โดย พญ.ปิยะนุช รักพาณิชย์
แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูหัวใจ
สถาบันหัวใจเพอร์เฟคฮาร์ท รพ.ปิยะเวท
หากวันหนึ่งวันใดความสมบูรณ์แข็งแรงของร่างกายเสื่อมถอยลง ศักยภาพในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ที่เคยคุ้นเคยปฏิบัติย่อมลดน้อยด้อยลงตามไปด้วย ความสุขความพึงพอใจในการปฏิบัติกิจนั้นๆ คงยากที่จะเกิดขึ้นแม้ว่ากิจกรรมนั้น จะเป็นสิ่งที่คุ้นและปฏิบัติอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน แต่ถึงคราที่ร่างกายไม่อำนวย ความทุกข์ย่อมเกิดมากกว่าความสุขโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากความเสื่อมเกิดขึ้น กับหัวใจอวัยวะที่เปรียบเสมือน “ผู้ให้” ที่ทำหน้าที่แจกจ่ายสูบฉีดเลือดและออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่ายกายให้สามารถคงความสมดุลไว้ได้แต่เมื่อหัวใจเกิดชำรุดทรุดโทรมลง
พญ.ปิยะนุช รักพาณิชย์ แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูหัวใจ สถาบันหัวใจเพอร์เฟคฮาร์ท โรงพยาบาลปิยะเวท กล่าวว่า ปัจจุบันโรคหัวใจขาดเลือด โดยเฉพาะที่เกิดจากหลอดเลือดหัวใจตีบหรืออุดตัน เป็นภาวะความเจ็บป่วยที่คนไทยเป็นกันมากติดอันดับ 1 ใน 3 ของโรคที่คร่าชีวิตคนไทยไปมากที่สุด วิธีการรักษาโรคนี้ที่รู้จักกันโดยทั่วไปมีตั้งแต่การรับประทานยา การทำบอลลูนขยายหลอดเลือดหัวใจ และการผ่าตัดบายพาส หรือทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ ซึ่ง 2 วิธีหลังนั้นเป็นการรักษาที่จัดว่าเป็นการรักษาที่ปลายเหตุ คือ เมื่อหลอดเลือดอุดตันก็เอาบอลลูนไปขยาย เอาขดลวดไปถ่างไว้ หรือไม่ก็ผ่าตัดทำทางเบี่ยงให้เลือดผ่านตำแหน่งที่อุดตันไปได้ แต่การรักษาที่ปลายเหตุแต่อย่างเดียวนั้นคงไม่พอ เพราะเมื่อยังไม่ได้แก้ที่ต้นเหตุร่วมด้วยโรคก็จะกลับมาเป็นได้อีก ที่สถาบันหัวใจเพอร์เฟคฮาร์ท เราจะให้ความสำคัญกับการแก้ที่ต้นเหตุร่วมด้วย ปัจจุบันทางการแพทย์พบว่าปัญหาของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบนั้น ไม่ใช่มีแค่เฉพาะตำแหน่งที่หลอดเลือดอุดตันที่หัวใจอย่างที่คนทั่วไปเข้าใจเท่านั้น แต่เป็นปัญหาของหลอดเลือดทั้งตัวที่มีภาวะการอักเสบ (inflammation) ดังนั้น การรักษาแบบองค์รวมจึงต้องใส่ใจว่าทำอย่างไรจะลดการอักเสบของหลอดเลือดได้ด้วยไม่ใช่เฉพาะแก้ไขตำแหน่งที่มีการอุดตันของหลอดเลือดอย่างเดียว หนึ่งในวิธีการรักษาที่ช่วยลดภาวะการอักเสบของหลอดเลือดและช่วยทำให้หัวใจแข็งแรงขึ้น คือ เครื่องนวดขากระตุ้นการทำงานหัวใจ หรือ EECP
