xs
xsm
sm
md
lg

เราจะจบปัญหาเอดส์ภายใน 16 ปี?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นิมิตร์  เทียนอุดม
นับเป็นข่าวที่น่ายินดีต้อนรับวันเอดส์โลก (1 ธันวาคม) ที่องค์การอนามัยโลกออกมาประกาศว่าเราจะยุติปัญหาเอดส์ได้ภายในปี 2030 หรืออีก 16 ปีข้างหน้า
โดยวิทยาการทางการแพทย์ ผมค่อนข้างเชื่อว่า เราน่าจะทำได้เพราะปัจจุบัน มีการพัฒนาคิดค้นเพื่อให้ยาต้านไวรัสมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นในการรักษารวมถึงมีการพัฒนาวัคซีนป้องกันเอดส์อย่างต่อเนื่อง โดยหวังว่าเมื่อมีวัคซีนแล้วจะช่วยป้องกันการรับเชื้อเอชไอวี และหากยาต้านไวรัสมีประสิทธิภาพจนสามารถกำจัดเชื้อไวรัสในกระแสเลือดได้แล้ว ผู้ที่ได้รับเชื้อก็มีโอกาสที่จะกำจัดเชื้อไวรัสให้หมดไปจากร่างกายได้ ไม่ต้องกินยาตลอดชีวิต
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาเงื่อนเวลา 16 ปี กับความเป็นไปได้ ผมคิดว่า ทุกภาคส่วนต้องเร่งและปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานกันหลายเรื่องทีเดียว
เรื่องแรก การทำงานกับ “กลุ่มเสี่ยง” ผมคิดว่าต้องเลิกใช้และเลิกทำงานกับกลุ่มเสี่ยงครับ แต่ต้องเปลี่ยนมาทำงานกับ “ทุกคน” ให้ทุกคนมีความสามารถในการประเมินความเสี่ยงของตัวเองต่อการรับเชื้อเอชไอวี เมื่อประเมินได้แล้วก็ต้องมีความสามารถในการเข้าถึงอุปกรณ์ป้องกัน รวมถึงมีทักษะในการขอรับบริการเมื่อเกิดปัญหาด้วย หากเรามุ่งทำงานกับกลุ่มเสี่ยง คนกลุ่มอื่นก็จะยังไม่เห็นความเสี่ยงของตัวเอง และขาดความสามารถต่างๆ ที่จะป้องกันการรับเชื้อของตัวเองได้...ซึ่งปฏิเสธไม่ได้นะครับว่า คนกลุ่มที่เราบอกว่าไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงนี้เป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศและส่วนหนึ่งติดเชื้อเอชไอวีเพราะคิดว่าไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงมาแล้ว
เรื่องที่สอง การมุ่งทำงานเรื่อง VCCT (บริการปรึกษาและตรวจเลือดโดยสมัครใจและเป็นความลับ) เรื่องนี้ผมคิดว่าคนทำงานมากันถูกทาง เพราะหากคนตรวจเร็ว รู้ผลเลือดเร็ว ก็จะได้รับการรักษาเร็ว ซึ่งจะช่วยลดโอกาสการส่งต่อเชื้อไปยังคู่ และช่วยทำให้คนๆ นั้นไม่ป่วย สามารถใช้ชีวิตตามปกติได้ แต่....พบว่า คนมาตรวจน้อยมาก และจำนวนคนที่มาตรวจ 100 คน จะพบการติดเชื้อ 1 คน และเราก็มุ่งทำงานกับคนที่ติดเชื้อ 1 คน มากกว่าทำงานกับ 99 คนที่ไม่ติดเชื้อ ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดายมาก เพราะ 99 คนนั้น “มีความเสี่ยงสูง” มาแล้ว อาจจะต้องกลับทบทวนกระบวนการทำงานกันใหม่ว่า เราจะทำให้ 99 คนที่เคยมีความเสี่ยงแต่ไม่ติดเชื้อนั้น มีความสามารถในการจัดการตัวเองในเรื่องเพศได้อย่างไรเพื่อที่จะรักษาผลเลือดให้เป็นลบตลอดไป
