วธ. เปิดตัวบุคคลในภาพรับเสด็จฯในหลวง เตรียมตีพิมพ์หนังสือประวัติ 3 หมื่นเล่ม แจกนักเรียน ประชาชน ใช้เป็นแนวทางในการประพฤติปฏิบัติในการดำเนินชีวิต
วันนี้ (3 ธ.ค.) ที่กระทรวงวัฒนธรรม นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) พร้อมด้วย ศ. ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ปลัด วธ. นายดนุชา สินธวานนท์ รักษาการรองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพิเศษ เพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) นำบุคคลในภาพพระราชกรณียกิจที่หายากในอดีต แถลงข่าวโครงการเผยแพร่ภาพยนตร์ตามรอยพระราชกรณียกิจ 365 วันนี้ในอดีต และตามหาบุคคลในภาพยนตร์ และบุคคลในภาพพระราชกรณียกิจที่หายากในอดีต ภายใต้กิจกรรมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 87 พรรษา 5 ธันวาคม 2557
นายวีระ กล่าวว่า วธ. จะรวบรวมประวัติของบุคคลในภาพทั้ง 9 ภาพ จัดทำเป็นหนังสือตีพิมพ์เผยแพร่กว่า 3 หมื่นเล่ม เพื่อแจกจ่ายให้แก่ ห้องสมุดต่างๆ ประชาชน หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน นำไปเป็นแนวทางในการประพฤติปฏิบัติต่อไป
ด้าน ศฺ ดร.อภินันท์ กล่าวว่า วธ. ได้คัดเลือกภาพพระราชกรณียกิจจากหนังสือและเอกสารในโครงการพระราชดำริ จำนวน 9 ภาพ และมอบหมายให้สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด ลงพื้นที่เพื่อค้นหาบุคคลในภาพ และสอบถามบุคคลอ้างอิง เพื่อยืนยันตัวบุคคลในภาพ และ มาเผยแพร่ เพื่อเป็นบุคคลตัวอย่างให้กับประชาชนทั่วไป ในการนำแนวคิดและประสบการณ์ต่างๆ สิ่งที่ก่อให้เกิดผลสำเร็จในการดำเนินชีวิต จากนั้น วธ. จะนำบุคคลในภาพไปลงนามถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่โรงพยาบาลศิริราชในวันนี้ด้วย
นายดนุชา กล่าวว่า การค้นหาบุคคลในภาพและภาพยนตร์เป็นสิงที่ดีเพราะภาพเหล่านี้หายาก หน่วยงานที่ทำหน้าที่บันทึกภาพและภาพยนตร์ไม่ค่อยได้นำมาเผยแพร่ให้ประชาชนได้รับทราบและในสมัยก่อนระบบการสื่อสารยังไม่มีความทันสมัย การเก็บรักษาฟิล์มไว้ก็อาจจะสูญหายไปบ้าง ดังนั้น การนำภาพมาเผยแพร่จึงเป็นสิ่งที่ดี อย่างไรก็ตาม ในการพระราชทานพระราชดำริโครงการต่างๆ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น ตนอยากให้ดูสาระและแนวทางของโครงการว่าสำเร็จลุล่วงไปได้อย่างไรและโครงการเหล่านี้ก็ยังไม่ได้สิ้นสุดและยังดำเนินการต่อ
บาทหลวง วัชระ พฤกษาโรจนกุล บุคคลในภาพที่ 1 กล่าวว่า เป็นภาพแห่งความประทับใจในวัยเด็กว่า ซึ่งภาพที่มีอยู่เป็นภาพที่เคยลงหนังสือพิมพ์และแม่ตัดเก็บไว้แต่หายไปแล้ว เพราะย้ายที่อยู่บ่อย แต่ถึงจะไม่มีหลักฐานชิ้นนั้นแต่ทุกอย่างก็อยู่ในใจ และขอปิดทองหลังพระตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เคยมีพระราชดำรัสไว้ว่าการทำความดีไม่ต้องให้ใครรู้ ซึ่งตนเองก็นับถือพระเจ้าอยู่หัวเองเป็นต้นแบบในการดำเนินชีวิต เพราะท่านทำงานเพื่อประชาชน ซึ่งตนเคยคิดว่าจะเป็นทหารรับใช้ประเทศชาติ แต่สุดท้ายก็มาเป็นบาทหลวงรับใช้ศาสนาแทน
ภาพที่ 2 วันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2515 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนิน พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา ไปทรงประกอบพิธีเปิดตึกอำนวยการ ตึกอุบัติเหตุ และตึกประธานบุญรวม เสนาดิสัย ณ โรงพยาบาลเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี น.ส.ชื่นจิต หรุ่มประดิษฐ์ บุคคลในภาพที่ 2 กล่าวว่า รู้สึก ปลี้มใจ ดีใจ เป็นอย่างมาก ถือเป็นมงคลแก่ชีวิต ตอนนั้นอยู่ที่กรุงเทพ คุณพ่อพาไปรับเสด็จที่เพชรบุรี เมื่อพระองค์เสด็จผ่านได้ยกมือไหว้ทำความเคารพ และมองดูพระองค์ท่านจนเสด็จผ่านไป”
