xs
xsm
sm
md
lg

ส่องเด็ก 3 แบบ เป้าหมาย “อาชีวะ” ล่าคนเรียนเพิ่มยอด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มอบอาชีวะศึกษารูปแบบเพิ่มผู้เรียนต่อสายอาชีพในปี 58 ชู 3 รูปแบบที่เจาะเด็กใน 3 ประเภท โดย 2 ประเภทแรกเจาะที่เด็กระดับพื้นฐาน ม.ต้น-ม.ปลาย และอีกประเภท คือ เด็กนอกระบบที่จบแล้วไม่เรียนต่อ “ชัยพฤกษ์” ชี้การเจาะกลุ่มเด็กระดับพื้นฐานต้องไม่เป็นการทุบหม้อข้าว สพฐ.ที่อาจได้รับผลกระทบรายหัวลดหากเด็กเรียนสายอาชีพเพิ่ม อีกทั้งปัจจุบันจำนวนประชากรก็ลดลงด้วย

นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (เลขาธิการ กอศ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมองค์กรหลักเมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งมี พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธานเมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมได้มีการหารือถึงแผนรับนักเรียนของอาชีวศึกษาในปีการศึกษา2558 ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) มีเป้หมายเพิ่มจำนวนผู้เรียนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ในภาพรวมทั้งประเทศ และต้องการดึงนักเรียนที่จบระดับมัธยมศึกษาตอนต้น มาเรียนต่อสายอาชีพเพิ่มขึ้นอีก 5% เพื่อให้สัดส่วนผู้เรียนต่อสายอาชีพ และสายสามัญอยู่ที่ 41:59 จากปัจจุบันอยู่ 36:64 ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ให้แนวคิดในการเพิ่มจำนวนผู้เรียนต่อระดับ ปวช. 3 รูปแบบ ที่เน้นเจาะกลุ่มเด็ก 3 ประเภท ได้แก่ 1.ให้นักเรียน ม.ปลายเรียนสายอาชีพควบคู่กับสายสามัญ จบมาแล้วจะได้รับวุฒิทั้ง ม.6 และ ปวช. ซึ่งรูปแบบนี้ได้มีการทดลองใช้ที่โรงเรียนมัธยมพระราชทานเฉลิมพระเกียรติ อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน และวิทยาลัยการอาชีพปัว จ.น่าน พบว่า ประสบความสำเร็จ ดังนั้น สอศ.จะขยายการดำเนินการในรูปแบบดังกล่าวเพิ่ม โดยมีเป้าหมายที่โรงเรียนมัธยมศึกษาประจำตำบล ซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดไม่ใหญ่เกินไป อีกทั้งนักเรียนที่จบในโรงเรียนนี้ไม่ได้เรียนต่อระดับอุดมศึกษา หากให้เด็กได้เรียนสายอาชีพจะเป็นประโยชน์มากกว่า และถึงแม้รูปแบบนี้จะไม่ช่วยให้สัดส่วนการเรียนต่อสายชีพเพิ่มขึ้น แต่ก็เป็นการเพิ่มคุณภาพแรงงานของประเทศ

รูปแบบที่ 2.การเปิดสอนสายอาชีพให้แก่นักเรียน ม.ต้น โดยอาจให้โรงเรียนจัดการเรียนการสอนเอง หรือประสานวิทยาลัยอาชีวะเข้าไปฝึกทักษะอาชีพให้ ซึ่ง สอศ.เตรียมดำเนินการ โดยเน้นเป้าหมายโรงเรียนขยายโอกาสที่มีอยู่ประมาณ 9,000 โรงทั่วประเทศ ทั้งนี้ การให้โอกาสเด็ก ม.ต้นเรียนสายอาชีพควบคู่ไปด้วยจะเป็นการจูงใจให้เด็กที่จบ ม.ต้น เลือกเรียนต่อสายอาชีพเพิ่มขึ้น และเป็นประโยชน์ต่อการเพิ่มสัดส่วนผู้เรียนสายอาชีพ และรูปแบบที่ 3 เน้นเข้ากลุ่มนักเรียนนอกระบบ เช่น เด็กจบ ม.3 แล้วไม่ได้เรียนต่อ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 10% ของนักเรียนที่จบ ม.3 ของทั้งหมด เป็นต้น เพราะฉะนั้นจะจัดให้มีหลักสูตรอาชีวะทางเลือกให้แก่เด็กกลุ่มนี้ได้เรียนนอกเวลา พร้อมจัดระบบเทียบโอนหน่วยกิตจากประสบการณ์การฝึกทักษะวิชาชีพ ทั้งนี้ การดำเนินการตาม 3 แผนงานแม้จะไม่ส่งผลกระทบต่อการเพิ่มผู้เรียนสายอาชีพโดยตรง แต่เป็นการเพิ่มจำนวนผู้เรียน ปวช.ทั้งประเทศ ซึ่งปัจจุบันประเทศต้องการแรงงานระดับฝีมือ ช่างเทคนิคจำนวนมาก เพื่อมาขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ

“ที่ประชุมได้ให้ สอศ.และ สพฐ.ไปหารือกันในเรื่องการเปิดสอนสายอาชีพในระดับ ม.ต้น และ ม.ปลาย อย่างไรก็ตาม เฉพาะใน 2 รูปแบบแรกนั้นเกิดขึ้นบนพื้นฐานความคิดที่ว่าการเพิ่มผู้เรียนสายอาชีวะจะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อโรงเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน หากมีการดึงเด็กมาเรียนสายอาชีพจำนวนมากย่อมส่งผลให้โรงเรียนได้รับเงินอุดหนุนรายหัวลดลง และอาจต้องมีการลดจำนวนครูลงด้วย เพื่อให้สอดคล้องต่อจำนวนนักเรียนที่ลดลง แต่ความจริงแล้วการเพิ่มผู้เรียนในสายอาชีวะจะต้องไม่เป็นการลงโทษโรงเรียน สพฐ. ไม่ทุบหม้อข้าวของ สพฐ. ขณะที่โรงเรียนสังกัด สพฐ.เองก็ยังมีปัญหานักเรียนได้ไม่เต็มจำนวนที่นั่งเรียน เพราะอัตราการเกิดของประชากรลดลง” นายชัยพฤกษ์ กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น