สุรินทร์ - สนง.จัดหางานสุรินทร์ส่งเจ้าหน้าที่เยี่ยมให้กำลังใจญาติแรงงานไทยทำงานในลิเบียทั้ง 29 รายแล้ว หวังชี้แจงสถานการณ์สงคราม แนวทางให้ความช่วยเหลือแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากภาวะสงคราม เผยภรรยาและญาติแรงงานไทยห่วงไม่ได้รับการคุ้มครองและขาดสิทธิได้รับเงินชดเชย ทั้งจากรัฐบาลไทย และนายจ้าง
วันนี้ (1 ส.ค.) นางศรัณยา ดีพูน นักวิชาการแรงงานชำนาญการ สำนักงานจัดหางานจังหวัดสุรินทร์ พร้อมเจ้าหน้าที่เดินทางไปเยี่ยมให้กำลังใจนางจอย วงษ์ษา อายุ 35 ปีที่บ้านเลขที่ 133 ม.1 บ.จบก ต.ประทัดบุ อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ ซึ่งเป็นภรรยาของนายสมภพ ปัญญาเฟื่อง อายุ 40 ปี หนึ่งในแรงงานไทยที่ทำงานอยู่ในประเทศลิเบีย ที่กำลังเผชิญเหตุสู้รบรุนแรงขณะนี้ และเป็นผู้ตกสำรวจบัญชีรายชื่อแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานที่ประเทศลิเบียของกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน
เจ้าหน้าที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดสุรินทร์ได้ทำบันทึกข้อมูลและเพิ่มชื่อไปยังกรมการจัดหางานเรียบร้อยแล้วเพื่อให้การช่วยเหลือ หลังจากภรรยาเกิดหวาดผวา เกรงว่าสามีจะไม่ได้รับการคุ้มครองและไม่มีสิทธิได้รับเงินชดเชยทุกกรณีจากรัฐบาลไทย และนายจ้าง
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่จากสำนักงานจัดหางานจังหวัดสุรินทร์ได้แบ่งชุดทำงานเป็น 3 ชุด รุดลงพื้นที่ โซนที่ 1 ประกอบด้วย อ.โดนนารายณ์ อ.ท่าตูม มีแรงงานไทยอยู่ 18 ราย โซน อ.บัวเชด อ.สังขะ แรงงานไทยอยู่ 2 ราย และโซนที่ 3 อ.ปราสาท มีแรงงานไทยอยู่ 9 ราย เพื่อเร่งชี้แจงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และแนวทางหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากภาวะสงคราม เพราะส่วนใหญ่จะต้องถูกอพยพกลับประเทศโดยที่ยังทำงานไม่ครบสัญญาจ้าง
นางศรัณยา ดีพูน นักวิชาการแรงงานชำนาญการ สำนักงานจัดหางานจังหวัดสุรินทร์ ได้เรียกประชุมภรรยาและครอบครัวของแรงงานชาวสุรินทร์ที่ไปทำงานในประเทศลิเบีย โดยที่บ้านจบกมีแรงงานถึง 9 ราย ประกอบด้วย นายธนพล จงใจมั่น, นายจักริน ลันพูน, นายวันชาติ ทองประดับ, นายไพโรจน์ นิลหุด, นายบุญสด ใจเสงี่ยม, นายประวงศ์ ทองประดับ, นายแหม สมสง่า, นายประวัติ ทองประดับ และนายสมภพ ปัญญาเฟื่อง
จากการพูดคุยพบว่าครอบครัวแรงงานไทยส่วนใหญ่ยังมีภาระหนี้สินจากการกู้ยืมเงินทั้งใน และนอกระบบเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายเดินทางไปทำงานต่างประเทศหลักแสนบาท อีกทั้งบางคนยังไม่ได้เงินค่าจ้างค้างจ่ายจากนายจ้าง จึงเรียกร้องให้ทางภาครัฐช่วยเหลือติดตามค่าจ้างค้างจ่าย รวมถึงเงินชดเชย และสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ควรจะได้รับด้วย
นางยาน ใจเสงี่ยม อายุ 56 ปี ภรรยาของนายบุญสด ใจเสงี่ยม หนึ่งในแรงงานชาวจังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่า หลังเจ้าหน้าที่จากสำนักงานจัดหางานสุรินทร์ลงพื้นที่ชี้แจงสถานการณ์และการช่วยเหลือ ทำให้รู้สึกดีขึ้น และโล่งใจที่เห็นเจ้าหน้าที่จัดหางานสุรินทร์มาเยี่ยม
ขณะที่นางเยี่ยม ทองประดับ อายุ 51 ปี อยู่บ้านเลขที่ 84 ม.1 ต.ประทัดบุ อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ ภรรยาของนายประวงศ์ ทองประดับ หนึ่งในแรงงานชาวจังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่า เข้าใจและอบอุ่นใจที่ทางการไม่ทอดทิ้ง แต่ยังมีหนี้สินเยอะยังไม่อยากให้สามีกลับ ถ้าไม่เกิดปัญหาการสู้รบ เมื่อเกิดปัญหาก็ต้องทำใจ ถ้าได้อยู่ทำงานต่อจนครบสัญญาคงหมดหนี้สิน ไหนจะหนี้ที่กู้ยืมมาเป็นค่าใช้จ่ายให้สามีเดินทางไปทำงานต่างประเทศ ลูกกู้ กยศ.เรียนอีก 2 คน อยากให้รัฐบาลช่วยเหลือ
นางศรัณยา ดีพูน นักวิชาการแรงงานชำนาญการ สำนักงานจัดหางานจังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดสุรินทร์ได้ลงพื้นที่เยี่ยมญาติและครอบครัวแรงงานที่ไปทำงานประเทศลิเบียครบทั้ง 29 รายแล้ว ส่วนใหญ่ต้องการให้ช่วยเหลือติดตามเงินค่าจ้างค้างจ่าย รวมทั้งเงินชดเชยกรณีถูกอพยพจากภัยสู้รบและสิทธิประโยชน์ต่างๆ ซึ่งทางจัดหางานจังหวัดจะทำหน้าที่ประสานไปยังกรมการจัดหางานเพื่อหาแนวทางช่วยเหลือแรงงานตามข้อเรียกร้องต่อไป
ทั้งนี้ หากแรงงานชาวสุรินทร์ในประเทศลิเบียกลับถึงบ้าน ตนอยากให้ไปลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ เพื่อเรียกร้องเงินค่าชดเชยคืนในกรณีเดินทางกลับประเทศก่อนที่จะหมดสัญญาจ้าง ตามสิทธิที่พึงมีพึงได้ตามกฎหมาย และขอรับเงินช่วยเหลือจากกองทุนช่วยเหลือเพื่อคนหางานไปต่างประเทศ อาจจะมีเงินช่วยเหลือสำหรับคนที่กลับประเทศเนื่องจากสถานการณ์สงคราม และช่วยเหลือหางานทำ หาตำแหน่งงานว่าง สำหรับคนที่ต้องการทำงานต่อ จะประสานกับบริษัทจัดหางาน และสถานประกอบการทั้งใน และต่างประเทศด้วย