xs
xsm
sm
md
lg

จี้บอร์ดคุรุสภาตรวจสอบสาขาขาดแคลนจริง ส.ค.ศ.ท. ยันใช้ครูจบตรงวุฒิดีกว่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประธาน ส.ค.ศ.ท. จี้บอร์ดคุรุสภาตรวจสอบสาขาขาดแคลนที่มีการเสนอขอให้ชัดเจน หวั่นไม่ขาดแคลนจริง ชี้ปัจจุบันที่ อาชีวะ - พื้นฐาน และเอกชน เสนอขอใบอนุญาตสอนชั่วคราวจำนวนมาก ยันใช้ครูจบตรงวุฒิดีกว่า
ผศ.ดร.สุรวาท ทองบุ
ผศ.ดร.สุรวาท ทองบุ คณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ในฐานะประธานสภาคณบดีคณะครุศาสตร์และศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย (ส.ค.ศ.ท.) กล่าวถึงกรณีที่ที่ประชุมคณะกรรมการคุรุสภามีมติเห็นชอบและประกาศสาขาขาดแคลนของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จำนวน 98 สาขาและสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จำนวน 10 สาขา ที่จะผ่อนผันโดยออกหนังสือปฏิบัติการสอนชั่วคราว เพื่อให้สามารถยื่นสอบบรรจุข้าราชการได้แต่จะต้องพัฒนาตนเพื่อให้สามารถผ่านให้ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูได้ ว่า ในการประชุม ส.ค.ศ.ท. ที่ผ่านมา ที่ประชุมได้หารือกันในประเด็นดังกล่าว เพราะเห็นว่าสาขาวิชาขาดแคลนที่บอร์ดคุรุสภาประกาศ หลายสาขาไม่ขาดแคลนจริงบางสาขาเป็นเพียงวิชาแขนงหนึ่งของบางสาขาที่เปิดสอนอยู่เท่านั้น ทำให้เมื่อถึงเวลาเปิดสอบแข่งขันจึงเปิดสอบไม่ได้หรือไม่มีคนมาสอบ จึงอยากให้คุรุสภาตรวจสอบให้ชัดเจนก่อนว่าเป็นสาขาขาดแคลนจริงหรือไม่ ขณะเดียวกัน ส.ค.ท.ศ. ยังยืนยันว่าควรต้องใช้ครูที่จบวุฒิการศึกษามาโดยตรงจะดีกว่า

“ทาง ส.ค.ศ.ท. เห็นว่าตอนนี้ทั้ง สอศ. สพฐ. และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) มาขอใบอนุญาตสอนชั่วคราวกันมาก จึงอยากขอให้คุรุสภาตรวจสอบให้ดีๆ ว่า สาขาที่ขอมาขาดแคลนจริงหรือไม่ เพราะเท่าที่ทราบหลายสาขาที่ขอมาไม่ขาดแคลนจริง เป็นเพียงแขนงที่เป็นวิชาย่อยในสาขานั้น และขณะนี้ก็ยังไม่มีมหาวิทยาลัยใดส่งหลักสูตรมาให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) รับรองเพื่อตีค่าเงินเดือน” ผศ.ดร.สุรวาท กล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สิ่งที่สถานศึกษาต้องทำ คือ ดูว่าสาขาที่ตัวเองขาดแคลนมีอะไรและต้องการได้ครูสาขาอะไร แล้วแจ้งให้ฝ่ายผลิตทราบล่วงหน้า เพื่อจะได้วางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการ แต่หากคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ผลิตให้ไม่ได้ จึงค่อยมาสรุปว่านั่นคือสาขาขาดแคลน

ด้าน นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) กล่าวว่า สพฐ. ได้เสนอให้บอร์ดคุรุสภาประกาศสาขาวิชาขาดแคลน 21 สาขา แต่ผ่านเพียง 10 สาขา ส่วนที่ไม่ผ่านเพราะที่ประชุมมองว่ามหาวิทยาลัยเปิดสอนซึ่งก็ไม่เป็นไร เพราะทั้ง 10 สาขาที่ได้รับอนุมัติก็ตรงกับความต้องการของ สพฐ. ที่อยากได้คนเก่งและจบสายตรง อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ สพฐ. ก็จะทำหนังสือไปยัง ก.ค.ศ. เพื่อให้ ก.ค.ศ. รับรองหลักสูตรและกำหนดค่าตำแหน่งและเงินเดือนต่อไป

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น