xs
xsm
sm
md
lg

ปลูกข้าวปลอดสารพิษ อาชีพเสริมสร้างรายได้กำไรกว่า 3 แสนต่อปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปลูกข้าวปลอดสารพิษ อาชีพเสริมทำกำไรกว่า 3 แสนบาทต่อปี ทั้งส่งผลดีต่อสุขภาพ เผยพบสารเคมีในร่างกายลดลงหลังบริโภคพืชผักเกษตรอินทรีย์

วันนี้ (18 พ.ย.) ศูนย์การเรียนรู้บ้านเกาะหมู่ 3 ต.แจนแวน อ.ศรีณรงค์ จ.สุรินทร์ นายสงวน ศิริทวี ประธานสมาชิกสภาชุมชนบ้านเกาะหมู่ 3 กล่าวว่า ชุมชนบ้านเกาะส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร เช่น ทำนาปลูกข้าว ซึ่งเป็นอาชีพหลักๆ ยางพารา อ้อย มันสำปะหลัง จึงเป็นส่วนที่นำไปสู่การให้สารเคมีในทุกพื้นที่ที่มีการทำการเกษตร ซึ่งจากการสุ่มตรวจสารเคมีในร่างกายใน 100 คน มีค่าเกินมาตรฐานถึง 70 คน มีผลต่อปัญหาสุขภาพ เห็นว่าการแก้ไขปัญหานี้ต้องแก้ที่ต้นเหตุจึงได้คิดจะทำโครงการอาหารปลอดภัย หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่าเกษตรอินทรีย์ โดยทดลองจากตนเองในการปลูกข้าวปลอดสารเคมี 12 ไร่ ในปี 2555 จนปัจจุบัน ใช้ปุ๋ยบำรุงต้นข้าวที่ทำเองจากมูลสัตว์ เช่น ไก่ วัว สุกร ใช้ยาฆ่าแมลงที่ทำจากพืช สมุนไพรที่มีกลิ่นฉุน เช่น ตะไคร้ สะเดา บอระเพ็ด เป็นต้น หลังจากการเก็บเกี่ยวเมื่อเปรียบเที่ยบแล้วปรากฏว่าได้ผลผลิตที่มากกว่ากว่าข้าวที่ให้ปุ๋ยเคมี และสารเคมีเร่งเจริญเติบโต ขายได้ราคาที่สูงขึ้นกว่าปกติ ด้วยต้นทุนที่ต่ำ ซึ่งราคาตลาดปัจจุบันอยู่ที่กิโลกรัมละ 9 - 11 บาท หรือตันละ 9,000 - 10,000 บาท แต่ข้าวปลอดสารเคมีจะขายได้ในราคา 20 บาทขึ้นไป หรือกว่า 20,000 บาท เพราะผ่านมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (มกท.) รับรองคุณภาพ เมื่อเปรียบหักลบรายรับรายจ่ายถือว่าคุ้มค่าและได้ผลกำไรที่ดีเพราะกระบวนการผลิตเป็นการทำเองทุกกระบวนการยกเว้นค่าเก็บเกี่ยวที่ต้องจ้างคนงาน ส่วนตัวได้กำไรจากการทำนาข้าวปีละ 1 ครั้ง จำนวนเงินกว่า 3 แสนบาทต่อปี เมื่อเกิดภาวะทางเศรษฐกิจที่ราคาข้าวตกต่ำก็ยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก กลับกันส่วนใหญ่จะขาดตลาด เพราะมีการผลิตน้อยมีตลาดต่างชาติเข้ามารับซื้อล่าสุดมาจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ นอกจากนี้ ยังมีการเลี้ยงสัตว์หลายชนิดดังกล่าวข้างต้นเป็นอาชีพเสริมและเอื้อต่อการหมุนเวียนใช้ประโยชน์ต่อการปลูกข้าว ทั้งขายและนำมูลมาใช้ประโยชน์

