xs
xsm
sm
md
lg

จุฬาฯ-รามาฯ-ศิริราช ระดมสมองปฏิรูประบบสุขภาพ ชี้บัตรทองต้องเพิ่มคุณภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จุฬาฯ - รามาฯ - ศิริราช จัดประชุมวิชาการร่วม 3 สถาบัน 4 - 6 มิ.ย. ระดมสมองนักวิชาการ นักวิจัย ผู้ให้บริการ รวมถึงความคิดเห็นจากประชาชน ทั้งจากหน้างานและการประกวดบทความ “ความเสมอภาคทางสุขภาพ” หวังสรุปเป็นข้อเสนอให้หน่วยงานรัฐพิจารณาการปฏิรูประบบสุขภาพ ย้ำเน้นการเข้าถึงบริการ คุณภาพที่ดี และค่าใช้จ่ายที่เหมาะสม ชี้บัตรทองช่วยเข้าถึงบริการ แต่ต้องเดินหน้างานคุณภาพด้วย

 
 
วันนี้ (15 ม.ค.) ที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกันแถลงข่าวจัดประชุมวิชาการร่วมคณะแพทยศาสตร์สามสถาบัน พ.ศ. 2558 : จุฬาฯ - รามาฯ - ศิริราช (Joint Conference in Medical Science 2015 : JCMS 2015) ภายใต้หัวข้อ Health Equity through Innovation and Collaboration ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 4 - 6 มิ.ย. 2558 โดย ศ.นพ.ประสิทธิ วัฒนาภา รักษาการแทนคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล กล่าวว่า การจัดประชุมในครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 2 เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวโรกาสเจริญพระชนมายุครบ 5 รอบ โดยถือเป็นการจัดประชุมครั้งยิ่งใหญ่ในวงการแพทย์และสาธารณสุขไทย โดยทั้งแพทย์ นักวิจัย และบุคลากรร้านสาธารณสุขจะมาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เพื่อยกระดับความรู้ทางวิชาการวงการแพทย์และสาธารณสุขทั้งในระดับประเทศและระดับอาเซียน โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จฯเป็นประธานเปิดการประชุมวันที่ 4 มิ.ย. ด้วย

รศ.นพ.โศภณ นภาธร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การจัดประชุมจะเน้นมุ่งให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่แพทย์ พยาบาล นิสิตนักศึกษา บุคลากรทางการแพทย์ และคนไทย ซึ่งที่ผ่านมาการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพได้ถูกกล่าวถึงเป็นอย่างมาก การจัดประชุมในครั้งนี้จึงเป็นการระดมความคิดเห็นและความเป็นไปได้ในการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพที่เป็นธรรมและทั่วถึง โดยหัวข้อที่จะจัดประชุม อาทิ ความก้าวหน้าของการปฏิรูประบบสุขภาพเพื่อการเข้าถึงของประชาชน การดูแลที่เป็นเลิศในโรคต่างๆ เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคกระดูกพรุน โรคมะเร็ง หัวข้อการดูแลผู้สูงวัยให้แข็งแรงและยืนยาว โรคติดเชื้ออุบัติใหม่ เช่น อีโบลา หัวข้ออุ้มบุญ หัวข้อวัยรุ่นกับเซ็กซ์และการตั้งครรภ์ เป็นต้น การเสพติดอินเทอร์เน็ตและเซ็กซ์ในคน Gen Z โดยหวังว่าประชาชนจะเข้ามาร่วมประชุมรับฟังและแสดงความคิดเห็น

ศ.นพ.วินิต พัวประดิษฐ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล กล่าวว่า สำหรับกิจกรรมในภาคประชาชนนั้น จะมีการจัดขึ้นทุกวันตั้งแต่วันที่ 4 - 6 มิ.ย. นี้ นอกจากนี้ จะจัดกิจกรรมที่ให้ความรู้แก่ประชาชนตลอดทั้งปีด้วยครอบคลุมองค์ความรู้ตั้งแต่วัยเด็กถึงวัยชรา โดยเริ่มตั้งแต่ ก.พ. นี้ เป็นต้นไป โดยกิจกรรมหลักในการประชุม คือ เปิดโอกาสให้ภาคประชาชนเขียนประกวดบทความในหัวข้อ ความเสมอภาคทางสุขภาพ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนทั่วไปได้มีโอกาสเผยแพร่ประสบการณ์ แนวคิด ข้อเสนอแนะ ความรู้สึก และเรื่องราวที่เกี่ยวกับความเสมอภาคทางสุขภาพ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาปรับปรุงระบบบริการสาธารณสุขที่ดี โดยประชาชนมีส่วนร่วม ทั้งนี้ สามารถติดตามกติกาการประกวดได้ที่ www.jcms2015.com ผู้ที่ชนะเลิศจะได้รับเงินสดจำนวน 3 หมื่นบาท และโล่พระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ โทร. 0-2201-1542

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในการประชุมจะมีข้อเสนอแนะในฐานะโรงเรียนแพทย์ถึงการปฏิรูปเรื่องหลักประกันสุขภาพแห่งชาติด้วยหรือไม่ เพราะขณะนี้กำลังมีความขัดแย้งในเรื่องการจัดสรรงบเหมาจ่ายรายหัวระหว่างกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่ชาติ (สปสช.) ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวอาจมีการพูดถึงในเวทีการประชุมด้วย แต่จะเน้นในเรื่องการของการเข้าถึงบริการสุขภาพที่เป็นธรรมและเสมอภาค ซึ่งความเสมอภาคในการรักษาพยาบาลนั้นคนจะเข้าใจว่าบัตรทองหรือ 30 บาทได้เข้ามาช่วยในเรื่องนี้ แต่ความเสมอภาคอย่างเดียวไม่เพียงพอ ต้องมีการบริการที่มีคุณภาพควบคู่ด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่องค์การอนามัยโลกให้ความสำคัญ ซึ่งปัจจุบันการเข้าถึงบริการเราสามารถทำได้ดีแล้ว แต่จะต้องทำให้ดียิ่งขึ้นไปอีก โดยต้องรักษาสมดุลของ 3 สิ่งคือ การเข้าถึงบริการ เรื่องคุณภาพ และค่าใช้จ่าย ซึ่งจะเน้นในเรื่องใดเรื่องหนึ่งไม่ได้ ต้องทำให้ทั้งสามส่วนเดินหน้าไปได้ด้วยกัน ซึ่งในการประชุมครั้งนี้มีนักวิชาการทั้งจาก 3 สถาบัน ผู้ให้บริการ และมีข้อเสนอความคิดเห็นจากภาคประชาชนที่มาจากเกือบทั่วประเทศด้วย น่าจะสามารถให้แนวทางข้อเสนอแนะไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องการปฏิรูประบบสุขภาพได้ โดยหลังการประชุมจะสรุปความคิดเห็นต่างๆ เป็นข้อเสนอส่งไปยังหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น คณะกรรมการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ หรือ สธ. เป็นต้น เพื่อนำมาสู่การวิเคราะห์แก้ไขปัญหาที่มีอยู่ในปัจจุบัน

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น