สนช.ผ่านวาระแรก 5 ฉบับรวดภายใน 5 ชั่วโมง รับหลักการกฎหมายคุ้มครองคนค้ำประกัน กฤษฎีกาแจง ครอบคลุมถึงการค้ำคนเข้าทำงานด้วย โดยไม่ต้องรับผิดชอบไปตลอดชีวิต แต่ห่วงกองทุน กบข.ไม่มีเงินรองรับหากข้าราชการไหลไปใช้สิทธิบำเหน็จบำนาญ อีกด้านเลื่อนกฎหมายทวงหนี้ตามที่วิป สนช.เสนอ รอฟังความเห็นรอบด้าน
วันนี้ (28 ส.ค.) ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้พิจารณารับหลักการร่างกฎหมายเร่งด่วน จำนวน 5 ฉบับ ประกอบด้วย ร่าง พ.ร.บ.การถวายความปลอดภัย พ.ศ. ..., ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมศุลกากร พ.ศ. ..., ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. ..., ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. ... และร่าง พ.ร.บ.กลับไปใช้สิทธิ์ในบำเหน็จบำนาญตาม พ.ร.บ. บำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 พ.ศ. ... โดยบรรยากาศการประชุมเป็นไปอย่างราบรื่น มีสมาชิกลุกขึ้นอภิปรายแสดงความเห็นในแต่ละฉบับประปราย และได้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญจำนวน 15 คนพิจารณาแต่ละฉบับ โดยทั้งหมดใช้เวลาประมาณ 5 ชั่วโมง
สำหรับร่าง พ.ร.บ.ที่สมาชิกให้ความสนใจและอภิปรายกันมาก คือ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. ... ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการกำหนดขอบเขตความรับผิดชอบของผู้ค้ำประกัน ในกรณีหนี้ในอนาคตหรือหนี้ที่มีเงื่อนไขให้มีความชัดเจนมากขึ้น เช่น แก้ไขเพิ่มเติมให้การค้ำประกันหนี้ในอนาคตหรือหนี้มีเงื่อนไข ต้องกำหนดรายละเอียดของหนี้และขอบเขตความรับผิดของผู้ค้ำประกัน รวมทั้งจำกัดความผิดชอบผู้ค้ำประกันไว้เฉพาะหนี้ตามสัญญานั้นเป็นต้น จากเดิมที่ผู้ค้ำประกันไม่ได้รับความคุ้มครอง จนต้องกลายเป็นผู้ถูกฟ้องล้มละลาย
นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สนช.เห็นว่า ปัจจุบันมีการทำสัญญาค้ำประกันหลายรูปแบบตามที่สถาบันการเงินและนิติบุคคลกำหนด จึงไม่แน่ใจว่าร่างพระราชบัญญัตินี้จะครอบคลุมหรือไม่ เช่น กรณีที่ผู้กู้เงินกลายเป็นบุคคลไร้ความสามารถขึ้นมาจะมีผลให้ผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดชอบหนี้ดังกล่าวต่อไปหรือไม่ หรือในกรณีการค้ำประกันการเข้าทำงานให้กับบุคคล ผู้ค้ำประกันยังจะต้องค้ำประกันบุคคลนั้นต่อไปจนกว่าบุคคลดังกล่าวจะพ้นสภาพการทำงานหรือไม่ เนื่องจากเจตนารมณ์ในครั้งแรกของการค้ำประกันบุคคลก็เพื่อให้บุคคลเข้าทำงานในตำแหน่งที่ทำการ ไม่ใช่การค้ำประกันไปตลอด
นายปกรณ์ นิลประพันธ์ กรรมการร่างกฎหมายประจำสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ชี้แจงว่า การค้ำประกันในกรณีการรับบุคคลเข้าทำงานนั้นถ้าในอนาคตกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้จะมีผลให้จะต้องมีการระบุในสัญญาค้ำประกันให้บุคคลเข้าทำงานให้ชัดเจนว่าผู้ค้ำประกันได้ทำการค้ำประกันให้กับบุคคลเข้าทำงานในตำแหน่งอะไร ระยะเวลาเท่าไหร่ รวมไปถึงจำนวนเงินสูงสุดสำหรับการค้ำประกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น จากเดิมที่มักมีสัญญาที่ผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดชอบบุคคลนั้นจนกว่าจะสิ้นสุดการทำงาน
