xs
xsm
sm
md
lg

ลาดกระบังฯ รับพบเงินหายตั้งแต่ปี 55 “ถวิล” เชื่อคนในมีเอี่ยวกับธนาคาร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการ - สจล. ออกแถลงการณ์ ฉ.1 แจงกรณีมีข่าวเงินกองกลางหายจากบัญชี 1.6 พันล้านบาท ระบุพบเงินหายตั้งแต่ปี 55 พร้อมประสานพนักงานสอบสวนเข้ามาตรวจสอบคาดรู้ตัวคนทำผิด เร็วๆ นี้ ยันไม่กระทบการทำงาน ด้าน “ถวิล” ลั่นพร้อมให้ข้อมูล เรียกร้อง ป.ป.ช.- สตง. มาตรวจสอบ เชื่อคนในมีเอี่ยวกับธนาคาร ยันตอนนั่งเก้าอี้อธิการฯไม่พบสิ่งผิดปกติ ส่วนรักษาการอธิการบดี “โมไนย” ไม่สามารถติดต่อได้

ตามที่ ASTVผู้จัดการ ได้นำเสนอข่าวกรณีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) มีการตรวจสอบพบเงินกองกลางของ สจล. จำนวน 3,000 ล้านบาท หายไปจากบัญชีถึง 1,600 ล้านบาท และจากการตรวจสอบเบื้องต้น คาดว่า มีเจ้าหน้าที่การเงิน หรือผู้บริหารระดับสูงของ สจล. ร่วมกับพนักงานเบิกจ่ายไม่ถูกต้อง ทั้งพบว่าบัญชีกลางของ สจล. ถูกเปิดบัญชีแยกออกจำนวนหลายสิบบัญชี โดยขณะนี้ สจล. เหลือเงินทั้งหมดประมาณ 1,400 ล้านบาท นอกจากนี้ ในส่วนของธนาคารยังพบว่าภายหลังเกิดเหตุมีพนักงานระดับผู้จัดการธนาคารกรุงศรีอยุธยา สาขาหนึ่งที่เป็นผู้รับเงินได้หายตัวไปกว่า 1 สัปดาห์แล้วนั้น

ความคืบหน้าล่าสุด วันนี้ (22 ธ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สจล. ออกแถลงการณ์เรื่อง ข่าวความผิดปกติทางการเงินของ สจล. ฉบับที่ 1 ระบุว่า ตามที่สื่อต่างๆ ได้มีการเผยแพร่ข่าวกรณีมีความผิดทางการเงินของ สจล. นั้น ทางสถาบันฯโดยผู้บริหารชุดปัจจุบันซึ่งเป็นผู้รักษาการ ศ.ดร.โมไนย ไกรฤกษ์ รักษาการแทนอธิการบดี ได้พบความผิดปกติของบัญชีเงินฝากธนาคารของสถาบันฯ เมื่อต้นเดือน ธ.ค. 2557 จึงได้ทำการตรวจสอบบัญชีเงินฝากทั้งหมดของสถาบันฯ และพบว่า มีเงินฝากในบัญชีธนาคารบางบัญชีได้ถูกถอนออกอย่างผิดปกติ ตั้งแต่ปลายปี 2555 จึงได้รายงานต่อสภาสถาบันฯ และมอบหมายให้คณะทำงานเข้ามาตรวจสอบกรณีดังกล่าวในทันที ซึ่งทางสถาบันฯได้ร้องขอให้พนักงานสอบสวนเข้ามาทำการสืบสวนสอบสวนเพื่อหาผู้กระทำผิดแล้ว และเชื่อว่าจะทราบผู้กระทำผิดในเร็วๆ นี้ ส่วนจำนวนเงินที่เสียหายนั้น อยู่ในระหว่างการตรวจสอบเพื่อความถูกต้องต่อไป ทั้งนี้ กรณีดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบต่อการบริหารงานและการดำเนินงานตามปกติของสถาบันฯแต่อย่างใด จึงประกาศมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน
 
ด้าน นายถวิล พึ่งมา อดีตอธิการบดี สจล. เปิดเผยว่า เมื่อครั้งที่ตนเข้ามารับตำแหน่งอธิการบดี สจล. เดือน ส.ค. 2555 และออกจากตำแหน่งในเดือน พ.ย. 2556 โดยระหว่างนั้นก็ไม่ได้สังเกตพบความผิดปกติในเรื่องการเบิกจ่ายเงิน ทั้งนี้ โดยปกติเมื่อมีการเปลี่ยนตำแหน่งอธิการบดี ทุกครั้งก็จะต้องมีการเปลี่ยนลายเซ็นผู้เบิกจ่ายมาเป็นอธิการบดีคนใหม่ และการเบิกจ่ายในแต่ละครั้งจะต้องมีผู้เซ็นอนุมัติ 3 คน ได้แก่ อธิการบดี รองอธิการบดี และหัวหน้าฝ่ายการเงิน ส่วนกรณีที่สถาบันฯ เปิดบัญชีหลายบัญชีนั้นก็ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ เพราะหลังจากที่ สจล. ออกนอกระบบ โดยปกติมหาวิทยาลัยที่ออกนอกระบบต้องบริหารจัดการบัญชีเพื่อให้เกิดรายได้และประโยชน์สูงสุด ดังนั้น หากธนาคารใดให้ดอกเบี้ยสูง ก็จะมีการโยกเงินไปฝากยังธนาคารดังกล่าว ซึ่งปกติก็จะมีการเปลี่ยนธนาคารทุก 3 เดือน 6 เดือน

"ผมยินดีรับการตรวจสอบและอยากให้มีการตรวจสอบโดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ( สตง.) ซึ่งถือเป็นผู้ตรวจสอบงบดุลบัญชีของมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว หากพบว่ามีการยักยอกเงินจริงผมเชื่อว่าเรื่องนี้คงต้องมีการทำเป็นกระบวนการใหญ่ มีผู้รู้เห็นทั้งคนใน สจล.และธนาคารที่เกี่ยวข้องอย่างแน่นอน"นายถวิล กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ภายหลังเกิดกรณีดังกล่าวได้พยายามโทรศัพท์ติดต่อ รศ.ดร.โมไนย เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวแต่ไม่สามารถติดต่อได้

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น