“ณรงค์” สั่งจับคู่ ร.ร. มัธยม - วิทยาลัย ให้เด็กได้เรียนสามัญควบคู่สายอาชีพ จบแล้วได้ประกาศนียบัตรทั้งสองใบ ชี้เป็นช่องทางกระตุ้นยอดผู้เรียนสายอาชีพเพิ่ม “ชัยพฤกษ์” เผยที่ประชุมมอบอาชีวะเขียนโครงการเสนอ ครม. ขอเงินท็อปอัป พิเศษให้ นร. ที่เรียนสายอาชีพใน ร.ร. มัธยม โดยขอเป็นเงินส่วนต่างเพิ่มประมาณ 2 พันบาท ตั้งเป้าทำใน 2 รูปแบบ คือ สอนในร.ร.ขยายโอกาส ราชประชานุเคราะห์ การกุศลของวัดที่มีประมาณ 7 พันแห่ง และ ร.ร. มัธยมขนาดเล็กประจำตำบล - อำเภอ ประมาณ 2 พันแห่ง
พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า จากการประชุมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่ประชุมได้มีการหารือถึงประเด็นการเพิ่มผู้เรียนสายอาชีวศึกษา เพราะมีความเห็นสอดคล้องกันว่าสายงานอาชีวศึกษามีความจำเป็น โดยเฉพาะในช่วงปัจจุบันที่เราต้องการกำลังคนเพื่อมาพัฒนาประเทศ ดังนั้น ต้องผลิตคนเพื่อสร้างอาชีพ ไม่ให้เด็กเรียนจบมาแล้วตกงาน จึงมีการหารือกันว่าสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ควรทำความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อให้นักเรียนที่เรียนอยู่ในสายสามัญสามารถเรียนสายอาชีพควบคู่ไปในเวลาเดียวกัน โดยเป็นการจับคู่ระหว่างโรงเรียนกับวิทยาลัยในสังกัด สอศ. และเมื่อเด็กเรียนจบก็จะได้รับประกาศณียบัตรทั้งสายสามัญ และสายอาชีพด้วย เพียงแต่รายละเอียดในการปฏิบัติอาจต้องเริ่มในบางส่วนก่อน ซึ่งทุกฝ่ายเห็นพ้องในหลักการนี้แต่ปัญหาอยู่ที่งบประมาณ เนื่องจากจำนวนเงินอุดหนุนรายหัวในการจัดการศึกษาระหว่างนักเรียนสายสามัญและนักเรียนอาชีพแตกต่างกัน โดยผู้เรียนสายอาชีวะต้องใช้เงินมากกว่า
ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นว่าถ้ามีความจำเป็นอาจต้องเสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยจะหารือกับสำนักงบประมาณในการจัดสรรเงินอุดหนุนรายหัวเพิ่มเติมพิเศษ หรือ เงินท็อปอัป ให้กับนักเรียนที่เรียนสายอาชีพในโรงเรียนมัธยม พร้อมมีการชี้แจงเหตุผลว่าการทำในลักษณะนี้ นอกจากเด็กจะได้ประโยชน์จากการมีความรู้สายสามัญและความรู้ในทักษะวิชาชีพ ซึ่งอาจจะช่วยให้เด็กตัดสินใจเลือกเรียนอาชีวะเพิ่มขึ้นแล้ว รัฐบาลเองก็ได้ประโยชน์เช่นเดียวกัน ที่ได้เพิ่มขีดความสามารถของคนให้มีคุณภาพ และมีความรู้ในสายอาชีพตามความต้องการของประเทศ จึงเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องให้การสนับสนุน
ด้าน นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (เลขาธิการ กอศ.) กล่าวว่า ที่ประชุมได้มอบหมายให้ สอศ.ไปเขียนโครงการและรายละเอียดเพื่อเสนอต่อ ครม. เพื่อขอรับเงินส่วนต่างเพิ่มเติม อาทิ สายสามัญได้รับเงินรายหัว 3,800 บาทต่อคนต่อปี ขณะที่สายอาชีพ 6,400 บาทก็จะขอเพิ่มเงินส่วนต่างประมาณ 2,000บาทนี้ให้กับผู้เรียนสายอาชีพในโรงเรียนมัธยม ส่วนรูปแบบในการจัดอาชีวศึกษาในโรงเรียนมัธยมจะมี 2 รูปแบบ คือการจัดการเรียนการสอนทักษะวิชาชีพให้กับนักเรียนโรงเรียนขยายโอกาส โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ และโรงเรียนเอกชนการกุศลของวัด ที่มีอยู่ประมาณ 7,000 โรง เพื่อให้เด็กเมื่อเรียนจบ ม.3 แล้วสามารถออกไปประกอบอาชีพได้ และการจัดการเรียนการสอนวิชาชีพให้กับนักเรียนในโรงเรียนมัธยมศึกษาประจำ อำเภอขนาดเล็กและโรงเรียนประจำตำบล ที่มีอยู่ประมาณ 2,000 กว่าโรง โดยเป็นการจับคู่ระหว่างโรงเรียนและวิทยาลัยอาชีวศึกษา เมื่อเด็กเรียนจบชั้น ม.6 จะได้รับวุฒิการศึกษาทั้งสายสามัญและสายวิชาชีพ
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่