บุรีรัมย์ - จนท.จัดหางานบุรีรัมย์รุดเยี่ยมปลอบขวัญญาติแรงงานไทยที่เสี่ยงภัยสงครามในลิเบีย พร้อมชี้แจงหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากภัยสู้รบ พบส่วนใหญ่ยังมีภาระหนี้จากการกู้ยืมเป็นค่าเดินทางหลักแสน วอนภาครัฐช่วยเหลือ ล่าสุดมีแรงงานหนีภัยสู้รบเดินทางกลับแล้ว 4 คน
เมื่อเวลา 13.00 น. วันนี้ (31 ก.ค.) นายประเทือง ปิยะรัมย์ นักวิชาการแรงงานชำนาญการ สำนักงานจัดหางานจังหวัดบุรีรัมย์ พร้อมเจ้าหน้าที่ ได้เดินทางไปเยี่ยมให้กำลังใจ นางสำลี มะลิลา อายุ 48 ปี ที่บ้านเลขที่ 87 ม.6 บ.คูขาดพัฒนา ต.สตึก อ.สตึก ซึ่งเป็นภรรยาของ นายสมพร มะลิลา อายุ 48 ปี หนึ่งในแรงงานไทยที่ทำงานอยู่ในประเทศลิเบีย ที่กำลังเกิดเหตุสู้รบรุนแรงอยู่ในขณะนี้
พร้อมทั้งได้ชี้แจงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและแนวทางหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากภาวะสงคราม เพราะส่วนใหญ่จะต้องถูกอพยพกลับประเทศโดยที่ยังทำงานไม่ครบสัญญาจ้าง
ขณะนี้เจ้าหน้าที่ได้ออกเยี่ยมญาติและแรงงานที่ไปทำงานในประเทศลิเบีย ทั้งที่ยังไม่ได้ถูกอพยพกลับและที่เดินทางกลับมาแล้ว พบว่าส่วนใหญ่ยังมีภาระหนี้สินจากการกู้ยืมเงินทั้งในและนอกระบบ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำงานต่างประเทศหลักแสนบาท
อีกทั้งบางคนยังไม่ได้เงินค่าจ้างค้างจ่ายจากนายจ้าง จึงได้เรียกร้องให้ทางภาครัฐช่วยเหลือติดตามค่าจ้างค้างจ่าย รวมถึงเงินชดเชย และสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ควรจะได้รับด้วย
ขณะที่ล่าสุดได้มีแรงงานไทยที่ทำงานในลิเบียเดินทางกลับมาแล้ว 4 คน และได้เข้าเขียนคำร้องทุกข์ขอรับความช่วยเหลือที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดแล้ว 2 คน
นางสำลี มะลิลา กล่าวว่า หลังทราบข่าวเกิดเหตุการณ์สู้รบรุนแรงที่ประเทศลิเบียก็รู้สึกเป็นห่วงสามีที่ทำงานอยู่ในลิเบีย จึงได้โทรศัพท์ติดต่อสอบถามอย่างต่อเนื่อง เมื่อทราบว่าสามียังปลอดภัยดีก็ดีใจ แต่ถ้าเป็นไปได้หากเหตุการณ์สงบหรือไม่มีเหตุการณ์รุนแรงก็อยากให้สามีทำงานต่อจนครบสัญญา เพราะตอนนี้เงินที่สามีส่งมายังไม่เพียงพอใช้หนี้ที่กู้ยืมมาเป็นค่าใช้จ่ายให้สามีเดินทางไปทำงานต่างประเทศเลย
ทั้งยังมีภาระต้องส่งลูกเรียนและค่าใช้จ่ายในครอบครัวอีก แต่หากมีเหตุการณ์สู้รบรุนแรงจนต้องอพยพกลับจริงก็อยากเรียกร้องให้ทางภาครัฐช่วยเหลือด้วย
นายประเทือง ปิยะรัมย์ นักวิชาการแรงงานชำนาญการ สำนักงานจัดหางานจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า ขณะนี้ได้ลงพื้นที่เยี่ยมญาติและแรงงานที่ไปทำงานประเทศลิเบียครบทั้ง 21 รายแล้ว ส่วนใหญ่ต้องการให้ช่วยเหลือเรื่องการติดตามเงินค่าจ้างค้างจ่าย รวมทั้งเงินชดเชยกรณีถูกอพยพจากภัยสู้รบ และสิทธิประโยชน์ต่างๆ ซึ่งทางจัดหางานจังหวัดจะทำหน้าที่ประสานไปยังกรมการจัดหางานเพื่อหาแนวทางช่วยเหลือแรงงานตามข้อเรียกร้องต่อไป