xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องน่ารู้ เกี่ยวกับภาวะปวดประจำเดือน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ

ย่างเข้าปลายปีอากาศก็เริ่มเย็นสบายจนถึงหนาวใกล้ช่วงงานเทศกาล สาวๆ ทั้งหลายคงอยากใส่ชุดสวยออกไปเดินเที่ยวชอปปิ้ง คงไม่มีสาวๆ คนไหนอยากนอนอยู่บ้านเพราะปวดประจำเดือนแน่นอน วันนี้ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพได้รวบรวมเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับภาวะปวดประจำเดือนมาให้ผู้อ่านได้รู้จักมากขึ้น

ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ ให้ข้อมูลว่า ภาวะปวดประจำเดือน คือ อาการปวดที่เกี่ยวเนื่องจากการมีประจำเดือน (Dysmenorrhea) สามารถพบในเด็กวัยรุ่นร้อยละ 90 สตรีทั่วไปร้อยละ 50 โดยที่ร้อยละ 10 - 20 จะมีอาการปวดที่รุนแรงและรบกวนชีวิตประจำวัน อาการปวดมักเกิดขึ้นในช่วงหนึ่งถึงสองวันแรกของการมีประจำเดือน ซึ่งปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะปวดประจำเดือน ได้แก่ การมีประวัติปวดประจำเดือนในครอบครัว, อายุน้อยกว่า 30 ปี, มีประจำเดือนมาก่อนอายุ 12 ปี, ดัชนีมวลกายน้อยกว่า 20 หรือมากว่า 30, ยังไม่มีบุตร, สูบบุหรี่, รอบประจำเดือนนาน ประจำเดือนมาในปริมาณมากและยาวนาน, มีกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน, เคยมีภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ, มีภาวะซึมเศร้าหรือวิตกกังวลง่าย ผู้ป่วยอาจมีอาการอื่นร่วมด้วยเช่น ลำไส้ทำงานผิดปกติ (irritable bowel syndrome), ปวดหลัง, ปวดกล้ามเนื้อ, แสบร้อนบริเวณปากช่องคลอด, ปวดศีรษะเรื้อรัง หรือ อ่อนเพลีย

เราสามารถจำแนกภาวะปวดประจำเดือนเป็นสองกลุ่ม ได้แก่ ภาวะปวดประจำเดือนแบบปฐมภูมิ(Primary dysmenorrhea) คือ ภาวะปวดประจำเดือนที่เกิดจากการหดเกร็งตัวของมดลูก ในขณะที่มีประจำเดือน ซึ่งสาเหตุเกิดเนื่องมาจากสารเคมีในร่างกายที่เรียกว่า “พรอสตาแกลนดินส์” (prostaglandins) ที่อยู่ในเซลล์เยื่อบุโพรงมดลูก มีการหลั่งออกมามากในช่วงวันแรกของการมีประจำเดือน ทำให้มดลูกมีการหดเกร็งเพื่อขับเอาประจำเดือนออกมา จึงทำให้มีอาการปวดท้องน้อย และเมื่อร่างกายมีการขับเอาเซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกที่หลุดลอกออกมาแล้ว จะทำให้ระดับพรอสตาแกลนดินส์ลดลง อาการบีบเกร็งตัวของมดลูกจึงลดลงตามไปด้วย
และอีกกลุ่ม ได้แก่ ภาวะปวดประจำเดือนแบบทุติยภูมิ (Secondary dysmenorrhea) คือ ภาวะปวดประจำเดือนที่มีสาเหตุมาจากความผิดปกติในระบบสืบพันธุ์ อาการปวดมักจะเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ และไม่สามารถที่จะหายได้เอง สำหรับสาเหตุที่พบได้บ่อย คือ เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญเติบโตผิดที่ (Endometriosis) หมายถึง พบเยื่อบุโพรงมดลูกไปเจริญเติบโตอยู่นอกโพรงมดลูก เช่น ถ้าเจริญเติบโตที่รังไข่เป็นระยะเวลานาน ก็จะทำให้เกิดถุงน้ำในรังไข่ที่เต็มไปด้วยเลือดประจำเดือน หรือเรามักจะเรียกติดปากกันว่า ช็อคโกแลตซีสต์ ถ้าเกิดที่ท่อนำไข่ ทำให้ท่อนำไข่ถูกดึงรั้งหรืออุดตัน และหากเกิดที่กล้ามเนื้อมดลูก ทำให้กล้ามเนื้อมดลูกมีพังผืดดึงรั้ง มดลูกมีขนาดโตขึ้น เป็นต้น