นายสงวน กล่าวต่อว่า หลังจากการนำร่องใช้เกษตรอินทรีย์ ปลูกข้าวปลอดสารพิษได้ผลสำเร็จปัจจุบันมีชาวชุมชนบ้านเกาะที่เข้าร่วมและประสบผลสำเร็จเพิ่มอีก 14 ราย รวมทั้งอำเภอประมาณ 34 ราย พร้อมกับชุมชนบ้านเกาะได้เป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง จึงได้ตั้งโครงการอาหารปลอดภัยเชื่อมโยงกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่เข้ามาร่วมแก้ปัญหาด้านสุขภาพตั้งเป็นสภาผู้นำชุมชน เพื่อรวมกลุ่มขับเคลื่อนแนวคิดดังกล่าวเปิดสถานที่รองรับผู้สนใจถ่ายทอดประสบการณ์ทำเกษตรอินทรีย์ปลอดสารพิษซึ่งมีผู้เข้าร่วมกว่า 400 คน มีการเปิดประชุมเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อให้ความรู้สอบถามปัญหา เพราะส่วนมากมีปัญหาเรื่องไม่มีความรู้ด้านการจัดการ ช่วงเวลาที่เหมาะสมแก่การใส่ปุ๋ยบำรุงพืช จะต้องมีผู้นำที่คอยให้คำปรึกษา พร้อมสร้างแรงจูงใจพาดูแปลงเกษตรตัวอย่าง เปรียบเทียบความแตกต่างของราคาให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น และที่สำคัญจะนำไปสู่การมีสุขภาพที่ดีปลอดจากสารพิษด้วย นอกจากนี้ การร่วมกลุ่มเป็นส่วนสำคัญให้สามารถต่อรองราคาในตลาดพูดคุยระหว่างผู้ผลิต พ่อค้าคนกลางและผู้ซื้อได้ในราคาที่เป็นที่น่าพอใจของทั้ง 3 ฝ่าย

นายส่งเสริม หัวหน้าปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลแจนแวน กล่าวว่า นอกจากการส่งเสริมให้ทำเกษตรอินทรีย์แล้วทางตำบลยังได้รณรงค์ให้เป็นพื้นที่ปลอดเหล้าตามนโยบายที่สสส. ทำมาและตลอด และเป็นตำบลนำร่อง เช่น งานบุญปลอดเหล้า ซึ่งปัจจุบันทำได้ในระดับที่เป็นที่พอใจ จากเมื่อก่อนการกินเหล้าของคนในพื้นที่ถือเป็นเรื่องที่ปกติทุกงานทุกเทศกาลจะมีเหล้าเข้ามาเกี่ยวข้องเสมอ ที่แย่ที่สุดคือกลุ่มที่ดื่มมีอายุน้อยลงเรื่อยๆ เป็นนักดื่มหน้าใหม่ ในเรื่องนี้ได้มีการหารือในชุมชนและเครือข่ายคิดค่าใช้จ่ายการจัดงานแต่ละครั้งพบว่าเสียไปกับเหล้าสูงถึงกว่า 5 หมื่นบาท หลังจากมีการรณรงค์ทำข้อจกลงของประชาคม พร้อมร่วมกับศาสนาให้พระเป็นผู้นำในการสอน ทางสมาชิกสภาชุมชนจะคอยส่งเสริมจนปัจจุบันพบว่าปริมาณการดื่มเหล้าลดลงมาอยู่ในระดับพอใช้

นายส่งเสริม กล่างต่อไปว่า การปลูกข้าวปลอดสารพิษและการรณรงค์งดเหล้าจะต้องสร้างโมเดลที่เป็นต้นแบบ หรือทำเป็นหลักสูตรเฉพาะนำมาใช้ในชุมชนให้ความรู้และขยายผล โดยปัจจุบันมีภาคีเครือข่าย สสส. มอบทุนพร้อมให้นโยบายการดำเนินการ อบต. ส่งเสริมช่วยขับเคลื่อนโครงการ หน่วยพัฒนาชุมชน จะดูแลเรื่องของเศรษฐกิจเป็นพี่เลี้ยงโครงการเชื่อมโยงแผนของรัฐกับชุมชน รพ.สต. และสาธารณสุขอำเภอ ดูแลเรื่องของสุขภาพจัดอาสาสมัครขุมชนละ 17 คน ดูและผู้สูงอายุ เปิดให้บริการแพทย์ทางเลือกช่วยปรับพฤติกรรมคุณภาพของกลุ่มเสี่ยง เป็นต้น

นายสุบรรณ อินทร์ตา กำนัน ต.หนองแวง อ.หนองแวง กล่าวว่า ในชุมชนบ้านคูขาด ได้เข้าร่วมโครงการสร้างชุมชนและท้องถิ่นน่าอยู่ รับงบสนับสนุนจาก สสส. ในการปลูกพืชปลอดสารพิษ หลังช่วงว่างจากการทำนามีสมาชิกเข้าร่วม 40 ราย แบ่งแปลงปลูกผัก 40 แปลงในพื้นที่ 10 ไร่ ให้ลงมือปลูกผักภายใต้กติกาที่ตั้งขึ้นให้เอื้อต่อการส่งเสริมการมีสุขภาพที่ดี นำภาคีเครือข่ายมาให้ความรู้แนะนำวิธีการจัดการที่ถูกต้องโดยหลังจากการดำเนินโครงการ รพ.สต. ได้เข้ามาตรวจร่างกาย พบว่า มีแนวโน้มลดลงของสารเคมีชัดเจนถึง 50% เตรียมขยายผลโครงการให้ครอบคลุมในทุกพื้นที่ของอำเภอต่อไป



ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น