xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการทั่วโลกย้ำเลิกใช้แร่ใยหิน ตัวการก่อมะเร็ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจาก consumerthai.org
นักวิชาการทั่วโลกย้ำเลิกใช้แร่ใยหิน ชี้ชัดก่อมะเร็ง กรมควบคุมโรคชี้ติดปัญหา ก.อุตฯ - พาณิชย์ - การค้าเสรี เร่งติดตามคนงานอุตสาหกรรมแร่ใยหิน เฝ้าระวังมะเร็งเยื่อหุ้มปอด

วันนี้ (24 พ.ย.) ที่โรงแรมเอเชีย นพ.นพพร ชื่นกลิ่น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวในการประชุม “เร่งเอเชียขจัดภัยใยหิน : หลักฐานทางวิทยาศาสตร์และสังคม”​ จัดโดยสถาบันวิจัยสังคม ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แผนงานพัฒนาวิชาการและกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และเครือข่ายวิชาการ องค์กรแรงงาน และองค์กรผู้บริโภค ว่า หลักฐานที่เกิดขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เป็นที่แน่ชัดว่าต้องยกเลิกแร่ใยหิน แต่ยังติดปัญหา คือ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ และข้ออ้างที่เกี่ยวข้องกับการ​เปิดการค้าเสรี ทำให้ยังไม่สามารถยกเลิกได้ แต่ สธ. ยืนยันว่า หากมีวัสดุทดแทนแม้ว่าจะมีราคาแพงกว่า แต่ก็ถือเป็นความจำเป็นที่ต้องใช้เพื่อให้เกิดความปลอดภัย เพราะมะเร็งเป็นโรคที่ใช้เวลาก่อ​ตัวนาน ซึ่งประเทศไทยไม่มีระบบการขึ้นทะเบียนเพื่อให้ทราบประวัติของผู้สัมผัส ทำให้เมื่อเกิดโรคขึ้นคนงานจึงไม่ได้รับการชดเชย

นพ.นพพร กล่าวว่า ปัจจุบันประมาณการว่า มีอุตสาหกรรมที่ใช้แอสเบสตอสร่วมในการผลิตประมาณ 100 อุตสาหกรรม และใช้เอสเบทตอส เป็นหลักในการผลิตอีก 20 - 30 อุตสาหกรรม ซึ่ง คร. จะดำเนินการตรวจวัดแร่ใยหินที่กระจายในอากาศ ในโรงงานเพื่อให้คำแนะนำในการลดอันตรายให้ต่ำที่สุด รวมทั้งการใช้เครื่องป้องกัน ซึ่งจากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกที่คาดว่า จะมีผู้ป่วยเกิดขึ้นเป็นแสนรายในอนาคต​ จะมีการติดตาม​แรงงานอีก 5,000 - 10,000 คน เพื่อให้ได้รับแนวทางการตรวจรักษา โดยการสร้างระบบการวินิจฉัยแล้วคาดว่าประมาณ 3 ปี จะสามารถมีข้อมูลในเรื่องได้มากขึ้น

“ผลกระทบจากแร่ใยหิน คล้ายกับโรงงานไฟฟ้าปรมาณู ซึ่งทุกคนทราบดีว่าสามารถสร้างผลกระทบต่อสุขภาพได้ การอ้างว่ายังไม่มีการวินิจฉัยโรคที่ชัดเจนเกี่ยวกับผลกระทบของแร่ใยหินนั้น จึงไม่ถูกต้องในเมื่อทราบว่าปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต​ แร่ใยหินจะก่อโรคได้อย่างไร การป้องกันที่ดีที่สุดคือ ​ต้องหยุดปัจจัยที่ก่อโรคลง ซึ่ง​กระทรวงสาธารณสุข ​ได้ยื่นข้อเสนอแล้วว่าจะต้องยกเลิกการใช้” รองอธิบดี คร. กล่าว

รศ.ดร.กิตติศักดิ์ สวรรยาวิสุทธิ์ ม.ขอนแก่น กล่าวว่า ประเทศไทยมีอัตราการใช้แร่ใยหินเป็นลำดับ 4 ของโลก ที่ผ่านมาเคยมีการรายงานผู้ป่วยมะเร็งเยื่อหุ้มปอดในนิตรสารทางการแพทย์ไปแล้ว 2 ราย ซึ่งมีความชัดเจนว่าเกิดจากการสัมผัสแร่ใยหินอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังพบว่า​การรายงานโรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอดยังต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งเกิดจากการกรอกรหัสโรคและการวินิจฉัย ติดตามประวัติ ซึ่งในผู้ป่วย​ 2 รายที่มีการรายงานที่ชัดเจน ก็มีการวิเคราะห์จากประวัติทำให้ทราบว่ามีประวัติการสัมผัสกับแร่ใยหิน จึงจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงการเก็บประวัติเพื่อให้ทราบประวัติการสัมผัสมลพิษให้ชัดเจนขึ้น

