xs
xsm
sm
md
lg

จ่อยกเครื่องหลักสูตรศึกษา เปลี่ยนสัดส่วนเวลาเรียน - กลุ่มสาระไม่ฟันธง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สพฐ. จ่อยกเครื่องหลักสูตรแกนกลางฯ ครั้งใหญ่ ชี้ถึงวงรอบที่ต้องปรับให้ทันสังคมที่เปลี่ยนไป การผลิตคนที่ประเทศต้องการรวมทั้งสอดคล้องกับปฏิรูปการศึกษาของประเทศ เบื้องต้นยังไม่กำหนดชัดว่าต้องมีกี่กลุ่มสาระ แต่เน้นศึกษา วิเคราะห์ข้อดี ข้อเสียแนวโน้มเด็กที่ต้องการในศตวรรษที่ 21 แต่แน่ชัดว่าสัดส่วนเวลาเรียนจะต่างจากเดิม ทั้งนี้คาดว่ากระบวนการจะดำเนินการในช่วงปีครึ่ง - สองปี จะแล้วเสร็จ

วันนี้ (17 ธ.ค.) นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กำลังเตรียมปรับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 ซึ่งจะเป็นการปรับหลักสูตรครั้งใหญ่ เนื่องจากหลักสูตรดังกล่าวใช้มา 6 ปีแล้วและถึงวงรอบที่จะต้องปรับปรุงหลักสูตรแกนกลางฯให้สอดคล้องกับบริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลง และเพื่อผลิตคนให้ตรงกับความต้องการของประเทศ รวมทิศเป็นไปในทิศทางเดียวกับการปฏิรูปการศึกษารอบใหม่ของประเทศ ทั้งนี้ สพฐ. จะตั้งคณะกรรมการพัฒนาหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานระดับกระทรวง มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธาน และเสนอตั้ง นายสุชาติ วงษ์สุวรรณ ที่ปรึกษา สพฐ. เป็นหัวหน้าคณะทำงานปรับปรุงหลักหลักสูตร

ทั้งนี้ สพฐ. ได้กำหนดกระบวนการและปฏิทินการดำเนินการเอาไว้ 12 ขั้นตอน ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณปีครึ่งถึงสองปีจึงจะดำเนินการแล้วเสร็จ ได้แก่ 1. ศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลเดือนตุลาคม - มกราคม 2558 2. กำหนดกรอบทิศทางของหลักสูตร เดือนกุมภาพันธ์ - เมษายน 2558 3. รับฟังความคิดเห็นเดือนพฤษภาคม 2558 4. ยกร่างหลักสูตรแกนกลาง เดือนมิถุนายน - ตุลาคม 2558 5. รับฟังความคิดเห็นเฉพาะกลุ่มเดือนพฤศจิกายน 2558 6. พัฒนาสื่อและเอกสารประกอบเดือนพฤศจิกายน 2558 - พฤษภาคม 2559 7. พัฒนาบุคลากร เดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม 2558 8. ปรับปรุงร่างหลักสูตร เดือนธันวาคม 2558 9. ทดลองนำร่องหลักสูตรแกนกลาง โดยการกำกับติดตามและประเมินผล เดือนพฤษภาคม 2559 - มีนาคม 2560 10.ปรับปรุงร่างหลักสูตรเดือนมีนาคม 2560 11. เสนอคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน อนุมัติในเดือนเมษายน 2560 และ 12. เสนอ ศธ. ประกาศใช้หลักสูตรในเดือนพฤษภาคม 2560

เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อว่า สพฐ. กำลังทำการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูล ข้อดีข้อเสียของหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานฯเดิม และดูทิศทางแนวโน้มสังคมโลกว่าการสร้างเด็กในศตวรรษที่ 21 และดูหลักสูตรการศึกษาของนานาชาติประกอบโดยสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สพฐ. กำลังดำเนินการอยู่ ซึ่งตอนนี้ยังไม่ได้กำหนดว่าจะมีการเปลี่ยนกลุ่มสาระการเรียนรู้ 8 กลุ่มในปัจจุบันใหม่หรือไม่ เพราะจะต้องรอฟังความคิดเห็นก่อน รวมทั้งต้องดูแนวทางของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้วย ส่วนร่างหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน นายภาวิช ทองโรจน์ อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการ ศธ. ได้ทำการศึกษาไว้ก่อนหน้านี้สามารถนำผลการศึกษามาปรับใช้ได้เยอะมาก เนื่องจากได้ศึกษาวิเคราะห์หลักสูตรเก่าประกอบกับทิศทางแนวโน้มในอนาคตไว้ด้วยจึงสามารถนำข้อมูลมาใช้ประกอบได้

หลักสูตรที่จะปรับปรุงไม่ว่าจะปรับเป็นกี่กลุ่มสาระการเรียนรู้ แต่การจัดสัดส่วนเวลาเรียนจะเปลี่ยนไปจากเดิม จะไม่กำหนดชั่วโมงเรียนแบบเดิม เช่น กำหนดว่าจะต้องเรียน 60 ชั่วโมง เป็นต้น แต่ต่อไปเด็กที่เรียนระดับประถมศึกษาปีที่ 1 - 3 จะเรียนเน้นหนักในเรื่องของภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์เป็นหลักเพื่อให้เด็กอ่านออกเขียนได้ และส่วนที่เหลือก็ให้เรียนด้วยแต่อาจเรียนในสัดส่วนที่น้อยกว่า ส่วนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 - 5 - 6 และมัธยมศึกษาตอนต้นสัดส่วนวิชาอื่นก็จะเพิ่มขึ้นและเมื่อเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายสัดส่วนวิชาเรียนจะเท่ากันในแต่ละกลุ่มสาระหรืออาจจะเน้นวิชาที่จะต้องใช้ในการสอบเข้าเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัย รวมทั้งจะปรับหลักสูตรสถานศึกษาให้ครอบคลุมท้องถิ่นมากกว่าเดิมเนื่องจากปัจจุบันแม้ในหลักสูตรจะกำหนดหลักสูตรท้องถิ่นเอาไว้แต่ทุกโรงเรียนจะไม่ได้ใช้มากนัก เพราะจะเน้นหลักสูตรแกนกลางมากกว่า” นายกมล กล่าว
 
 
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น