xs
xsm
sm
md
lg

ดื่มนมจืดดีกว่ารสหวาน คุณค่าเพียบ ป้องกันฟันผุ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วิจัยชัดนมจืดให้คุณค่าโภชนาการมากกว่านมรสหวาน ทั้งแคลเซียม โปรตีน วิตามินเอ วิตามินอี แนะส่งเสริมเด็กกินนมจืดช่วยลดพฤติกรรมติดหวาน เสี่ยงโรคอ้วน ช่วยลดฟันผุ เหตุนมจืดช่วยฟันแข็งแรง แต่นมรสหวานเติมน้ำตาลทำให้ฟันผุ

ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า นมเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการเหมาะสมสำหรับทุกวัย เพราะมีโปรตีนคุณภาพดีและมีแคลเซียมสูง โดยเฉพาะนมโคสด 100% ไขมันต่ำ รสจืด มีคุณค่าทางโภชนาการดีกว่านมที่ปรุงแต่งด้วยน้ำตาลและกลิ่น ทั้งนี้ มีผลการศึกษาว่า การดื่มนม วันละ 2 แก้ว ร่วมกับการออกกำลังกายประเภทที่มีการยืดตัว เช่น ว่ายน้ำ บาสเกตบอล และโหนบาร์ จะช่วยเพิ่มความสูงได้

จากการศึกษาโดยนำนมโคสดแท้ นมปรุงแต่งรสหวาน นมเปรี้ยว ปริมาณ 100 มิลลิลิตรเท่ากันมาเปรียบเทียบคุณค่าสารอาหาร พบว่า นมโคสดแท้จะให้สารอาหารที่จำเป็นมากกว่า โดยมีแคลเซียม 135 มิลลิกรัม โปรตีน 3.3 กรัม วิตามินเอ 71 มิลลิกรัม และวิตามินอี 0.22 มิลลิกรัม ส่วนนมปรุงแต่งรสหวานมีแคลเซียมเพียง 102 มิลลิกรัม โปรตีน 2.3 กรัม วิตามินเอ 38 มิลลิกรัม และวิตามินอี 0.16 มิลลิกรัม” รมว.สาธารณสุข กล่าวและว่า ที่สำคัญการดื่มนมรสหวานยังเป็นสาเหตุของฟันผุ เพราะนมจืดมีผลวิจัยว่า นมธรรมชาติเสริมความแข็งแรงของฟัน แต่หากเติมน้ำตาลลงไปจะเสี่ยงฟันผุ ยิ่งแปรงฟันไม่สะอาดยิ่งเสี่ยงผุหลายเท่า การส่งเสริมให้เด็กดื่มนมจืด เป็นทางหนึ่งที่ช่วยลดพฤติกรรมติดหวาน โรคอ้วน และสร้างความแข็งแรงให้กับฟัน

นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า เด็กก่อนวัยเรียนให้ดื่มนมชนิดธรรมดาวันละ 2 - 3 แก้ว วัยเรียนดื่มวันละ 2 แก้ว ส่วนวัยผู้ใหญ่ต้องการสารอาหารเพิ่มการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ แนะนำให้ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ ดื่มนมชนิดพร่องมันเนยหรือขาดมันเนย เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะไขมันเกินดื่มวันละ 1 แก้ว ส่วนหญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตรวันละ 2 แก้ว วิธีการที่ดีที่สุดคือดื่มนมหลังมื้ออาหารอย่างน้อย 1 แก้ว ทั้งนี้ การสนับสนุนให้เด็กดื่มนมจืดเพิ่มมากขึ้น จึงเป็นภาระงานของกรมอนามัย ที่ต้องเร่งดำเนินการ โดยร่วมกับภาคีที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมทั้งพฤติกรรมลดหวานในกลุ่มเด็กวัยเรียน ควบคู่กับการดูแลสุขภาพในช่องปากอย่างถูกวิธี อันจะช่วยลดปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคต่างๆ ตามมาในระยะยาว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น