กกจ. หารือ บ.จัดหางานเล็งเสนอ กต. แผนที่สองอพยพแรงงานต่อทางเรือจากเมืองเบงกาซี ไปเกาะครีท ประเทศกรีซ พร้อมเสนอให้ประสานทางการลิเบีย ยกเว้นการใช้เอ็กซิต วีซา
วันนี้ (30 ก.ค.) ที่กระทรวงแรงงาน นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กล่าวภายหลังการหารือกับบริษัทจัดหางานที่จัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในประเทศลิเบีย ว่า ได้ขอความร่วมมือใน 4 เรื่อง คือ 1. ขอให้ประสานกับนายจ้างในประเทศลิเบียในการเตรียมการอพยพแรงงานไทย 2. แจ้งแรงงานไทยในเรื่องแผนการอพยพ 3. การตรวจสอบยอดแรงงานที่บริษัทต่างๆ จัดส่ง และ 4. หารือถึงแผนและขั้นตอนการอพยพโดยยึดตามแผนเดิมในปี 2553 ซึ่งพบพื้นที่เสี่ยงใน 2 เมือง คือ ตริโปลี และ เบงกาซี พร้อมแจ้งให้บริษัทต่างๆ อพยพแรงงานออกจากพื้นที่ทันที โดยเมืองตริโปรลีในเบื้องต้นจะอพยพออกทางชายแดนประเทศตูนิเซีย เพื่อไปพักที่ เมืองเจอร์บา ตูนิเซีย แต่ทางบริษัทจัดหางานเสนอว่าควรมีการอพยพแรงงานที่ทำงานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่เมืองเบงกาซีและเมืองใกล้เคียง ของประเทศลิเบียทางเรือ เพื่อไปพักที่เกาะครีท ประเทศกรีซ ซึ่งจะใช้ระยะเวลาเดินทางประมาณ 8 ชั่วโมง ซึ่งอธิบดีกรมเอเชียและแปซิฟิกใต้ กระทรวงการต่างประเทศ ได้เข้าร่วมหารือ จะนำไปเสนอกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) พิจารณาต่อไป ส่วนการประมาณการในภาพรวมมีแรงงาน และนักศึกษา ทั้งหมดประมาณ 1,500 คน แบ่งเป็นแรงงานที่เดินทางโดยบริษัทจัดหางาน 11 บริษัท จำนวน 789 คน ส่วนที่เหลือเป็นการไปทำงานโดยไม่ผ่านบริษัทจัดหางาน ซึ่งการอพยพออกจากลิเบียไปที่ตูนิเซียจะต้องให้นายจ้างจัดทำเอ็กซิต วีซา เพื่อเดินทางเข้าตูนิเซีย โดยจะต้องใช้เวลา 1 - 2 วัน แต่ช่วงนี้อยู่ในช่วงการเฉลิมฉลองเทศกาลวันอีด (ฮารีรายอ) ทำให้การติดต่อประสานงานกับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นติดขัด อาจต้องใช้เวลานานขึ้น
ทั้งนี้ แรงงานไทยที่เดินทางกลับในช่วงการสู้รบจากลิเบีย จะได้รับเงินจากกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานต่างประเทศ กรมการจัดหางานคนละ 15,000 บาท และค่าพาหนะกลับภูมิลำเนาอีกคนละ 1,500 บาท อย่างไรก็ตามญาติของแรงงานในลิเบียสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วน กกจ. 1694
ด้าน นายจักกฤษ สุวรรณสาร เจ้าของบริษัท เงินและทองพัฒนา จำกัด กล่าวว่า การอพยพทั้ง 2 เส้นทาง ทั้งข้ามแดนไปเมืองเจอร์บา ประเทศตูนิเซีย และทางเรือไปเกาะครีท ประเทศกรีซ เป็นเส้นทางอพยพที่ดีและปลอดภัยมากที่สุด ส่วนการขอเอ็กซิต วีซา หรือ ขออนุญาตออกนอกประเทศ ตอนนี้ติดเทศกาล ทำให้ต้องใช้เวลานานกว่าปกติ 7 - 10 วัน จึงเสนอให้ กต. ประสานกับกระทรวงการต่างประเทศลิเบีย ในการขออนุญาตออกนอกประเทศฉุกเฉินกรณีพิเศษ ซึ่งเชื่อว่าดำเนินการได้และอพยพแรงงานไทยได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากสถานการณ์ไม่ปกติ สำหรับแรงงานไทยที่ยังทำงานไม่ครบสัญญาจ้าง บริษัทจัดหางานก็จะหาประเทศอื่นเพื่อรองรับ เช่น กาตาร์ ซึ่งขณะนี้มีความต้องการแรงงานเป็นจำนวนมาก
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่