xs
xsm
sm
md
lg

เอ็นใต้ฝ่าเท้าอักเสบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นพ.กฤษฎิ์ พฤกษะวัน
ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ เชี่ยวชาญด้านข้อเท้าและเท้า
โรงพยาบาลเวชธานี

โรคเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ อาจเป็นชื่อโรคที่หลายๆคนคุ้นหู แต่อาจเกิดความสงสัยว่าโรคดังกล่าวจะเกิดขึ้นด้วยสาเหตุใด เกี่ยวกับน้ำหนักตัวหรือไม่ การยืนนานๆหรือแม้กระทั่งการใส่รองเท้าส้นสูงเป็นหนึ่งในสาเหตุด้วยใช่หรือไม่ วันนี้ นพ.กฤษฎิ์ พฤกษะวัน ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ เชี่ยวชาญด้านข้อเท้าและเท้า โรงพยาบาลเวชธานี อธิบายถึงโรคดังกล่าวว่า อาการปวดส้นเท้าเป็นภาวะที่พบบ่อยในผู้ป่วยกระดูกและข้อ สาเหตุของอาการปวดส้นเท้ามีหลายสาเหตุ เช่น ภาวะเส้นเอ็นใต้ฝ่าเท้าอักเสบ หรือ โรครองช้ำ, ภาวะไขมันบริเวณส้นเท้าบางลง, การกดทับของเส้นประสาทบริเวณส้นเท้า, การบาดเจ็บของกระดูกส้นเท้าและเนื้องอกของกระดูกส้นเท้า เป็นต้น
สำหรับสาเหตุของอาการปวดส้นเท้าส่วนใหญ่ ร้อยละ 80 มาจากเส้นเอ็นใต้ฝ่าเท้าอักเสบ หรือบางท่านอาจเรียกว่าโรครองช้ำ ลักษณะอาการสำคัญของโรคนี้คือ หลังตื่นนอนตอนเช้าขณะลุกเดินก้าวแรกจะมีอาการปวดมาก หลังจากเดินสักพักอาการจะค่อยๆทุเลาลง เนื่องจากขณะนอนตอนกลางคืน จะมีการยึดและหดตัวของเส้นเอ็น ดังนั้น หากลุกเดินช่วงเช้าทันทีจึงมีการดึงกระชากของเส้นเอ็นทำให้มีอาการปวด ซึ่งโรคดังกล่าวมักพบในผู้ป่วยช่วงอายุ 40 - 50 ปี
ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิดโรค นพ.กฤษฎิ์ กล่าวว่า เกิดได้จากหลายปัจจัยร่วมกัน เช่น การเปลี่ยนแปลงกิจวัตรประจำวัน หรือลักษณะงานที่มีการเดินมากขึ้น หรือยืนนานขึ้น การมีน้ำหนักตัวเพิ่มมากขึ้น การใส่รองเท้าที่ไม่เหมาะสม เช่น พื้นรองเท้าที่แข็งเกินไป ซึ่งการรักษาที่ได้ผลดีส่วนใหญ่จะเป็นการรักษาโดยวิธีอนุรักษนิยม ได้แก่ การนวดและยืดเอ็นใต้ฝ่าเท้า การยืดเอ็นร้อยหวาย นอกจากนั้น ต้องมีการปรับลักษณะของรองเท้า โดยรองเท้าที่เหมาะสม คือ รองเท้าที่มีพื้นหนานุ่มและมีส้นสูงประมาณ 1 นิ้ว ถึง 1 นิ้วครึ่ง ควรปรับลดกิจกรรมที่ต้องยืนหรือเดินนานๆ หากน้ำหนักตัวมากเกินไป ควรลดน้ำหนักตัวเพื่อลดแรงที่มากระทำต่อส้นเท้า อย่างไรก็ตาม หากเป็นคนที่ออกกำลังกายเป็นประจำควรปรับเปลี่ยนประเภทของการออกกำลังกายในช่วงที่มีอาการ โดยกีฬาที่เหมาะสม ได้แก่ การว่ายน้ำ การเดินหรือวิ่งในน้ำ การปั่นจักรยาน เป็นต้น
ทั้งนี้ หากปฏิบัติตามคำแนะนำดังกล่าวข้างต้นแล้วไม่ดีขึ้น แพทย์อาจพิจารณาฉีดยาต้านการอักเสบบริเวณส้นเท้า, การใช้คลื่นกระแทก และในปัจจุบันยังมีการฉีดเกล็ดเลือดซึ่งได้จากการเจาะเลือดผู้ป่วยมาปั่นแยกเอาเฉพาะส่วนเกล็ดเลือด แล้วฉีดเข้าไปบริเวณเส้นเอ็นใต้ฝ่าเท้าที่มีการอักเสบ
นพ.กฤษฎิ์ กล่าวด้วยว่า หากฉีดยาต้านการอักเสบและปั่นแยกเกล็ดเลือดแล้วไม่ได้ผลขั้นตอนการสุดท้ายของการรักษาโรคเส้นเอ็นใต้ฝ่าเท้าอักเสบ คือ การผ่าตัด ซึ่งในปัจจุบันมีเทคนิคการผ่าตัดที่ใช้กล้องเข้ามาช่วยในการตัดเส้นเอ็นที่มีการอักเสบ จึงทำให้แผลเล็ก ผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวได้เร็วกว่าการผ่าตัดแบบเปิดแผลโดยทั่วไปและสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้เร็วขึ้น
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่

กำลังโหลด

เครื่อง oncothermia ความหวังใหม่รักษามะเร็งเต้านม-ตับระยะท้าย ใช้คลื่นวิทยุยิงเฉพาะจุดมะเร็งจนเกิดความร้อน เอื้อยาเคมีบำบัดเข้าถึงมะเร็งง่ายขึ้น ผลศึกษาก้แนมะเร็งเต้านมยุบทั้งหมด 22% ผู้ป่วยมะเร็งตับอายุยืนขึ้น

ดูบน Instagram





กำลังโหลดความคิดเห็น