xs
xsm
sm
md
lg

ศธ.จ่อชงเก็บภาษี ร.ร.กวดวิชาเข้า ครม.สัปดาห์หน้า แก้โจทย์ใหญ่ลดปริมาณ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เตรียมชงเก็บภาษี ร.ร. กวดวิชา เข้า ครม. สัปดาห์หน้า ชี้ต้องเก็บและใช้มาตรการลดหย่อนภาษี แทนยกเว้นภาษีให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ. ร.ร. เอกชน ระบุอัตราภาษีและการลดหย่อนให้กรมสรรพากร เป็นผู้พิจารณา ด้านโฆษก ศธ. ระบุโจทย์ที่ใหญ่กว่ามาตรการเก็บภาษี คือ ลดปริมาณการกวดวิชา ที่ต้องแก้ไขทั้งระบบ
นางสุทธศรี วงษ์สมาน  ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
วันนี้ (15 ม.ค.) นางสุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยถึงผลการประชุมผู้บริหารองค์กรหลัก ศธ. เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า ได้รายงานความคืบหน้าการดำเนินการจัดเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชาตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ได้หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการคลัง กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว และยืนยันให้มีการจัดเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชาทุกแห่ง โดยปัจจุบันทั่วประเทศมีโรงเรียนกวดวิชาประมาณ 2,000 กว่าแห่ง แบ่งประเภทการจัดเก็บภาษีเงินได้เป็น ประเภทบุคคลธรรมดาและประเภทนิติบุคคล ทั้งนี้ เมื่อมีการจัดเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชาแล้วจะมีการพิจารณาลดหย่อนภาษีให้โรงเรียนกวดวิชาเหล่านี้ แทนการยกเว้นภาษีเพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 มาตรา 48(4) ที่ได้กำหนดให้มีการลดหย่อนหรือยกเว้นภาษีเงินได้ของผู้รับใบอนุญาตฯ ซึ่งมาตรการลดหย่อนภาษีนี้จะทำให้ไม่ให้ขัดแย้งกับ พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชนฯ

ทั้งนี้ ในส่วนของอัตราการจัดเก็บและการลดหย่อนภาษี ทางกรมสรรพากรจะเป็นผู้พิจารณา โดยเฉพาะมาตรการลดหย่อนจะลดหย่อนได้กี่เท่าอาจจะสองเท่าหรือสามเท่าให้กับโรงเรียนกวดวิชาที่มีการทำกิจกรรมเพื่อประโยชน์สังคม กิจกรรมเพื่อการกุศล หรือสาธารณประโยชน์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาโดยในสัปดาห์หน้า สช. จะเสนอเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อรับทราบในเรื่องนี้ต่อไป อย่างไรก็ตาม พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ได้เสนอแนะว่าการแก้ปัญหากวดวิชาต้องแก้ที่ต้นตอ ควรมีการพัฒนาการเรียนการสอนและจะมอบให้ สช. ไปพิจารณาในภาพรวมของโรงเรียนกวดวิชาด้วยเพื่อแก้ปัญหาการกวดวิชา

ด้าน นายอมรวิชช์ นาครทรรพ ผู้ช่วยเลขานุการ รมว.ศึกษาธิการ ในฐานะโฆษก ศธ. กล่าวว่า โจทย์ที่ใหญ่กว่าการจัดเก็บภาษีคือ ทำอย่างไรที่จะลดปริมาณการกวดวิชาลง ซึ่งเป็นปัญหาพัวพันมานานหลายทศวรรษ โดยจะต้องแก้เป็นระบบ ทั้งการพัฒนาคุณภาพของโรงเรียน ความเหลื่อมล้ำด้านคุณภาพศึกษา การวัดและประเมินผลในโรงเรียน รวมถึงระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าสถาบันอุดมศึกษา ยกตัวอย่างเช่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ซึ่งนักศึกษากว่า 80% มาจากระบบโควตาที่พิจารณาเพียงแค่เกรดเฉลี่ยและการสอบสัมภาษณ์ ซึ่งมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนไม่ต่างจากเด็กที่มาจากระบบแอดมิชชัน ฉะนั้น จึงพิสูจน์ได้ว่าการดูคนอย่าดูเพียงแค่คะแนนสอบแต่ให้ดูที่ศักยภาพ

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น