xs
xsm
sm
md
lg

ขมวดแนวคิด คสช.-สนช.-สปช.-ศธ.วางกรอบ 4 ยุทธศาสตร์กระจายอำนาจสู่สถานศึกษา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

คณะอนุฯ กระจายอำนาจ วางกรอบขับเคลื่อนกระจายอำนาจ 4 ด้าน เน้นจัดการศึกษาแบบพึ่งพาท้องถิ่น ยกโรงเรียนเล็กให้ท้องถิ่นดูแล แปรสถานศึกษาเป็นนิติบุคคล ส่งเสริมกลไกจังหวัด สร้างความหลากหลาย เชื่อกระจายอำนาจแก้ปัญหาทุจริต

รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการปฏิรูประบบการกระจายอำนาจ กล่าวภายหลังการประชุมร่วมกับคณะอนุกรรมการฯ เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า ที่ประชุมได้วางกรอบร่างยุทธศาสตร์การกระจายอำนาจไปสู่สถานศึกษาแบบเต็มรูปแบบ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการอำนวยการปฏิรูปการศึกษากระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โดยมอบหมายให้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ในฐานะเลขานุการของคณะอนุกรรมการ รวบรวมกรอบแนวคิดด้านการกระจายอำนาจไปสู่สถานศึกษาที่มีอยู่แล้วจากหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และแนวคิดของ ศธ. เอง เพื่อนำมาประมวลสรุปและจัดทำกรอบขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การกระจายอำนาจ

ทั้งนี้ กรอบร่างยุทธศาสตร์การกระจายอำนาจจะมีใจความสำคัญทั้งหมด 4 ด้าน ได้แก่ 1. การจัดการรูปแบบการศึกษา โดยองค์กรจากภาคส่วนอื่นในท้องถิ่นที่ไม่ใช่ภาครัฐ ภายใต้แนวคิดการศึกษาสมัยใหม่ คือ การจัดการศึกษาไม่ใช่หน้าที่เฉพาะของรัฐเท่านั้น 2. แนวคิดการถ่ายโอนโรงเรียนขนาดเล็กให้กับท้องถิ่น จำนวน 15,000 โรง จากทั้งสิ้น 35,000 โรงทั่วประเทศ โดยต้องมองความพร้อมของท้องถิ่นที่รับโอนโรงเรียนไปด้วยว่ามีประสิทธิภาพในการจัดการศึกษามากน้อยเพียงใดด้วย ทั้งนี้ การถ่ายโอนโรงเรียนจำเป็นต้องได้รับความสมัครใจจากผู้บริหารและครูในโรงเรียนก่อนด้วย 3. ยกระดับให้โรงเรียนมีสถานะเป็นนิติบุคคล ที่สามารถบริหารจัดการโรงเรียนได้ด้วยตัวเอง มีอิสระที่จะบริหารได้ทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการจัดหลักสูตรการเรียนการสอน การวางกำลังคน และงบประมาณ 4. ต้องมีการส่งเสริมกลไกจังหวัด สร้างความหลากหลายของสถานศึกษา และสร้างการรวมตัวกันเองทุกภาคส่วนในท้องถิ่นเพื่อเข้ามาบริหารจัดการสถานศึกษาด้วยคนในท้องถิ่น เช่น หน่วยงานด้านวัฒนธรรม ด้านท่องเที่ยว เป็นต้น

“การรวมศูนย์อำนาจเป็นสิ่งสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการจัดการคุณภาพทางการศึกษา ผมเชื่อได้ว่าหากมีการกระจายอำนาจไปสู่สถานศึกษาอย่างแท้จริงแล้ว คนในท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการศึกษาของสถานศึกษาเอง จะช่วยให้เกิดการตรวจสอบกันเอง และแก้ปัญหาทุจริตในด้านต่างๆ ได้อย่างดีมากกว่ารอให้หน่วยราชการด้วยกันเองมาคอยติดตามว่าใครจะโกง ใครจะทุจริต” ประธานคณะอนุฯ กระจายอำนาจ กล่าว
 
 
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น