xs
xsm
sm
md
lg

ชงรับค่าตอบแทนแก้ “นักสืบโรค” ขาดแคลน เผยเลือดไก่ต้นตอท้องร่วงหนัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรมควบคุมโรคชง รมว.สธ. ปรับค่าตอบแทน แก้ปัญหา “นักระบาดวิทยา” ขาดแคลน พร้อมเร่งปั๊มผู้เชี่ยวชาญเพิ่ม หลังพบคนทำงานจริงมีเพียง 20 คน ย้ำนักระบาดสำคัญ เหมือนนักสืบโรคมาจากแหล่งใด ยกเคสเชียงใหม่ท้องร่วงหนัก 1.4 พันคน มาจากข้าวมันไก่และสืบจนรู้มาจากเลือดไก่
 นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค
นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวถึงปัญหานักระบาดวิทยาขาดแคลน ว่า หลังจากที่ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ให้ คร. รวบรวมข้อมูลปัญหากรณีดังกล่าวว่า จะมีการปรับค่าตอบแทนอย่างไร ขณะนี้ คร.ได้ทำหนังสือแจ้งถึงปัญหาขาดแคลนบุคลากรด้านระบาดวิทยา เสนอต่อ รมว.สาธารณสุข แล้ว เพื่อพิจารณาในเรื่องการปรับค่าตอบแทนให้กับแพทย์กลุ่มนี้ โดยระหว่างการรอ คร. จะจัดระบบในการสร้างแรงจูงใจให้กับแพทย์ระบาดวิทยาเช่นกัน โดยเพิ่มในส่วนของเบี้ยเลี้ยงรายวัน สำหรับลงพื้นที่ภาคสนามไปเก็บตัวอย่างเชื้อ หรือลงพื้นที่สอบสวนโรค จากเดิมได้เบี้ยเลี้ยงเพียงวันละ 100 กว่าบาท ก็เพิ่มให้อีกเท่าตัวประมาณ 200 บาทต่อวัน นอกจากนี้ จะเร่งผลิตแพทย์ด้านระบาดวิทยาเพิ่ม แต่แพทย์ระบาดวิทยาระดับผู้เชี่ยวชาญ อาจไม่สามารถไปเร่งพัฒนาได้ เนื่องจากค่อนข้างยาก เพราะค่าตอบแทนน้อย และส่วนใหญ่ต้องมาอยู่ในส่วนกลาง จึงเร่งผลิตแพทย์ระบาดวิทยาจากสายเชี่ยวชาญอื่นๆ โดยมีการอบรมเพิ่มเติม โดยพยายามพัฒนาให้ได้ประมาณ 30 - 40 คน เพราะตามปกติจะต้องมีแพทย์ระบาดวิทยา 1 ต่อแสนประชากร ซึ่งเป็นแพทย์ระบาดระดับเชี่ยวชาญถึง 320 คน แต่ปัจจุบันมีเพียง 171 คนเท่านั้น ที่สำคัญทำงานลงพื้นที่จริงๆ เพียง 20 คน เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนต้องแก้ไข

นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า การขาดแคลนแพทย์ระบาดวิทยา ถือเป็นปัญหาหนัก เพราะหากขาดแคลนก็ไม่สามารถสอบสวนโรคต่างๆ ได้ ขณะนี้ก็มีแพทย์ลงภาคสนามเพียง 20 คน แต่ทำงานมาก โดยเฉพาะการระบาดของโรคติดเชื้อ หรือแม้แต่โรคอาหารเป็นพิษ ซึ่งพบทุกปี โดยจากข้อมูลของสำนักระบาดวิทยา ที่เข้าไปตรวจสอบใน จ.เชียงใหม่ พบการระบาดของโรคอาหารเป็นพิษ ตั้งแต่ พ.ค.- ก.ย. 2557 รวม 44 เหตุการณ์ แพทย์ด้านระบาดวิทยาได้ลงพื้นที่ตรวจสอบจนพบว่า สาเหตุของการระบาดเกิดจากข้าวมันไก่ถึง 15 เหตุการณ์ พบเชื้ออหิวาต์เทียม (Vibrio parahaemolyticus) ถึง 13 เหตุการณ์ และเมื่อสอบสวนลึกลงไปอีกพบว่า สาเหตุสำคัญคือ เลือดในข้าวมันไก่ โดยเมื่อ มิ.ย. 2557 สำนักระบาดวิทยาได้ลงพื้นที่ร่วมกับ สสจ.เชียงใหม่ สอบสวนโรคพบว่า เลือดไก่ที่มาจากโรงงานผลิตแห่งหนึ่ง พบเชื้ออหิวาต์เทียมปนอยู่ และยังพบการระบาดลักษณะนี้ต่อเนื่อง ตั้งแต่ มิ.ย.- ธ.ค. 2557 และพบรายงานการระบาดของโรคอาหารเป็นพิษที่เกี่ยวข้องกับไก่ และผลิตภัณฑ์จากไก่ ในเขตรับผิดชอบของ สคร. ที่ 6 ทั้งหมด 20 เหตุการณ์ จำนวน 1,410 ราย กระจาย 7 จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น หนองบัวลำภู อุดรธานี บึงกาฬ มหาสารคาม และร้อยเอ็ด โดยพบสูงสุดใน พ.ย. อาหารสงสัยส่วนใหญ่เป็นข้าวมันไก่ นอกนั้นมีลาบไก่ (ผสมเลือดไก่) เห็นได้ว่าส่วนใหญ่มาจากเลือดไก่เป็นหลัก ซึ่งขณะนี้ได้แจ้งไปยังโรงงานผลิตเลือดไก่แล้ว ให้ปรับปรุง และ คร. ก็เตรียมลงพื้นที่ตรวจสอบซ้ำด้วย

“เห็นได้ว่า นักระบาดมีความสำคัญมาก เพราะข้อมูลเหล่านี้ก็จะเป็นหน้าที่ของนักระบาดในการตรวจสอบ แต่ในเชิงลึกต้องอาศัยนักระบาดระดับผู้เชี่ยวชาญในการตรวจสอบ ว่า เป็นเพราะอะไรด้วย เนื่องจากเบื้องต้นทราบแค่มาจากข้าวมันไก่ แต่เมื่อสอบสวนและลงพื้นที่ติดตามแหล่งขาย แหล่งผลิตจึงทำให้ทราบว่าเป็นเลือดไก่ ดังนั้น นักระบาดจึงเป็นเหมือนนักสืบที่มีความสำคัญในการทราบว่าแหล่งโรคมาจากที่ใด เพื่อป้องกันได้ตรงจุด” อธิบดี คร. กล่าว

ด้าน นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ ผอ.สำนักระบาดวิทยา กล่าวว่า แพทย์ระบาดวิทยาตามสถานพยาบาลอื่นๆ ที่ไม่ใช่ส่วนกลาง ส่วนใหญ่ไม่ได้มุ่งทำงานด้านระบาดวิทยาโดยตรง แต่จะเน้นออกตรวจคนไข้ ขณะที่แพทย์ระบาดวิทยาในโรงเรียนแพทย์จะทำการศึกษาวิจัย ที่ลงพื้นที่ภาคสนามในการตรวจหาเชื้อต่างๆ นั้น จะเป็นที่ส่วนกลางซึ่งมีประมาณ 20 คนเท่านั้น และการจะไปดึงจากส่วนอื่นมาเพื่อให้มาทำงานด้านระบาดโดยตรง ค่อนข้างยาก เพราะปัจจัยสำคัญคือ ค่าตอบแทน เนื่องจากทุกวันนี้นักระบาดวิทยาที่ทำงานในส่วนกลางมีเงินเดือนรวมทุกอย่างไม่เกิน 40,000 บาทด้วยซ้ำไป

ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่เห็นเรื่องที่ คร. ส่งมา น่าจะอยู่ระหว่างขั้นตอน ส่วนเรื่องการปรับค่าตอบแทนต้องมองภาพรวมในทุกสาขาวิชาชีพ ซึ่งเรื่องนี้มีทีมงานดำเนินการอยู่ ยังไม่แล้วเสร็จ

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น