xs
xsm
sm
md
lg

แพทยสภาไฟเขียวเด็กต่ำกว่า 18 ปี ตรวจเอดส์ไม่ต้องขอพ่อแม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แพทยสภาไฟเขียวเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ตรวจเอดส์ได้โดยไม่ต้องขอผู้ปกครอง ช่วยเพิ่มการเข้าถึงการตรวจ และรับการรักษา หลังพบที่ผ่านมากลุ่มวัยเด็กติดเชื้อเพิ่มขึ้นสูง เอ็นจีโอด้านเอดส์ชมเป็นเรื่องที่ดี ช่วยให้รักษาได้เร็ว โอกาสหายมีสูงตามการวิจัย

นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผอ.มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีความก้าวหน้าในการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี และผู้ป่วยเอดส์ ด้วยยาต้านไวรัสประสิทธิภาพสูง ซึ่งหน่วยงานของรัฐจัดสรรให้แก่ผู้ติดเชื้ออย่างพอเพียง ซึ่งคณะกรรมการแพทยสภา มีมติเห็นชอบในการออกประกาศเรื่อง “แนวทางปฏิบัติของแพทย์เกี่ยวกับเอชไอวี พ.ศ. 2557” มีรายละเอียดน่าสนใจ 4 เรื่อง คือ 1. ผู้ที่มาขอตรวจเชื้อเอชไอวีที่อายุต่ำกว่า 18 ไม่จำเป็นต้องขออนุญาตผู้ปกครอง ถ้าผู้ที่มาขอตรวจเข้าใจเรื่องการติดเชื้อ ความหมายของการตรวจเลือด (การตรวจวินิจฉัยไม่ใช่ทำนิติกรรม) 2. การขอความยินยอมอาจทำด้วยวาจาหรือลายลักษณ์อักษร โดยหากทำเป็นวาจาจะต้องลงบันทึกในเวชระเบียน 3. การเซ็นใบยินยอมให้เปิดเผยผลการตรวจแก่บุคคลอื่นต้องทำหลังจากทราบผลแล้ว และ 4. เมื่อทราบผลตรวจว่ามีการติดเชื้อและรับคำปรึกษาแล้ว แพทย์ต้องให้การรักษาเข้าสู่ระบบการรักษา และรักษาความลับอย่างเคร่งครัด ซึ่งการแจ้งผู้ปกครองต้องพิจารณาแล้วว่าเป็นประโยชน์ต่อผู้ตรวจ และต้องแจ้งให้ผู้ตรวจรับทราบ

“ประกาศดังกล่าวถือว่าเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มเสี่ยงอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการยกเลิกข้อจำกัดเกณฑ์อายุในการตรวจเลือด ซึ่งปัจจุบันสถานพยาบาลไม่สามารถตรวจให้กับเด็กที่มีความเสี่ยงได้ เนื่องจากเกณฑ์ข้อดังกล่าว แต่พบว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อในกลุ่มเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี นั้น สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แสดงให้เห็นว่าจำเป็นต้องทำให้คนทุกกลุ่มเข้าถึงการตรวจและได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว เพราะมีงานวิจัยเริ่มระบุถึงประโยชน์การให้ยาอย่างรวดเร็ว อาจนำไปสู่ความหวังในการรักษาหายในอนาคต ทั้งนี้ แนวทางปฏิบัติยังได้ระบุให้แพทย์ให้ความรู้ แนวทางปฏิบัติตัวแก่ผู้รับการตรวจด้วย ซึ่งจะเป็นแนวทางหนึ่งที่ทำให้ลดความเสี่ยงในอนาคตลงได้ด้วย” นายนิมิตร์ กล่าว

นายนิมิตร์ กล่าวว่า เกณฑ์ที่ระบุถึงการรักษาความลับ การบังคับเซ็นใบยินยอมในการเปิดเผยข้อมูลนั้น จะช่วยลดปัญหาในปัจจุบัน โดยเฉพาะบริษัทบางแห่งที่บังคับให้เปิดเผยผลการตรวจตั้งแต่ยังไม่มีการตรวจ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเกณฑ์ข้อดังกล่าว ทำให้ผู้ที่จะตรวจเลือด ไม่จำเป็นต้องเซ็นใบยินยอมก่อนที่จะตรวจเลือด และสามารถเลือกที่จะเปิดเผยหรือไม่เปิดเผยก็ได้ อย่างไรก็ตาม กระบวนการให้คำปรึกษาและแนวทางปฏิบัติตนกับผู้ติดเชื้อจะเป็นขั้นตอนที่สำคัญอีกประการที่จะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตรวมทั้งให้ผู้ติดเชื้อสามารถเข้าสู่กระบวนการรักษาได้อย่างรวดเร็ว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น