี่ (มีสารนิโคติน) รับประทานอาหารเค็ม หรือดื่มเครื่องดื่มบางประเภทที่มีสารกระตุ้นประสาท เช่น กาแฟ ชา เครื่องดื่มน้ำอัดลม (มีสารคาเฟอีน) พยายามออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อเพิ่มเลือดไปเลี้ยงประสาทหู

6. หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับเสียงดังเป็นระยะเวลานานๆ (เช่น เสียงในสถานเริงรมย์ โรงงานอุตสาหกรรม) หรือเสียงดังมากๆในระยะเวลาสั้นๆ (เช่น เสียงปืน เสียงประทัด) เพราะจะทำให้ประสาทหูค่อยๆเสื่อมลงทีละน้อย หรือเสื่อมแบบเฉียบพลันได้

ถ้าไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ควรใส่อุปกรณ์ป้องกันเสียงดัง เช่น ที่อุดหู (ear plug) หรือที่ครอบหู (ear muff)

7. ก่อนใช้ยาทุกชนิด ไม่ว่าจะฉีด รับประทาน หรือหยอดหู ควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรเสมอ เพราะยาบางชนิด เช่น ยาต้านจุลชีพ (เช่น aminoglycoside) ยาแก้ปวด (เช่น aspirin) หรือยาขับปัสสาวะ บางชนิดอาจมีพิษต่อประสาทหู และประสาททรงตัว อาจทำให้ประสาทหูเสื่อม หรือเสียการทรงตัวได้ หรือผู้ป่วยอาจแพ้ยา หรือส่วนประกอบของยาหยอดหูได้

8. ขี้หู เป็นสารธรรมชาติที่ร่างกายสร้างขึ้น เพื่อหล่อเลี้ยงให้หูชั้นนอกชุ่มชื้น และป้องกันการติดเชื้อจากแบคทีเรีย และป้องกันไม่ให้สิ่งแปลกปลอมเข้าไปในช่องหู โดยธรรมชาติขี้หูจะถูกขับออกมาเองจากช่องหู ไม่จำเป็นต้องแคะหู ถ้ามีขี้หูอุดตันมาก จนทำให้หูอื้อ ควรปรึกษาแพทย์ หู คอ จมูก

บางคนที่มีปัญหาขี้หูเปียกและออกมาจากช่องหูมาก อาจใช้ยาละลายขี้หูหยอดในหูเป็นประจำ เพื่อทำการล้างขี้หู  (อาจใช้เพียงอาทิตย์ละครั้ง ถ้าไม่มีปัญหา อาจห่างออกไป เป็น 2 หรือ 3 หรือ 4 อาทิตย์ หยอด 1 ครั้ง) ซึ่งจะช่วยลดการอุดตันของขี้หูในช่องหูชั้นนอกได้ หรืออาจทำความสะอาดช่องหู โดยใช้ไม้พันสำลีชุบน้ำสะอาดให้ชุ่ม และเช็ดบริเวณปากรูหูออกมา ไม่ควรแหย่ไปลึกกว่านั้น

9. เมื่อมีอาการผิดปกติทางหู เช่น หูอื้อ มีเสียงดังในหู มีอาการเวียนศีรษะหรือบ้านหมุน ปวดหู มีน้ำหรือหนองไหลออกจากรูหู คันหู หน้าเบี้ยว หรือใบหน้าครึ่งซีกเป็นอัมพาต ควรรีบปรึกษาแพทย์ หู คอ จมูก

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 164 สิงหาคม 2557 โดย รศ.นพ.ปารยะ อาศนะเสน ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล)


กำลังโหลดความคิดเห็น