พญ.รังสิมา แสงหิรัญวัฒนา (แต่งชุดนักศึกษา) บุคคลในภาพที่ 2 เช่นกัน กล่าวว่า รู้ปลื้มปีติ ที่มีโอกาสเข้าเฝ้ารับเสด็จฯ เป็นแรงบันดาลใจที่จะใช้ความรู้ ความสามารถในการทำงานเพื่อช่วยเหลือประชาชนเป็นการสนองงานตามพระยุคลบาท และน้อมนำพระราชดำรัสมาใช้ในการพัฒนาประเทศ ขอจงทรงพระเจริญมีพระชนมายุยิ่งยืนยาน ตนเองยินดีที่จะเสียสละเพื่อสนองงาน และจะทำงานรักษาพระสงฆ์ที่อาพาธอย่างสุดกำลัง ตนเชื่อว่า ถ้าทุกคนทำงานได้ดี ประเทศชาติจะเจริญ ตามพระบรมราโชวาท
นางอุษณีย์ หะยีแวดือเระ บุคคลในภาพที่ 3 กล่าวว่า จำได้ว่าเมื่อทั้งสองพระองค์เสด็จฯถึงโรงเรียงร่มเกล้า สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงถามพวกเราว่า เดินทางมาโรงเรียนอย่างไร กลุ่มพวกเราตอบว่า มากับรถทหารเพค่ะ พระองค์บอกว่า ไม่ต้องพูดเพค่ะก็ได้ ให้พูดค่ะ แล้วพระองค์ทรงถามอีกว่า นำเงินมาโรงเรียนเท่าไหร่ นักเรียนในกลุ่มบางคนตอบว่า 5 บาทค่ะ ตอนนั้นฝนตกหนัก ลมพัดแรง ทั้งสองพระองค์ทรงเยี่ยม ทักทายนักเรียนเพียงครู่เดียว แล้วพระองค์เสด็จฯกลับ
นายขวี อินธิแสง บุคคลในภาพที่ 5 กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงตรัสถึงความเดือดร้อนที่ชาวบ้านประสบ ซึ่งได้แก่ มีน้ำไม่เพียงพอต่อความต้องการทำเกษตรกรรมของประชาชน โดยมีรับสั่งให้รัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยแยก บ้านก๊กส้มโฮง ตำบลกุสุมาลย์ อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนในพื้นที่ โดยตนได้น้อมนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเรื่องการกินอยู่อย่างพอเพียงมาปรับประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันเสมอมา
นางเฉลียว สุขสีแดง บุตรีของนายขาว แดงขำ บุคคลในภาพที่ที่ 7 กล่าว่า นายขาว ได้เล่าให้ฟังว่า ตอนที่ในหลวงเสด็จฯ นายขาวจะไปรับเสด็จฯที่วัดพระพุทธ แต่ทางเจ้าหน้าทีบอกว่าเข้าไปไม่ได้แล้ว นายขาวเลยกลับบ้านเพื่อไปดูควาย พอกลับมาถึงบ้านก็เปลี่ยนผ้า แต่เห็นรถมาเต็มหน้าบ้านก็ตกใจ ขณะนั้นเป็นเวลาตอนเย็นประมาณ 4 - 5 โมงเย็น โดยในหลวงขับรถมาเอง แล้วได้เสด็จฯไปตามบริเวณบ้านเพื่อดูนาข้าวและเสด็จฯมาที่บ่อน้ำแล้วตรัสว่า “ใช้ดื่มได้ไหมเพราะน้ำแดง” นายขาว ตอบว่า ใช้อีกบ่อข้างในบ้าน ในหลวงก็เสด็จฯไปดูบ่อน้ำในบ้าน ซึ่งปัจจุบันบ่อน้ำนี้ก็ยังใช้อยู่ทุกวันนี้
นายประพันธ์ ภูสุดแสวง บุคคลในภาพที่ 9 กล่าวว่า ในขณะนั้น รับราชการในตำแหน่งพัฒนาชุมชน ได้เฝ้ารับเสด็จฯ พร้อมชาวไร่ดอนขุนห้วย เนื่องจากประสบปัญหาขาดแคลนน้ำและที่ดินเป็นลูกรังไม่สามารถเพาะปลูกได้อย่างเต็มที่ พระองค์ทรงกางแผนที่ และรับสั่งว่า พื้นที่บริเวณน้ำน่าจะทำอ่างเก็บน้ำสำหรับการเกษตรได้ และทรงมีพระราชดำริให้ทำจากสิ่งที่มีอยู่ ให้ชาวไร่ได้ปรับปรุงดิน โดยใช้ปุ๋ยหมักเพื่อพัฒนาดิน ประเทศฝรั่งมีหิมะยังปลูกพืชได้ และทำอุตสาหกรรม หากเขาเกิดภัยพิบัติ เรายังมีพื้นดินทำกินได้ ทั้งนี้ตนรู้สึกประทับใจในพระราชจริยวัตรที่พระองค์ทรงเสด็จมาช่วยเหลือประชาชน ในพื้นดินในพื้นที่ที่ยากลำบาก หากไม่ได้อยู่ในวันนั้น ก็จะไม่เห็นว่า พระองค์ทรงลำบาก และทรงงานเพื่อประชาชนแม้อยู่ห่างไกล ตนเองจึงมีความตั้งใจและทุ่มเทตลอดชีวิตการทำงาน ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ โดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง และช่วยประชาชนอยู่ให้ดำเนินตามรอยพระยุคลบาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่
กำลังโหลดเครื่อง oncothermia ความหวังใหม่รักษามะเร็งเต้านม-ตับระยะท้าย ใช้คลื่นวิทยุยิงเฉพาะจุดมะเร็งจนเกิดความร้อน เอื้อยาเคมีบำบัดเข้าถึงมะเร็งง่ายขึ้น ผลศึกษาก้แนมะเร็งเต้านมยุบทั้งหมด 22% ผู้ป่วยมะเร็งตับอายุยืนขึ้น