สอศ. พร้อมอุ้มเด็กเรียนต่อ ม.ปลาย ไม่ไหว อยากเปลี่ยนใจเรียนสายอาชีพให้เทียบความรู้ได้ เผยข้อมูลย้อนหลัง 10 ปี ของ ศธ. พบมีเด็ก ม.4 ไม่เลื่อนชั้นประมาณ 15% หรือประมาณ 4 หมื่นคน แจงเทียบโอนได้กลุ่มทักษะชีวิต ไม่เกิน 2 ใน 3 ของหน่วยกิตหลักสูตร ปวช. ทั้งหมด 103 หน่วยกิต
นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (เลขาธิการ กอศ.) เปิดเผยว่า แต่ละปีมีนักเรียนจบชั้นมัธยมต้นประมาณ 9 แสนคน ในจำนวนนี้เลือกเรียนต่อมัธยมศึกษา (ม.) ตอนปลายสายสามัญประมาณ 5 แสนคน เรียนต่อสายอาชีพประมาณ 3 แสนคน อย่างไรก็ตาม นักเรียน ม.ปลาย จำนวนไม่น้อยต้องเรียนซ้ำชั้น หรือออกกลางคัน เพราะเรียนไม่ไหว ข้อมูลย้อนหลัง 10 ปีของกระทรวงศึกษาธิการ พบว่า นักเรียนชั้น ม.4 ที่สามารถเลื่อนชั้นขึ้นไปเรียน ม.5 ได้เฉลี่ยแค่ 85% ที่เหลืออีก 15% หรือประมาณ 4 หมื่นคน เรียนซ้ำชั้นหรือออกกลางคัน ส่วนนักเรียนชั้น ม.5 สามารถเลื่อนขึ้นเรียนชั้น ม.6 ได้ประมาณ 90% เพราะฉะนั้น สอศ. จึงเตรียมทำโครงการส่งเสริมการเทียบโอนหน่วยกิตของหลักสูตรมัธยมปลายสายสามัญเพื่อเรียนต่อระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ในวิทยาลัยอาชีวศึกษา เพื่อให้ทางเลือกแก่นักเรียนมัธยมปลายที่เรียนไม่ไหว สามารถเปลี่ยนเส้นทางมาเรียนต่อสาอาชีพได้
ทั้งนี้ ปัจจุบันนักเรียนสามารถเทียบโอนผลการเรียนในระดับ ม.ปลาย เพื่อเรียนต่อในวิทยาลัยอาชีวศึกษาได้ เพราะมีระเบียบว่าด้วยการจัดการศึกษาและการประเมินผลการเรียนตามหลักสูตร ปวช. พ.ศ. 2556 รองรับ โดยกำหนดหลักเกณฑ์ในการเทียบโอนไว้ ให้สถานศึกษารับเทียบโอนผลการเรียนได้ไม่เกิน 2 ใน 3 ของจำนวนหน่วยกิตระดับ ปวช. ซึ่งตลอดหลักสูตรอยู่ที่ 103 หน่วยกิต โดยหน่วยการเรียนที่รับโอนได้ ส่วนใหญ่จะเป็นวิชาในกลุ่มทักษะชีวิต เช่น วิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาไทย เป็นต้น ซึ่งมีทั้งหมด 21 หน่วยกิต
“แม้จะเปิดช่องไว้แต่ก็พบว่ายังเข้าใจไม่ตรงกัน บางวิทยาลัยก็ไม่รู้ว่า สามารถเทียบโอนหน่วยกิตได้ เพราะฉะนั้น เร็วๆ นี้ จะซักซ้อมความเข้าใจและแนวปฏิบัติในการเทียบโอนให้ตรงกันไปยังทุกวิทยาลัย อย่างไรก็ตาม หลักเกณฑ์ในการเทียบโอนกำหนดไว้ว่า เนื้อหาในวิชาที่จะเทียบโอนกันนั้น ต้องเนื้อหาตรงกันเกิน 60 % ซึ่งที่มาเป็นดุลพินิจของวิทยาลัยในการเปรียบเทียบเนื้อหา แต่เพื่อความคล่องตัว สอศ. จะตั้งกรรมการขึ้นมาเปรียบเทียบเนื้อหาในหลักสูตร ปวช. และหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และทำเป็นบัญชีไว้ให้วิทยาลัยนำไปใช้ในการพิจารณาเทียบโอน” นายชัยพฤกษ์ กล่าวและว่า ทั้งนี้ หากนักเรียนชั้น ม.4 เปลี่ยนมาเรียนสายอาชีพ ก็ยังสามารถไล่ตามจบพร้อมเพื่อนร่วมรุ่นได้ แต่อาจต้องลงเรียนภาคฤดูร้อนเพิ่มเติมในบางรายวิชาที่ขาด
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่