xs
xsm
sm
md
lg

อย.ชี้ยาอัปไซส์เสริมอึ๋มแค่ฮอร์โมน กินเกินขนาดไม่ทำให้ตาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อย. ชี้ นศ. สาวกินยาอัปไซส์หน้าอก - ขับผิวเกินขนาดตายเป็นไปได้ยาก ชี้ยาเสริมอึ๋มแค่ฮอร์โมนเพศหญิง กินมากไม่ถึงกับทำให้ตาย แต่กินเป็นเวลานานทำให้เกิดลิ่มเลือด ส่วนกลูตาไธโอนขับผิวขาวไม่ดูดซึมในทางเดินอาหาร ตั้งข้อสังเกต “ไซบูทรามีน” ก่อกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ย้ำรอผลชันสูตร เตือนห้ามซื้อยากินเองทางเน็ต
ยาภายในที่เกิดเหตุ (แฟ้มภาพ)
วันนี้ (24 พ.ย.) ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และโฆษก อย. กล่าวถึงกรณีนักศึกษาสาวเสียชีวิตจากภาวะช็อกภายในคอนโดย่านซอยสามัคคี จ.นนทบุรี โดยสภาพศพมีน้ำลายฟูมปาก โดยพบยาจำนวนมากภายในห้องซึ่งเพื่อนผู้ตายแจ้งว่าเป็นยาเสริมขนาดทรวงอกและยาขับผิว โดยการสั่งซื้อมาจากอินเทอร์เน็ต ว่า สาเหตุการเสียชีวิตที่แน่ชัดนั้นยังไม่ทราบ ต้องรอให้การชันสูตรเสร็จสิ้นเสียก่อนว่าเสียชีวิตด้วยสาเหตุจากอะไร ใช่เพราะกินยาเกินขนาดหรือไม่ แต่จากการกล่าวอ้างของเพื่อนผู้ตายที่ว่าเป็นยาเสริมขนาดทรวงอกนั้น โดยปกติยาขยายขนาดทรวงอกเป็นเพียงแค่ฮอร์โมนเพศหญิงธรรมดาที่สังเคราะห์ขึ้น ซึ่งสาวประเภทสองก็มักซื้อยาเม็ดคุมกำเนิดมารับประทาน เพื่อให้หน้าอกใหญ่ขึ้น การกินยาเสริมทรวงอกก็เหมือนกับการกินฮอร์โมนเข้าไป ซึ่งในร่างกายก็มีการผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจน และโปรเจสเตอโรนอยู่แล้ว ไม่น่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เสียชีวิตได้

มีข้อมูลจากต่างประเทศ ว่า มีผู้เสียชีวิตจากการรับประทานฮอร์โมนเพศเป็นเวลานานมากๆ เช่นกัน โดยทำให้เกิดภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือด แต่ผู้เสียชีวิตอายุยังน้อย จึงไม่น่าจะกินยาเสริมทรวงอกที่เป็นฮอร์โมนเพศได้นานขนาดนั้น อย่างไรก็ตาม มีการตั้งข้อสงสัยด้วยว่าอาจเป็นยาช่วยเพิ่มความขาว คือ กลูตาไธโอน ซึ่งหากเป็นชนิดกินเป็นที่ทราบกันดีว่าจะไม่ถูกดูดซึมในระบบทางเดินอาหารอยู่แล้ว การกินมากแล้วทำให้ตายจึงเป็นไปไม่ได้ แต่หากเป็นกลูตาไธโอนเข้มข้นชนิดฉีดก็อาจทำให้เกิดภาวะช็อกจากหลอดลมตีบ หายใจติดขัดเสียชีวิตได้” รองเลขาธิการ อย. กล่าว

ภก.ประพนธ์ กล่าวว่า ทั้งนี้ ผู้เสียชีวิตมีโรคประจำตัว คือ หลอดเลือดตีบ จึงมีการตั้งข้อสังเกตว่าอาจเป็นสารไซบูทรามีนที่ส่วนใหญ่ผสมในยาลดน้ำหนัก เพราะตัวนี้เป็นข่าวอยู่เนืองๆ และก็มีการเตือนหลายรอบ เพราะคนที่เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดเมื่อรับประทานเข้าไปแล้ว จะทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ก็เป็นมูลเหตุให้เสียชีวิตได้ อย่างไรก็ตาม คงต้องรอผลการชันสูตรที่ชัดเจนอีกครั้ง แต่ที่ต้องเตือนคืออย่าซื้อยารับประทานเองจากอินเทอร์เน็ต เพราะไม่ทราบเลยว่ายามีการขึ้นทะเบียนจริงหรือไม่ ตามเอาผิดเรียกค่าเสียหายเมื่อเกิดความเสียหายไม่ได้ และไม่ได้รับคำแนะนำที่ดีจากเภสัชกร หากจะซื้อควรเลือกซื้อจากร้านขายยาที่มีเภสัชกรประจำอยู่มากกว่า

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น