สพฐ. ลั่นรับนักเรียนปลอดแปะเจี๊ยะ ต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ และให้ ร.ร. แข่งขันสูงรับเด็กรอบเดียวเท่านั้น ย้ำต้องปฏิบัติตามนโยบายรับ นร. พร้อมระบุปีนี้จะนำวิทยาลัยอาชีวะ ตั้งโต๊ะรับสมัคร นร. เก็บเด็กพลาดหวังทั้งยังเพิ่มผู้เรียนในสายอาชีพด้วย
วันนี้ (2 ธ.ค.) ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) กล่าวระหว่างเป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาการรับนักเรียน ปีการศึกษา 2558 ในโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูงระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษา รวมถึงผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา จำนวน 580 คน ว่า ตนได้เน้นย้ำกับผู้บริหารโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันให้ปฏิบัติตามนโยบายและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการรับนักเรียน เช่น การตั้งคณะกรรมการระดับเขตพื้นที่ คณะกรรมการระดับโรงเรียน รวมถึงการประกาศแผนจำนวนที่นั่งเรียนจะต้องให้เกิดความชัดเจน เพราะหากเกิดปัญหาขึ้นโรงเรียนจะได้มีหลักฐานในการตรวจสอบได้ ทั้งนี้ การรับนักเรียนจะต้องเปิดรับเพียงรอบเดียวเท่านั้น
นายกมล กล่าวต่อว่า แนวทางการรับนักเรียนในปีนี้จะเหมือนกับทุกๆ ปีที่ผ่านมา โดยจุดหลักที่เน้นทุกโรงเรียนต้องกำหนด และประกาศแผนการรับนักเรียนของโรงเรียนตนเองให้ชัดเจน ทั้งประกาศรับสมัคร สอบคัดเลือก การออกข้อสอบ ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิสอบคัดเลือก เป็นต้น ขณะเดียวกัน ปีนี้ สพฐ. ได้ย้ำให้โรงเรียนจัดกิจกรรมเปิดบ้าน (Open House) เพื่อให้นักเรียนและผู้ปกครองได้เห็นศักยภาพของโรงเรียนในกลุ่มอื่นๆ นอกเหนือจากโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูง เช่น กลุ่มโรงเรียนสหกิจที่เป็นการร่วมมือพัฒนาระหว่าง สพฐ. และ กทม. โรงเรียนคู่พัฒนา เป็นต้น อีกทั้ง พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้มอบนโยบายให้ สพฐ. สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ร่วมกันดูแลนักเรียน เพราะฉะนั้น ในวันที่โรงเรียนประกาศผลผู้มีสิทธิเข้าเรียนต่อนั้น ก็จะมีสถาบันอาชีวะ เข้ามาตั้งโต๊ะรับนักเรียนเพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ผู้ปกครองและนักเรียนที่พลาดหวัง ทั้งเป็นการเพิ่มผู้เรียนสายอาชีพทางหนึ่งด้วย
“การรับนักเรียนได้เน้นย้ำว่าต้องโปร่งใส เป็นธรรมและตรวจสอบได้ เพราะฉะนั้นโรงเรียนต้องดำเนินการให้โปร่งใสมากที่สุด และกรณีกลุ่มที่มีเงื่อนไขพิเศษใน 9 ประเภท เช่น ยากจน ทำคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติ บริจาคที่ดินสร้าง ร.ร. ฯลฯ ก็ต้องประกาศสัดส่วนและรายชื่อให้ชัดเจน เพราะทุกวันนี้โซเชียลมีเดียมีจำนวนมากที่ส่งต่อกันอาจจะเกิดปัญหากับผู้บริหารได้ แต่ผมเชื่อว่าหากเราให้คำตอบในสิ่งที่สังคมสงสัยก็จะยอมรับได้ ที่สำคัญห้ามไม่ให้มีการเรียกรับเงิน หรือ แปะเจี๊ยะ เด็ดขาด เพราะถือเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ซึ่งในช่วงที่มีการรับนักเรียน สพฐ. ได้สั่งห้ามไม่ให้มีการรับเงินบริจาคหรือระดมทรัพยากรเพื่อการศึกษาใดๆ และต้องไม่ให้การบริจาคมีเงื่อนไขผูกพันกับการรับนักเรียนด้วย” นายกมล กล่าวและว่า ทั้งนี้ สพฐ. ได้ตั้งศูนย์ดูแลช่วยเหลือนักเรียน ซึ่งนอกจากจะดูแลจัดหาที่เรียนแก่เด็กแล้ว หากประชาชนพบเบาะแสหรือข้อมูลที่ไม่ชอบมาพากลสามารถโทรศัพท์มาแจ้งได้ที่สายด่วน โทร.02-280-5530
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่