xs
xsm
sm
md
lg

ผอ.รพ.อุ้มผาง ร่อน จม.ถึง “รัชตะ” ยันบัตรทองทำ รพ.ขาดทุนจริง ปัดถูกบังคับโจมตี สปสช.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผอ.รพ.อุ้มผางร่อนจดหมายอีกฉบับ ส่งตรงถึง “หมอรัชตะ” ยันการจัดสรรเงินของ สปสช.มีปัญหา และเป็นผู้เขียนจดหมายฉบับก่อนหน้าจริง ไม่ได้ถูกใครบังคับให้โจมตี เพราะ รพ.ขาดทุนจริง เหตุ สปสช.ยึดความเป็นธรรมแบบคณิตศาสตร์ ตั้งคำถามแพทย์ควรทำหน้าที่ใช้หลักมนุษยธรรม หรือหลักกฎเกณฑ์ แต่ไม่เป็นไปตามหลักมนุษยธรรม

จากกรณี นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง จ.ตาก ได้เขียนจดหมายถึงนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) ตาก กรณีปัญหาโรงพยาบาลขาดทุนรุนแรงเนื่องจากต้องดูแลผู้ป่วยทุกคนซึ่งกว่าครึ่งหนึ่งไม่มีหลักประกันสุขภาพตามหลักมนุษยธรรม แต่จากการจัดสรรงบบัตรทองแบบเดิมกว่า 12 ปีของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กลับทำให้เกิดปัญหา เป็นคนดีที่ใจดำ ใช้การจัดการแบบเป็นธรรมด้วยหลักคณิตศาสตร์ ไม่ใช่มนุษยธรรม โดยล่าสุด น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล กรรมการมูลนิธิ รพ.อุ้มผาง ตั้งข้อสังเกตว่ามีการหาประโยชน์จากเจตนาบริสุทธิ์ของ นพ.วรวิทย์ เพื่อเป็นเครื่องมือในการทำสงครามจิตวิทยาระหว่างกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ สปสช.

ล่าสุด ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นพ.วรวิทย์ ได้เขียนจดหมายอีกฉบับลงวันที่ 13 ธ.ค. 2557 ถึง ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สาธารณสุข มีใจความโดยสรุปว่า จดหมายถึง นพ.สสจ.ตากนั้น ตนเป็นผู้เขียนขึ้นเอง เพื่อขอให้ นพ.สสจ.ช่วยนำข้อเสนอตามความรู้สึกของตน และเป็นข้อเท็จจริงที่ตนทำงานในพื้นที่มานานกว่า 23 ปี เพื่อนำเรียนผู้ใหญ่ใน สธ. และ สปสช. โดยการเขียนจดหมายดังกล่าว ยืนยันว่าไม่ได้รับแรงกดดันจากใครทั้งสิ้น เพราะคนในอาชีพแพทย์ ไม่ชอบให้ใครบังคับจิตใจอยู่แล้ว และก็ไม่เลือกว่าจะอยู่ข้างใดข้างหนึ่งที่ขัดแย้งทางความคิดในขณะนี้

เมื่อช่วงเริ่มโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าใหม่ๆ หลายพื้นที่มีปัญหาการได้รับงบฯไม่เพียงพอ สมัยนั้น นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เลขาธิการ สปสช.คนแรก ลงพื้นที่มาเยี่ยมผม เพราะเข้าใจถึงปัญหา และบอกกับผมว่าจะขอใช้เวลา 3 ปีเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแบบมนุษยธรรมให้ได้ ผมจึงขอยกย่องท่านเป็นปูชนียบุคคลด้านสาธารณสุขของเพื่อนมนุษย์โลก แต่หลังจากท่านเสียชีวิต และมีคณะผู้บริหารสปสช.ชุดใหม่ ทุกอย่างไม่เป็นเช่นนั้น เพราะคณะผู้บริหารชุดใหม่ไม่เคยสำรวจปัญหาในแต่ละพื้นที่ ซึ่งแตกต่างกัน อาจเพราะไม่ได้มีความรู้สึกถึงความเป็นธรรมแบบมนุษยธรรมเหมือน นพ.สงวน แต่ยึดความเป็นธรรมแบบคณิตศาสตร์ ส่งผลให้ไม่เข้าใจปัญหาของพื้นที่ชายแดน เพราะมีบุคคลที่เป็นกระเหรี่ยง รวมทั้งบุคคลรอพิสูจน์สถานะ แต่พวกเขาเป็นคนไทย อยู่ในประเทศไทยมานาน เหมือนบรรพบุรุษคนจีนอพยพมาหลายสิบปีแต่ไม่ได้บัตรประชาชน

เรื่องนี้ตนได้เคยเสนอผู้บริหาร สปสช.ให้ช่วยส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความเรื่องบุคคลใน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ว่า หมายถึงคนที่ต้องมีเลขประจำตัว 13 หลักเท่านั้น หรือหมายถึงทุกคนที่เป็นมนุษย์ในแผ่นดินนี้ จึงขอให้ รมว.สธ. ช่วยพิจารณาว่า แพทย์ควรปฏิบัติหน้าที่โดยใช้หลักมนุษยธรรม หรือหลักกฎเกณฑ์ แต่ไม่เป็นไปตามหลักมนุษยธรรม เพื่อที่ตนจะได้นำไปใช้สอนนักศึกษาแพทย์และบอกกล่าวบุคคลอื่นต่อไป

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น