xs
xsm
sm
md
lg

จ่อยกร่าง กม.สเต็มเซลล์ คุมใช้ตัวอ่อนก๊อบปี้มนุษย์-ฉีดเสริมสวย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สธ. จ่อยกร่าง พ.ร.บ.สเต็มเซลล์ หวังควบคุมการใช้ในเชิงพาณิชย์และคุ้มครองประชาชน ชี้ปัจจุบันใช้รักษาเฉพาะโรคเลือดเท่านั้น แต่พบนำมาโฆษณาและรักษาด้านอื่นจำนวนมาก โดยไร้หลักฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับ ห่วงประชาชนตกเป็นเหยื่อ คุมเข้มการเอาตัวอ่อนมาทำสำเนามนุษย์

วันนี้ (8 ม.ค.) ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมผู้บริหารระดับสูง สธ. ว่า สธ.เตรียมจะยกร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยสเต็มเซลล์ (เซลล์ต้นกำเนิด) พ.ศ.. ... เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค เนื่องจากปัจจุบันมีการโฆษณาและนำสเต็มเซลล์มาใช้กับประชาชน โดยไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับจำนวนมาก และประชาชนก็เข้าใช้บริการดังกล่าวเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จึงจำเป็นต้องมีการยกร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ขึ้นมาเพื่อกำกับดูแลในเรื่องสเต็มเซลล์ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ เม.ย. จึงจะแล้วเสร็จ

น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวว่า แพทยสภารับรองการใช้สเต็มเซลล์เฉพาะที่ใช้รักษาโรคเลือดเท่านั้น ยังไม่มีการอนุญาตให้ใช้ในเรื่องอื่นตามที่มีการโฆษณาอยู่ในปัจจุบัน เช่น การเสริมความงาม ทั้งนี้ หากมีการยกร่าง พ.ร.บ.สเต็มเซลล์ ก็จะเหมือนกับกฎหมายอุ้มบุญที่จะควบคุมไม่ให้มีการนำไปใช้ในทางพาณิชย์และเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค คาดว่าภายในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นี้น่าจะมีผลบังคับใช้ ซึ่งเนื้อหาที่สำคัญ คือ การดำเนินการกับผู้ที่รักษาในเรื่องเหล่านี้โดยมิได้มาตรฐานตามประกาศแพทยสภา รวมถึงการดำเนินการเชิงพาณิชย์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สบส. ได้นำเสนอร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยสเต็มเซลล์ (เซลล์ต้นกำเนิด) พ.ศ. ... ต่อผู้บริหารระดับสูง สธ. โดยหลักการและกรอบแนวทางการยกร่าง พ.ร.บ. มี ดังนี้ 1. บททั่วไปเกี่ยวกับนิยามของเซลล์ต้นกำเนิด และตัวอ่อน 2. คณะกรรมการ ทั้งองค์ประกอบ ที่มาอำนาจหน้าที่ หน่วยงานที่รับผิดชอบ 3. การควบคุมดูแลจะครอบคลุมเรื่องการสร้างเซลล์ต้นกำเนิด การวิจัย การใช้ การพิจารณาวินิจฉัยคำร้องเกี่ยวกับเซลล์ต้นกำเนิด การควบคุมดูแล การยกเลิกใบอนุญาต 4. ความยินยอม อาทิ หลักเกณฑ์การขอความยินยอม รูปแบบ และลักษณะของความยินยอม รายละเอียดการให้ความยินยอม สิทธิในการยกเลิกการให้ความยินยอม 5. บทกำหนดโทษ ทั้งเรื่องการใช้ตัวอ่อนเพื่อทำสำเนามนุษย์ การซื้อขายตัวอ่อน หรือเซลล์ต้นกำเนิด การแยกสกัดเซลล์ต้นกำเนิดตัวอ่อนโดยไม่มีใบอนุญาต และอื่นๆ

ทั้งนี้ สบส. ได้แต่งตั้งคณะกรรมการยกร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว ประกอบด้วย อธิบดี สบส. เป็นประธาน ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กรมการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แพทยสภา สภาเทคนิคการแพทย์ ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ สมาคมปลูกถ่ายไขกระดูก สมาคมโลหิตพิษวิทยา กลุ่มกฎหมายสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) และกองกฎหมาย สบส.

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น