คสรท. จ่อยื่นหนังสือถึงนายกฯ ค้านตัดสิทธิผู้ประกันตนลาออกจากงาน จวก สปส. อย่าคิดไปเองลาออกจากงานหวังเงินช่วยเหลือว่างงาน ชี้อยากลดค่าใช้จ่ายให้ตัดงบฟุ่มเฟือยส่วนอื่น งบดูงานต่างประเทศ งบประชาสัมพันธ์
น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวถึง ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ. …. ที่ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฯ ตามขั้นตอนตามวาระแรกไปแล้วอยู่ระหว่างการพิจารณาในวาระที่สองในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ว่า พบว่าร่างดังกล่าวมีการตัดสิทธิผู้ประกันตนกรณีลาออกจากงาน จากเดิมที่ผู้ประกันตนจะได้รับเงินช่วยเหลือขณะว่างงานร้อยละ 30 ของค่าจ้างไม่เกิน 3 เดือน โดยที่ไม่มีการสอบถามผู้ประกันตนและส่งผลกระทบ สร้างความเดือดร้อนต่อผู้ประกันตนอย่างมาก เนื่องจากแรงงานบางส่วนจำเป็นต้องลาออกจากงานด้วยหลายเหตุผล เช่น บิดา-มารดา หรือ บุตรหลาน ป่วยต้องออกจากงานไปดูแล หากไปตัดสิทธิดังกล่าวจะยิ่งสร้างความลำบากและถือเป็นการซ้ำเติมแรงงานมากยิ่งขึ้น
น.ส.วิไลวรรณ กล่าวอีกว่า ตนทราบมาว่าเหตุผลที่ตัดออก เพราะ สปส. เคยระบุว่ามีผู้ประกันตนบางคนลาออก เนื่องจากหวังเงินสิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน แต่จากความเป็นจริงที่คสรท.พบคือไม่มีใครอยากลาออกจากงาน ซึ่งการลาออกจะทำให้ขาดรายได้เลี้ยงครอบครัว ดังนั้น สปส. จึงไม่ควรตัดสินว่าแรงงานลาออก หาก สปส. ต้องการประหยัดค่าใช้จ่ายของกองทุนก็ควรไปตัดเงินในโครงการอื่นที่ไม่เกิดประโยชน์ต่อผู้ประกันตน เช่น โครงการด้านประชาสัมพันธ์ การไปดูงานต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยประหยัดเงินกองทุนได้มากกว่าการตัดสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานอย่างมาก
“สปส. อย่าคิดไปเองว่าแรงงานลาออก เพราะหวังเงินกรณีว่างงาน เงินที่ถูกตัดออกไปนี้เป็นสิ่งที่มีค่าสำหรับคนยากคนจน เวลาคนงานลำบาก เงินส่วนนี้ช่วยชีวิตไว้ได้ หากสปส.จะประหยัดเงินก็อย่ามาตัดสิทธิกันแบบนี้ ไปตัดโครงการอื่นๆ ที่ฟุ่มเฟือยจะดีกว่า” น.ส.วิไลวรรณ กล่าว
ประธาน คสรท. กล่าวต่อว่า อยากให้ทบทวนเนื้อหาร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฯ โดยให้สิทธิผู้ประกันตนที่ลาออกจากงานและออกจากการเป็นผู้ประกันตนแต่ส่งเงินสมทบไม่ถึง 15 ปี และมีอายุต่ำกว่า 55 ปี สามารถรับเงินบำเหน็จชราภาพได้ ไม่จำเป็นต้องรอถึงเกณฑ์ เพราะผู้ประกันตนหลายคนที่ลาออกจากงานมีความเดือดร้อนต้องดูแลครอบครัว ผู้ประกันตนบางคนในอดีตเสียชีวิตก่อนอายุ 55 ปี และไม่ได้แจ้งระบุทายาทผู้รับเงินต่อสปส. ไว้ จึงทำให้เงินตกเป็นของกองทุนไป ขณะที่แรงงานข้ามชาติก็ควรให้ได้รับเงินบำเหน็จเมื่อแรงงานข้ามชาติครบกำหนดทำงานในไทย และเดินทางกลับประเทศต้นทาง นอกจากนี้ อยากให้เพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีสงเคราะห์บุตรจากเดิมตั้งแต่แรกเกิดถึงอายุ 6 ปี เป็นถึงอายุ 15 ปี แทนการเพิ่มจำนวนค่าคลอดบุตรของแรงงานเป็น 3 คน
น.ส.วิไลวรรณ กล่าวอีกว่า ตนมองว่าการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวยังไม่มีการเปิดให้ผู้ประกันตนเข้าไปมีส่วนร่วม เห็นได้จากอำนาจการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดต่างๆ หรือการออกระเบียบ ยังคงเป็นอำนาจของฝ่ายรัฐและการเมือง ทั้งนี้ ในวันที่ 29 มกราคม เวลา 9.30 น. คสรท. จะไปยื่นหนังสือต่อประธาน สนช. จากนั้นเวลา 11.00 น. จะไปยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ทบทวนการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฯ หาก สนช. และรัฐบาลไม่ฟังเสียงคัดค้านของแรงงานก็อาจจำเป็นต้องมีการเคลื่อนไหว เนื่องจากเรื่องนี้กระทบต่อผู้ประกันตนกว่า 10 ล้านคน จึงจำเป็นต้องออกมาชี้แจงให้ประชาชนและสังคมทราบถึงความเดือดร้อน
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่