สำหรับข้อยกเว้นการกำหนดระยะเวลาในก่อหนี้ที่จะค้ำประกันให้กับกรณีการค้ำประกันตามสัญญาบัญชีเดินสะพัด เพราะหนี้ดังกล่าวเป็นการก่อหนี้เพื่อดำเนินการทางธุรกิจ ซึ่งมีลักษณะของการอาศัยความเชื่อถือและความไว้วางใจซึ่งกันและกัน จึงอาจยกเว้นเรื่องการกำหนดระยะเวลาได้ อย่างไรก็ตาม ในกฎหมายยังบังคับใช้จะต้องกำหนดจำนวนเงินของการค้ำประกันเอาไว้เหมือนเดิม
ส่วนร่าง พ.ร.บ.กลับไปใช้สิทธิ์ในบำเหน็จบำนาญตาม พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 พ.ศ. ... ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่อภิปรายสนับสนุนร่างดังกล่าวเพราะเป็นการแก้ปัญหาได้ตรงจุด แต่ตั้งข้อสังเกตในประเด็นที่อาจจะเกิดปัญหากับกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) และหากมีสมาชิกจำนวนมากพร้อมใจกลับไปใช้สิทธิเอาบำเหน็จบำนาญจะเอาเงินไหนไปจ่าย มีมาตรการเยียวยาอย่างไร ขณะที่ พ.ร.บ.กบข.มีสมาชิก 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ ข้าราชการ ข้าราชการส่วนท้องถิ่น และ พนักงานมหาวิทยาลัย แต่ร่าง พ.ร.บ.นี้พูดถึงแต่ข้าราชการเท่านั้น รวมถึงวิธีการจ่ายเงินให้สมาชิก และวิธีบริหารจัดการเงินที่เตรียมไว้เป็นอย่างไร
น.ส.สุทธิรัตน์ รัตนโชติ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบการเงินการคลัง กรมบัญชีกลาง ชี้แจงต่อที่ประชุมว่า กรณีข้าราชการขอกลับไปใช้สิทธิบำเหน็จบำนาญจะไม่มีผลกระทบกับข้าราชการที่ยังรับราชการอยู่ ซึ่งจะได้รับเงินคืนจาก กบข. และสะสมดอกผล โดยที่ กบข.ไม่ได้รับผลกระทบเนื่องจากเงินที่จะส่งคืนรายบุคคลนั้น รัฐไม่ได้เอาเงินออกมาเข้าคลัง แต่เก็บไว้ในกบข.เหมือนเดิม เพียงแต่เปลี่ยนบัญชีเป็นเงินสำรอง อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนต่อจากนี้ กบข.ไม่จำเป็นต้องมีการสร้างแรงจูงใจให้สมาชิกอยู่ระบบ กบข. ต่อ มีแต่จะให้ข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจ เพราะที่ผ่านมามีการพูดกันว่าวันนั้นถูกหลอก ตอนนี้จึงจะเป็นการให้ข้อมูล ซึ่งมีฐานข้อมูลข้าราชการ 9.7 แสนคน พร้อมฐานเงินเดือน และได้ทำโปรแกรมคำนวณรายละเอียดไว้เรียบร้อย เตรียมส่งไปรษณีย์ให้แต่ละคนได้ประกอบการพิจารณาซึ่งจะต้องไปตัดสินใจร่วมกับ สุขภาพ ครอบครัว และแม้จะลาออกจาก กบข.จำนวนมากก็ไม่มีผลกระทบ เพราะไม่ได้นำเงินออกจากบัญชีของ กบข.
น.ส.สุทธิรัตน์กล่าวว่า กรณีที่ไม่เปิดให้ข้าราชการท้องถิ่น หรือข้าราชการมหาวิทยาลัยเข้ามามีส่วนเลือกกลับไปใช้ระบบบำเหน็จบำนาญเพราะ ก่อนหน้านี้เคยเปิดให้ตัดสินใจตอนโอนไปอยู่กับท้องถิ่นแล้วว่าจะเลือกอยู่กับ กบข.หรือไม่ ดังนั้นรอบนี้จึงไม่ได้เปิดให้ทั้งสองกลุ่มได้ใช้สิทธิ์เลือก และไม่สามารถเปิดให้ข้าราชการบำนาญที่ไม่สามารถหาเงินสมทบ เงินประเดิม เงินชดเชย มาคืนในระยะเวลาที่กำหนดเปิดผ่อนชำระได้
ส่วนร่าง พ.ร.บ.ทวงถามหนี้ พ.ศ. ... ที่ประชุมได้เห็นชอบให้เลื่อนวาระการพิจารณา ตามที่คณะกรรมาธิการสามัญกิจการ สนช. (วิป สนช.) เสนอ เพื่อให้มีการรับฟังความเห็นจากส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้านก่อนนำเข้าสู่การพิจารณาอีกครั้ง