เยื่อบุโพรงมดลูกที่เจริญเติบโตผิดที่เหล่านี้ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงตามอิทธิพลของฮอร์โมนเพศหญิงในรอบเดือนเช่นกัน ทำให้มีการเจริญเติบโตและสลายตัวกลายเป็นประจำเดือนที่ไม่สามารถจะถูกขับออกทางโพรงมดลูก ทำให้ร่างกายพยายามสร้างภูมิคุ้มกันออกมาเพื่อกำจัดออกจากร่างกาย จึงส่งผลให้เกิดการอักเสบ, เป็นแผล และกลายเป็นพังผืดในที่สุด แน่นอนว่าสาเหตุเหล่านี้ย่อมทำให้คนไข้มีอาการปวดในอุ้งเชิงกราน โดยเฉพาะในช่วงที่มีประจำเดือนนั่นเอง

สำหรับการตรวจเพื่อค้นหาสาเหตุของการปวดประจำเดือนสามารถตรวจโดยอาศัยคลื่นเสียงความถี่สูงหรืออัลตร้าซาวด์ อาจนำมาใช้ตรวจเพื่อประกอบการหาสาเหตุได้ อย่างไรก็ตามถ้าการตรวจภายในและอัลตร้าซาวด์ไม่สามารถระบุถึงสาเหตุได้ การผ่าตัดอาจมีความจำเป็นเพื่อช่วยในการวินิจฉัยโรค ซึ่งปัจจุบันนี้การผ่าตัดโดยการส่องกล้องไม่ว่าจะทางหน้าท้อง หรือทางช่องคลอดสามารถทำได้ โดยที่ผู้ป่วยจะมีเพียงแผลเล็กๆที่หน้าท้องเท่านั้น และยังเจ็บน้อยกว่าการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้องที่แผลมีขนาดใหญ่กว่า การฟื้นตัวจากการผ่าตัดส่องกล้องก็จะรวดเร็วกว่า ทำให้ความนิยมที่จะผ่าตัดส่องกล้องมีมากขึ้นในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดส่องกล้องจำเป็นจะต้องทำโดยสูตินรีแพทย์ผู้มีความเชี่ยวชาญ และสถานที่ผ่าตัดและทีมงานจะต้องมีความพร้อม

อย่างไรก็ตาม การรักษาภาวะปวดประจำเดือนแบบปฐมภูมิในเบื้องต้นแนะนำให้ใช้ยาในการรักษา ได้แก่ ยาแก้ปวด ลดการอักเสบในกลุ่มที่มิใช่สเตียรอยด์ (Nonsteroidal anti-inflammatory drugs, NSAIDs) โดยมีเป้าหมายเพื่อลดระดับของพรอสตาแกลนดินส์ ทำให้การหดเกร็งของกล้ามเนื้อมดลูกลดลง สามารถลดอาการปวดได้ประมาณร้อยละ 40 ซึ่งแนะนำให้รับประทานในช่วงแรกของการมีประจำเดือนเท่านั้น

สำหรับสตรีที่มีภาวะเลือดออกผิดปกติ, หอบหืด, แพ้ยากลุ่มแอสไพริน, ตับทำงานไม่ปกติ หรือมีแผลในกระเพาะอาหารควรหลีกเลี่ยงการใช้ยากลุ่มนี้ ยาคุมกำเนิดสามารถลดอาการปวดประจำเดือนได้ประมาณร้อยละ 50 โดยเลือกใช้เป็นยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมซึ่งประกอบไปด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจน และโปรเจสเตอโรน ซึ่งอยู่ในรูปแบบเม็ดรับประทาน, ห่วงวงแหวนสำหรับใส่ในช่องคลอด หรือเป็นฮอร์โมนชนิดเดี่ยวซึ่งมีแต่ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนเพียงตัวเดียว อยู่ในรูปแบบยาฉีดคุมกำเนิด, หลอดยาฝังเข้าใต้ผิวหนัง หรือเป็นห่วงอนามัยสำหรับใส่ในโพรงมดลูก เป็นต้น

การรักษาแบบแพทย์ทางเลือก ได้แก่ การใช้วิตามิน B1, B6, B12, E หรือ อาหารเสริมที่มีแมกนีเซียม, Fish oil อาจช่วยได้แต่จำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยที่มากกว่านี้, การเล่นโยคะ, การฝังเข็มก็อาจช่วยลดภาวะปวดประจำเดือนได้เช่นกัน

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น