นายซูกิโอะ ฟูรูยา เครือข่ายเอแบนเพื่อต่อต้านแร่ใยหิน กล่าวว่า ปัจจุบันงานวิจัยจำนวนมากชี้ว่าแร่ใยหิน ถือเป็นฝุ่นนักฆ่า เพราะทำให้เกิดมะเร็งเยื่อหุ้มปอด ทั้งยังเริ่มมีข้อมูลที่ชี้ว่า ทำให้เกิดมะเร็งกล่องเสียง ลำไส้ใหญ่ ​แต่ยังมีหลักฐานไม่มากนัก ซึ่งมีความพยายามเก็บ​ข้อมูลโดยเฉพาะในกลุ่มคนงานให้มากขึ้น ทั้งนี้ ข้อมูลย้อนหลัง 10 ปี พบว่า อัตราการใช้แร่ใยหินมักอยู่ในกลุ่มประเทศในทวีปเอเชีย และตะวันออกกลาง โดยประเทศที่ใช้แร่ใยหินสูงสุด คือ ประเทศจีน รัสเซีย อินเดีย ส่วนประเทศไทยเป็นอันดับ 6 และปี 2556 จำนวนประเทศที่ใช้สูงสุดก็ยังอยู่ในเอเชีย เช่น จีน อินเดีย อินโดฯ รัสเซีย โดยประเทศจีนอัตราใช้ก็เพิ่มขึ้นและส่งออกด้วย ส่วนประเทศรัสเซียพบว่าการใช้ลดลงแต่กลับเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลก โดยในอาเซียน พบว่ายังไม่มีประเทศไหนที่ห้ามการใช้อย่างจริงจัง เว้นประเทศสิงค์โปร์ ที่เริ่มยกเลิกการใช้อย่างเป็นขั้นตอนมาโดยตลอดและกำลังจะมีการห้ามทั้งหมดในเร็วๆ นี้ ส่วนประเทศไตหวั่น ก็มีแผนที่จะยกเลิกการใช้ทั้งหมดอีกประมาณ 6 ปี ส่วนประเทศไทยมีขั้นตอนในความพยายามเลิกใช้แร่ใยหินเช่นกัน และพบว่ามีการรวมตัวกันของภาคประชาสังคมเพื่อต่อต้านการใช้แร่ใยหินอย่างจริงจัง

ดร.อินกริด คริสเทนเซน ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสองค์การแรงงานระหว่างประเทศ กล่าวว่า งานที่ดีคืองานที่ความปลอดภัย ซึ่งเกี่ยวข้องกับแร่ใยหินเพราะเกี่ยวข้องกับการพัฒนาอุตสาหกรรมและธุรกิจต่างๆ โดยอนุสัญญาเกี่ยวกับแร่ใยหินจะดำเนินการเหมือนอุตสาหกรรมที่ทำให้เกิดผลกระทบทางสุขภาพต่างๆ ในปี 2006 มีการออกอนุสัญญาในกลุ่มประเทศที่เป็นสมาชิกองค์การแรงงานฯ เพื่อให้เกิดการขจัดการใช้แร่ใยหินในอนาคต ซึ่งเชื่อว่าเป็นวิธีการที่จะคุ้มครองคนงานให้พ้นจากอันตรายที่เกิดจากแร่ใยหิน เพื่อให้เกิดการห้ามใช้ในอนาคต ซึ่งยังมีอีกหลายประเทศที่ยังใช้แร่ใยหิน และประเทศที่แม้ว่าจะยกเลิกการใช้แร่ใยหินแล้ว แต่ก็ยังมีวัสดุที่ใช้แร่ใยหินในอดีตอีกจำนวนมาก จึง​ต้องมุ่งเป้าไปที่วัสดุที่มีแร่ใยหินผสมเพื่อให้ทั้งคนงานและนายจ้างทราบว่า​จะต้องปฏิบัติอย่างไร​ ซึ่งถือเป็นหน้าที่ของภาครัฐที่ต้องส่งเสริมการเลิกใช้แร่ใยหินทุกประเภท และสำรวจว่าวัสดุใดบ้างที่ใช้แร่ใยหินอยู่แล้ว เพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดจากการทำงาน 

ดร.โยนาส เทงเก่น ตัวแทนองค์การอนามัยโลก ประจำประเทศไทย กล่าวว่า วิธีการป้องกันด้วยการรักษา ถือเป็นต้นทุนที่แพงมาก เพราะฉะนั้นต้องป้องกันด้วยการยกเลิกการใช้แร่ใยหินซึ่งจะทำให้เกิดความเสี่ยงเกิดอันตรายต่อสุขภาพ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีอัตราการใช้ถึงร้อยละ 40 ของอัตราการใช้ในโลกหรือประมาณ 2 ล้านตัน แม้แต่ในประเทศไทย ก็ยังไม่มีกฎหมายที่ชัดเจนในการยกเลิกการใช้ โดยในปีหน้าองค์การอนามัยโลก จะได้ออกหนังสือเกี่ยวกับอันตรายของแร่ใยหิน

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น