เรื่องที่สาม ต่อเนื่องจากเรื่องที่สอง คือ การตรวจเอชไอวี ผมคิดว่าเราจะต้องพัฒนากระบวนการทำงานให้คนที่มาตรวจสามารถรู้ผลได้ในวันเดียว (same day result) เพราะหากนัดมาฟังผลในวันอื่น ก็มีโอกาสมากว่าผู้รับบริการจะไม่มาฟังผล นอกจากนี้ยังต้องพัฒนาเครื่องมือ/น้ำยาในการตรวจให้ทันสมัย สามารถตรวจได้หลังมีความเสี่ยงมาแล้ว 15 วัน เพื่อให้เข้าถึงการรักษาได้เร็วขึ้น ทั้งจะได้ช่วยลดความกังวลของผู้รับบริการที่ต้องรอถึง 1 เดือนกว่าจะตรวจได้
สุดท้าย ไม่ว่าเครื่องไม้เครื่องมือและกระบวนการทำงานจะทันสมัย ดีเยี่ยมสักเพียงใด หาก “ผู้ให้บริการ” ยังมีทัศนคติเชิงลบต่อเรื่องเอดส์ หรือต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวี ก็ยากครับที่เราจะยุติปัญหาเอดส์ได้ เพราะทุกกระบวนการรักษาต้องมีเจ้าหน้าที่เข้ามาเกี่ยวข้องตั้งแต่การให้คำปรึกษา บริการตรวจ รักษา จ่ายยา วันก่อนผมได้ทราบว่าผู้ติดเชื้อรายหนึ่งหยุดกินยาต้านไวรัสเพราะไปรับบริการครั้งใดก็จะมีคำพูดของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลที่บอกว่าเขา “สำส่อน” จึงติดเชื้อเอชไอวีมา
ไม่เพียงแต่ทัศนคติเท่านั้น ผู้ให้บริการเองยังต้องทำให้ตัวเอง “ทันสมัย” ในเรื่องข้อมูลและแนวทางการรักษา หลายเรื่องผมก็ไม่อยากจะเชื่อว่ายังมีอยู่ในการรักษาเอดส์ เช่น การจ่ายยาเอฟฟาไวเรนซ์ครึ่งเม็ด หรือการไม่จ่ายยาต้านไวรัสให้กับผู้ที่ตรวจแล้วพบว่าติดเชื้อเอชไอวีทั้งที่เกณฑ์การจ่ายยาต้านไวรัสล่าสุดคือการให้ยาต้านไวรัสกับผู้ติดเชื้อทุกคนไม่ว่าภูมิคุ้มกันจะอยู่ที่ระดับใดก็ตาม
ผมคิดว่าถ้าเราช่วยกัน อุดช่องโหว่ในการทำงานเรื่องเอดส์ การยุติปัญหาเอดส์ภายใน 16 ปีก็ไม่ยากอย่างที่คิดครับ ที่สำคัญเราต้องสื่อสารเรื่องแบบนี้กันอย่างสม่ำเสมอ ต่อเนื่อง ไม่ใช่พูดกันปีละครั้งเฉพาะวันเอดส์โลก
เผลอๆ เราอาจจะยุติปัญหาเอดส์ได้เร็วกว่า 16 ปีตามประกาศขององค์การอนามัยโลกเสียอีกนะครับ

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่

กำลังโหลด

เครื่อง oncothermia ความหวังใหม่รักษามะเร็งเต้านม-ตับระยะท้าย ใช้คลื่นวิทยุยิงเฉพาะจุดมะเร็งจนเกิดความร้อน เอื้อยาเคมีบำบัดเข้าถึงมะเร็งง่ายขึ้น ผลศึกษาก้แนมะเร็งเต้านมยุบทั้งหมด 22% ผู้ป่วยมะเร็งตับอายุยืนขึ้น

ดูบน Instagram





กำลังโหลดความคิดเห็น