เครื่องนวดขากระตุ้นการทำงานหัวใจ หรือ EECP ( Enhanced External Counter Pulsation) เป็นเครื่องมือที่มีการคิดค้นใช้กันมานานหลายสิบปี ที่เมืองไทยเองก็มีใช้มานานกว่า 10 ปีแล้ว หลักการคือการเพิ่มปริมาณเลือดไปเลี้ยงหัวใจเพิ่มขึ้น โดยผ่านการบีบของถุงลมที่รัดรอบขาและสะโพก (ลักษณะคล้ายๆ กับที่รัดแขนเวลาที่คุณหมอวัดความดันโลหิตแต่อันใหญ่กว่ามาก) เป็นจังหวะประสานกับการเต้นของหัวใจ เปรียบเทียบก็คล้ายๆ กับการวิ่งออกกำลังกาย ซึ่งสำหรับการวิ่งกล้ามเนื้อขาจะมีการบีบและคลายตัวเวลาวิ่งเพื่อส่งเลือดกลับสู่หัวใจ แต่สำหรับ EECP เรานอนเฉยๆ อยู่บนเตียงถุงลมทำหน้าที่บีบเลือดกลับเข้าสู่หัวใจให้แทน ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่าเป็น passive exercise คือ การออกกำลังกายแบบไม่ต้องออกแรกเอง แต่ได้ประโยชน์ที่เหมือนกันหรือมากกว่า การบีบและคลายตัวของถุงลมตามจังหวะการเต้นของหัวใจนั้น จะทำให้เลือดกลับเข้าสู่หัวใจได้มากขึ้น กล้ามเนื้อหัวใจจะได้รับเลือดเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกัน จะทำให้การบีบตัวของหัวใจมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นด้วย แพทย์หญิง ปิยะนุช กล่าวว่า จากการศึกษาทางการแพทย์ในผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บหน้าอกจากหัวใจขาดเลือดพบว่า EECP ทำให้ผู้ป่วย 80% ดีขึ้นจากอาการเจ็บหน้าอกหรืออาการเหนื่อย และผู้ป่วยที่ดีขึ้นนี้ กว่า 70% อาการที่ดีขึ้นจะคงดีอยู่ได้นาน 2 - 5 ปี จากการรักษาด้วยเครื่อง EECP 1 คอร์ส คือ 35 ครั้ง ครั้งละ 1 ชั่วโมง ทุกวัน หรืออย่างน้อย 5 วันต่อสัปดาห์ โดยผู้เข้ารับการรักษาสามารถรักษาแบบผู้ป่วยนอก คือ ไปกลับได้ ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล
เครื่อง EECP ไม่ได้ทำให้หลอดเลือดที่ตีบหรืออุดตันหายอุดตัน แต่จะช่วยกระตุ้นการสร้างหลอดเลือดฝอยที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจให้เพิ่มมากขึ้น ในขณะเดียวกัน ทางการแพทย์พบว่า EECP ยังช่วยลดภาวะการอักเสบของหลอดเลือดซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญของโรคหัวใจขาดเลือดได้อีกด้วย นอกจากนี้ ยังพบว่า EECP ช่วยลดอาการของผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจวาย หัวใจล้มเหลว (congestive heart failure) รวมทั้งผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง (cardiomyopathy) ปัจจุบันการรักษาด้วยเครื่อง EECP ไม่ได้จำกัดอยู่แค่โรคหัวใจขาดเลือดเท่านั้น แต่มีการนำมาใช้ในผู้ป่วยหลายประเภทมากขึ้นเช่น โรคหลอดเลือดในสมองตีบ อัมพฤกษ์ อัมพาต พาร์กินสัน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ขากระตุก และปัญหาเสื่อมสมรรถาพทางเพศ เป็นต้น การรักษาด้วยเครื่อง EECP นี้ จัดว่าเป็นการรักษาแบบธรรมชาติ เพราะไม่ได้มีการใส่สารเคมีหรือการสอดใส่เครื่องมืออุปกรณ์หรือผ่าตัดกับร่างกาย แต่เป็นการกระตุ้นร่างกายให้เกิดการซ่อมแซมตนเองอย่างธรรมชาติ (natural healing) อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะรักษาด้วยวิธีไหนก็ตามปรับพฤติกรรมในการดำรงชีวิตได้แก่การรับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และดูแลสุขภาพใจไม่ให้เครียด เป็นพื้นฐานสำคัญของสุขภาพที่ดีและหัวใจที่แข็งแรง พญ.ปิยะนุช รักพาณิชย์ กล่าวทิ้งท้าย
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่