ประชุมสภา สจล. “สุรยุทธ์” ย้ำเรื่องธุรกรรมเป็นเรื่องฝ่ายบริหาร ไม่ใช่อำนาจสภา สจล. ขณะที่กลุ่มประชาคม สจล. แต่งชุดดำยื่นหนังสือเปิดผนึก จี้สภาฯ เร่งสะสางปัญหา
วันนี้ (28 ม.ค.) เมื่อเวลา 8.20 น. ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) มีการประชุมสภา สจล. ซึ่งมี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี เป็นนายกสภาสถาบันฯ คาดว่าจะมีการหารือถึงกรณี สจล. ถูกยักยอกเงินคงคลัง ไปจำนวนกว่า 1,600 ล้านบาทด้วย
โดย พล.อ.สุรยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุม ว่า กรณีที่สถาบันฯ ถูกยักยอกเงินคงคลังไปกว่า 1.6 พันล้านบาท ขณะนี้อธิการบดี และคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหานี้ตามกฎหมายอยู่ ซึ่งคงต้องรอฟังผลการสอบสวนคดีจากทางตำรวจก่อนว่าเป็นอย่างไร ขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปว่าผู้ใดเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องบ้างเท่าที่ปรากฎมีเพียง น.ส.อำพร น้อยสัมฤทธิ์ อดีตผู้อำนวยการกองคลัง เท่านั้นที่ตกเป็นผู้ต้องหาไปแล้ว ส่วนคนอื่นยังไม่ชัดเจน ซึ่งยังต้องรอผลการสอบสวนจากตำรวจก่อน
พล.อ.สุรยุทธ์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา ได้มอบนโยบายให้แก่ผู้บริหารและให้มีการตรวจสอบเรื่องที่เกิดขึ้นโดยตลอด เมื่อเกิดปัญหาก็มีการแก้ไขจุดบกพร่องต่างๆ ส่วนเรื่องการทบทวนการทำธุรกรรมทางการเงินกับธนาคารไทยพาณิชย์นั้น เป็นเรื่องของฝ่ายบริหารจะดำเนินการ สภา สจล.ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในการประชุมสภา สจล. ได้มีกลุ่มคณาจารย์ บุคลากร และนักศึกษาของ สจล. ประมาณ 30 คน นำโดย รศ.ดร.จิราภา วิทยาภิรักษ์ ภาควิชาศิลปศาสตร์ประยุกต์ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม และอดีตประธานสภาคณาจารย์ ตัวแทนบุคลากร สจล. แต่งชุดดำ เพื่อมายื่นหนังสือเปิดผนึกกรณีการทุจริตเงิน 1,600 ล้านบาท ของสถาบันฯ ต่อ พล.อ.สุรยุทธ์ โดยเมื่อเวลา 09.00 น. พล.อ.สุรยุทธ์ ได้ลงมารับมอบหนังสือ
โดย พล.อ.สุรยุทธ์ กล่าวภายหลังการรับหนังสือกับกลุ่มประชาคม สจล. ว่า พวกเราทุกคนก็เป็นกังวล เพราะเรื่องนี้สร้างความเสียหายให้กับสถาบันฯ และทำอย่างไรที่จะแก้ไขและกอบกู้ชื่อเสียงคืนมา ซึ่งก็ไม่ต้องทำอะไรมาก แค่ทำตามอัตลักษณ์ของสถาบันฯคือ ซื่อสัตย์ ใฝ่รู้ และสู้งาน ก็จะแก้ไขปัญหานี้ได้
ด้าน รศ.ดร.จิราภา กล่าวว่า กลุ่มคณาจารย์ บุคลากร ศิษย์เก่าฯ และนักศึกษาสถาบันฯมีความรู้สึกเศร้าใจเป็นอย่างยิ่งต่อเหตุการณ์ที่กลุ่มบุคคลยักยอกเงินคงคลัง จำนวน 1,600 ล้านบาท โดยเหตุการณ์ทุจริตที่เกิดขึ้น ส่งผลต่อภาพลักษณ์อันมีเกียรติของสถาบันอันเป็นที่รักยิ่ง ทั้งยังก่อให้เกิดวิกฤตศรัทธาในระบบการบริหารจัดการภายในสถาบันฯของประชาคม สจล. และความวิตกกังวลถึงอนาคตทางการเงินที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตต่อสถาบันฯ โดยที่สภาสถาบันฯ มีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบายสูงสุดกำกับดูแลการบริหารและรับผิดชอบในความสำเร็จหรือล้มเหลวของการบริหาร ตาม พ.ร.บ.สถาบันฯ พ.ศ. 2551 ดังนั้น จึงขอให้สภาสถาบันฯ ดำเนินการเรื่องต่างๆ ดังต่อไปนี้ อย่างเป็นระบบ 1. ตรวจสอบกลไก การบริหารงานของสถาบันฯทั้งหมด ตั้งแต่ระดับนโยบาย เช่น อนุกรรมการสภาตรวจสอบ และอนุกรรมการสภาการเงินฯ 2. เร่งรัด ติดตาม และร่วมมือในการนำผู้กระทำผิด มารับโทษ 3. สร้างกระบวนการสอบสวนทางวินัย ต่อบุคคลในสถาบันฯ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างเป็นธรรมโดยมีคณะบุคคลภายนอก ที่มีความน่าเชื่อถือและสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาคม สจล. และ 4. ร่วมมือกับประชาคม สจล. ในการกอบกู้ชื่อเสียงของสถาบันฯ และสร้างศรัทธาให้กลับคืนมาโดยเร็ว
“พวกเรามายื่นหนังสือในคราวนี้เพื่อเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ และอยากเรียกร้องให้ทางสภาฯ เร่งรัด ติดตามและหาทางออกแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ โดยระยะยาวจะทำเช่นไรเพื่อกอบกู้ชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของ สจล. กลับคืนมา เพราะเงินดังกล่าวเป็นเงินหลวง เป็นเงินของนักศึกษา ดังนั้น เราจึงเพิกเฉยกับปัญหานี้ไม่ได้”อดีตประธานสภาคณาจารย์ กล่าว
ด้าน ดร.พจน์ สะเพียรชัย กรรมการสภา สจล. กล่าวว่า เมื่อทราบข่าวว่า เงิน สจล.ถูกยักยอก กรรมการสภาฯ ก็ตกใจกันมาก เพราะเงินที่หายเป็นจำนวนมาก ส่วนสภา สจล.ควรจะแสดงความรับผิดชอบอย่างไรนั้น โดยส่วนตัวเห็นว่า การแสดงความผิดชอบก็คือ สภาสจล.ต้องช่วยแก้ไขปัญหานี้ให้ลุล่วงก่อน