xs
xsm
sm
md
lg

รพ.อำเภอ-ตำบล เสนอ 3 ข้อแก้ รพ.ขาดทุน เผยบางแห่งเป็นหนี้กว่าสิบล้าน แนะแยกเงินเดือนจากงบบัตรทอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รพ.อำเภอ - รพ.ตำบลยื่นหนังสือ “หมอรัชตะ” จี้แก้ปัญหา รพ. ขาดทุน เผยบางแห่งเป็นหนี้กว่าสิบล้านบาท รพ.อำเภอ ขาดทุนหนัก 100 กว่าแห่ง ขณะที่ รพ.ตำบล พุ่งสูงถึง 2,900 กว่าแห่ง เสนอข้อเรียกร้อง 3 ข้อ เปลี่ยนการจัดสรรงบรายหัวในระดับเขต จัดสรรงบฟิกคอสต์ช่วย รพ. ขาดทุนทุกปี และแยกเงินเดือนบุคลากร สธ.ออกจากงบบัตรทอง

วันนี้ (8 ธ.ค.) เมื่อเวลา 11.00 น. ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) นพ.ปพน ดีไชยเศรษฐ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนาหม่อม พร้อมด้วย นายสาคร นาต๊ะ นายกสมาคมหมออนามัย นายสุรศักดิ์ ชัยชนะ รองประธานชมรมสาธารณสุขแห่งประเทศไทย และนายวรวุฒิ ทิพย์สุวรรณ์ ตัวแทนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ในฐานะตัวแทนโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ที่ขาดสภาพคล่องทั่วประเทศ เดินทางมายื่นหนังสือต่อ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อขอให้ช่วยแก้ไขปัญหาโรงพยาบาลขาดสภาพคล่อง

นพ.ปพน กล่าวว่า รพช.ทั่วประเทศมีประมาณ 800 กว่าแห่ง ขาดสภาพคล่องหรือขาดทุนระดับรุนแรงประมาณ 100 กว่าแห่ง ขณะที่ รพ.สต.ทั่วประเทศ จำนวนกว่า 9,700 แห่ง ขาดทุนรุนแรงประมาณ 2,900 กว่าแห่ง ซึ่งปัญหานี้เป็นปัญหาที่ค้างคามานาน ซึ่งจากการประชุมโรงพยาบาลที่ขาดสภาพคล่องรุนแรงเมื่อวันที่ 17 พ.ย. ที่ผ่านมา ได้ข้อสรุปที่จะเสนอต่อ รมว.สาธารณสุข ปลัด สธ. และเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) 3 เรื่อง คือ 1. ให้เปลี่ยนการจัดสรรงบเหมาจ่ายรายหัวหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จากส่งให้โรงพยาบาลโดยตรงมาให้เขตสุขภาพบริหารจัดการ เพราะการโอนงบประมาณจะดูตามจำนวนประชากรในพื้นที่ ซึ่งพื้นที่ที่มีประชากรน้อยกว่า 4 หมื่นรายล้วนขาดทุนมาก ประชากรยิ่งน้อยก็ยิ่งขาดทุน การให้เขตสุขภาพจัดสรรงบประมาณ จะช่วยแก้ไขปัญหาได้ 2. การจัดสรรงบฟิกคอสต์ เพื่อช่วยเเหลือโรงพยาบาลขาดสภาพคล่อง ไม่ได้มีการจัดสรรให้ทุกปีจึงเสนอว่าควรจัดสรรให้ทุกปี และ 3. ควรแยกเงินเดือนบุคลากรด้านสาธารณสุขออกมาจากงบเหมาจ่ายรายหัว โดยกลับไปใช้ตาม พ.ร.บงเงินเดือน โดยให้ สธ. ดูแลเช่นเดิม เพื่อให้งบรายหัวสามารถดูแลประชากรในพื้นที่ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยจริงๆ

เชื่อว่าข้อเสนอทั้ง 3 ข้อ หากได้รับการตอบสนองและดำเนินการ ก็เชื่อว่าจะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาโรงพยาบาลขาดสภาพคล่องได้ในระดับหนึ่ง เพราะขณะนี้โรงพยาบาลบางแห่งถือว่าขาดทุนมากจริงๆ บางแห่งเป็นหนี้ถึงหลักสิบล้านบาท รพ.สต. บางแห่งเหลืองบประมาณดำเนินการอยู่เพียง 1,000 กว่าบาทเท่านั้น ตอนนี้เรากำลังเอาเงินนำหน้าทำให้ทุกอย่างเกิดปัญหา ทั้งที่พวกเราทำงานไม่ได้อยากคิดถึงเรื่องเงิน ดังนั้น จึงอยากให้ผู้บริหารแก้ไขระบบการเงิน คนทำงานในพื้นที่จะได้ทำงานได้อย่างเต็มที่ ไม่ต้องกังวลกับเรื่องของเงิน ” นพ.ปพนธ์ กล่าว

ด้าน ศ.นพ.รัชตะ กล่าวภายหลังรับหนังสือ ว่า เรื่องการจัดสรรงบเหมาจ่ายรายหัวขณะนี้ก็กำลังมีการหารือเพื่อปรับกลไกการเงินงบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอยู่ อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า สธ. อยากให้การดำเนินงานของโรงพยาบาลทุกแห่ง รวมไปถึง รพ.สต. สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันเดียวกัน ได้มีการประชุมบอร์ด สปสช. เพื่อพิจารณาเรื่องการปรับการจัดสรรงบประมาณหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่ง สธ. มีข้อเสนอให้จัดสรรงบประมาณในระดับเขต แต่ สปสช. ยังเป็นผู้ส่งงบประมาณไปยังหน่วยบริการตามเดิมและลดหมวดงบเหมาจ่ายรายหัวจาก 9 หมวด เหลือ 4 หมวด ซึ่งยังคงค้างคามานาน จนกระทั่งบอร์ด สปสช. มีมติให้จัดสรรงบประมาณในไตรมาสแรกปี 2558 ยังคงให้ยึดการจัดสรรตามหลักเกณฑ์เดิมในปี 2557 โดยการประชุมในครั้งนี้เพื่อหาข้อสรุปในประเด็นดังกล่าว ซึ่งกำลังเป็นที่จับตาของแวดวงด้านสาธารณสุข

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น